รีวิวการเรียนขับรถในญี่ปุ่น ตอนที่ 2 : เนื้อหาพื้นฐาน บทที่ 1-3

หลังจากที่รีวิวการสมัครเรียนในโรงเรียนสอนขับรถ ตอนที่ 1 ไปเมื่อคราวก่อน ในที่สุดก็ได้เวลาเริ่มเรียนค่ะ และสิ่งแรกที่นักเรียนโรงเรียนสอนขับรถในญี่ปุ่นจำเป็นต้องศึกษาก็คือตารางเรียนนั่นเอง ซึ่งโรงเรียนที่ผู้เขียนเรียนอยู่นั้น มีทั้งหมด 10 คาบเรียนค่ะ ในส่วนของวิชาทฤษฎีเราจะเรียนวันละกี่ชั่วโมงก็ได้ ตราบเท่าที่มีตารางสอน แต่ในส่วนของภาคปฏิบัตินั้นจำเป็นที่จะต้องจองคอร์สเรียนล่วงหน้า เพราะครูผู้สอนจำเป็นจะต้องนั่งประกบเราคนต่อคน แนะนำให้จองล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ค่ะ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมนั้น เด็กๆ ที่จบม.ปลายแล้วจะเรียนกันเยอะ ทำให้จองคอร์สลำบาก

นอกจากจะสามารถเลือกเวลาเรียนได้เองแล้ว เรายังสามารถเลือกครูผู้สอนได้ด้วยค่ะ โดยมีตัวเลือกอยู่ 2 อย่างคือ อายุและเพศค่ะ  มีทั้งครูที่อายุมากกว่า ครูที่อายุน้อยกว่า ครูที่อายุเท่ากัน และในส่วนของเพศก็สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนกับครูที่เพศเดียวกับเรา หรือจะเรียนกับครูต่างเพศ ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนชอบมากเลยค่ะที่เราสามารถเลือกคนสอนที่เราถูกใจได้ เพราะบางทีถ้าครูหล่อเกินไปก็อาจจะไม่มีสมาธิเรียนนะคะ ฮ่าๆ

ในส่วนของภาคปฏิบัตินั้น เนื้อหาไม่ยากค่ะ เพราะเป็นการสอนตัวต่อตัว อาศัยเทคนิคในการขับ และไม่จำเป็นต้องไปฝึกฝนเองที่บ้านเพราะเราไม่มีใบขับขี่ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการเรียนภาคทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่างตารางสอนค่ะ คลาสเรียนมีเยอะมาก สามารถเลือกเรียนได้ตามวันและเวลาที่สะดวก แม้ว่าจะทำงานประจำก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมาเรียนไม่ได้

ตอนปฐมนิเทศน์นักเรียนทุกคนจะได้รับ “สมุดบันทึกประจำตัว” สมุดนี้เอาไว้รับแสตมป์จากคุณครูว่าเราผ่านการเรียนการสอนแต่ละคลาสครบแล้ว รวมถึงตารางนัดหมาย คะแนนสอบ และผลทดสอบ Safety Test ที่เราสอบไปก่อนเข้าเรียนด้วยค่ะ

สมุดประจำตัวนี้ห้ามนำออกนอกโรงเรียนเด็ดขาด (มีชิพติดไว้ที่แฟ้ม) เมื่อเลิกเรียนต้องนำมาคืน พอถึงเวลาเข้าเรียนครั้งถัดไปเราก็นำบัตรนักเรียนมารูดที่เครื่องอ่านบัตร แฟ้มสมุดประจำตัวของเราก็จะกระพริบเป็นไฟสีแดง สามารถหยิบแฟ้มแล้วเข้าห้องเรียนได้เลย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแอบดูข้อมูลของเพื่อนๆคนอื่นด้วยค่ะ

หน้าตาสมุดบันทึกประจำตัวของผู้เขียนค่ะ รายละเอียดในสมุดก็มีรูปถ่าย วันเดือนปีเกิด อายุ ที่อยู่ ผลการทดสอบทางจิตใจ ผลการสอบทฤษฎี-ปฏิบัติ จำนวนการเข้าเรียน
ทุกครั้งหลังจบการเรียนการสอน ทุกคนต้องต่อแถวให้คุณครูประทับตราให้ค่ะ ว่าเราเข้ารับการศึกษาในบทเรียนไหนไปบ้าง วันที่เท่าไหร่ ใครเป็นคนสอนคาบนั้น ซึ่งถ้าคนไหนหลับระหว่างเรียน คุณครูก็จะไม่ปั๊มให้ค่ะ ต้องมาเรียนใหม่ เคร่งครัดมากๆ ค่ะ
ใบนี้ใช้สำหรับการเข้าเรียนภาคปฏิบัติค่ะ นอกจากจะจองคอร์สแล้ว เมื่อถึงกำหนดเรียน เราก็จะต้องรูดบัตรนักเรียนที่เครื่องรูดบัตรเพื่อ check-in การเข้าเรียน แล้วเครื่องก็จะปรินต์ใบนี้ออกมา โดยแสดงข้อมูลชื่อ รหัสประจำตัวนักเรียน วันและเวลาที่มาเรียน ประเภทรถที่จะขับ รถที่จะใช้วันนี้หมายเลขอะไร ใครเป็นครูผู้สอน

เอาหละ หลังการเกริ่นเรื่องระบบการเรียนมาพอสมควรแล้ว ถึงเวลาเข้าสู่เนื้อหาค่ะ

อธิบายศัพท์

ในคลาสเรียนแรก สิ่งที่สำคัญเลยก็คือคำศัพท์ค่ะ อย่าตายใจว่าคำนี้เรารู้แล้วไม่จำเป็นต้องเรียน ในการสอบ เนื้อหามันลงลึกกว่านั้นค่ะ อย่างคำว่า 停車 (เทฉะ) ที่แปลว่า หยุดรถ กับคำว่า 駐車 (ชูฉะ) ที่แปลว่าจอดรถ ความหมายนั้นใกล้กันมาก ทีนี้เราจะแยกออกได้ยังไงว่าสิ่งที่ทำอยู่เรียกว่า การจอด หรือการหยุด ดังนั้น การศึกษาความหมายของคำศัพท์ก็เป็นสิ่งจำเป็นค่ะ

ในคลาสเรียนพวกคำศัพท์คุณครูจะอธิบายผ่านๆ เน้นในส่วนที่นักเรียนส่วนใหญ่สับสน ที่เหลือต้องไปอ่านเอง

บทที่ 1: กฎระเบียบในการขับขี่

บทที่ 1 เริ่มด้วยกฎในการขับขี่หรือวินัยจราจรพื้นฐาน ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ขับขี่รถยนต์ จักรยาน หรือแม้การเดินเท้า สอนละเอียดตั้งแต่การเปิดประตูรถ การขึ้น-ลงรถ การคาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ เนื้อหาค่อนข้างละเอียดค่ะ อย่างกฎที่ห้ามที่ขยะลงบนถนน มีอะไรบางหละที่เราเข้าใจว่ามันคือขยะ? ในหนังสือก็จะยกตัวอย่างมาทั้งหมดค่ะ ไม่เว้นแม้แต่เศษเล็บ ก็ห้ามทิ้ง

ทุกๆ บท จะมี Research ที่เกี่ยวกับการวิจัยบนท้องถนนมาให้อ่านค่ะ ใครไม่ชอบอ่านตรงนี้ แต่ผู้เขียนชอบนะ หลายๆ อย่างก็ไม่เคยรู้มาก่อนจริงๆ ที่สำคัญเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพวกนี้ชอบออกสอบด้วยค่ะ

รู้หรือไม่ แม้จะดื่มเพียงเล็กน้อย แต่ปริมาณแอลกอฮอล์สามารถตกค้างอยู่ในร่างกายได้นานถึง 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

บทที่ 2 การอ่านสัญญาณไฟจราจร

ลูกศรสีเหลือง รถทุกคันจำเป็นต้องหยุด ยกเว้น รถรางเท่านั้นที่สามารถผ่านไปได้ (ความหมายไม่เหมือนไฟเหลือง) ลองนึกภาพตามนะคะ ว่าส่วนใหญ่รถไฟหรือรถรางจะไม่หยุดกลางทางเลย ถ้าไม่ใช่สถานีที่ต้องจอด หรือมีอุบัติเหตุ

ในบทนี้นอกจากจะกล่าวถึงความหมายของไฟแดง ไฟเหลือง และไฟเขียวแล้ว ยังอธิบายภาษามือของตำรวจจราจรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ใช้มือเปล่าหรือกรณีที่ใช้แท่งไฟ

ภาพประกอบในหนังสือเข้าใจง่ายค่ะ แถมในห้องเรียนก็มีวีดีโอที่ถ่ายทำบนท้องถนนจริงๆ ให้ดูด้วย

บทที่ 3: ป้ายจราจรและเครื่องหมายบนท้องถนนต่างๆ

ป้ายจราจร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทค่ะ คือแบบป้ายหลัก (main traffic signs) และป้ายเสริม (Auxiliary signs)

ป้ายหลักมีแยกย่อยออกไปอีก 4 ประเภท คือ

1. ป้ายควบคุม/บังคับ มักใช้สีพื้นฐานอย่างสีแดง สำหรับป้ายที่มีความหมาย ห้าม และป้ายสีน้ำเงิน ที่มีความหมายว่า กรุณาทำอย่างที่ป้ายบอกไว้

2. ป้ายกำหนดเขต เช่น ต้องจอดรถตรงเส้นนี้ ต้องข้ามถนนตรงนี้ มักใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงินเสมอ ป้ายประเภทนี้บางอย่างไม่เหมือนกับที่ไทยตรงที่ใช้ตัวอักษรคันจิ ไม่ใช้สัญลักษณ์ ดังนั้นในกรณีคนต่างชาติจำเป็นต้องจำตัวอักษรให้ได้

3. ป้ายบอกทาง ใช้เพื่อบอกชื่อสถานที่หรือแนะนำทางไปยังถนนเส้นหลัก ที่สถานที่หลักๆ ในเมืองนั้นๆ โดยปกติแล้วจะใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน แต่ป้ายบอกทางบนทางด่วนจะใช้พื้นหลังเป็นสีเขียว

4. ป้ายแจ้งเตือน มักจะใช้พื้นหลังเป็นสีเหลืองเสมอ เพราะสามารถมองเห็นได้ง่ายแม้ในวันที่ทัศนวิสัยแย่ ความหมายค่อนข้างเป็นสากล เข้าใจไม่ยาก

ส่วนป้ายเสริมนั้น ชาวต่างชาติจำเป็นต้องจำ เพราะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้คำกระชับ เข้าใจง่าย ซึ่งป้ายเสริมนี้มันอยู่ข้างใต้ป้ายหลัก ที่แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่า แต่ให้ถือเป็นใจความสำคัญ เช่น ป้ายหลัก เขียนว่า 40 ซึ่งหมายความว่าให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 40 กม./ช.ม. แต่ข้างล่างมีป้ายเสริมเขียนว่า 大貨等 (เฉพาะรถบรรทุก) ซึ่งความหมายว่า ป้ายนี้เน้นสื่อความกับคนขับรถบรรทุก ดังนั้นคนขับรถบรรทุกต้องขับไม่เกิน 40 กม./ช.ม. บนถนนเส้นนี้ ในขณะที่รถประเภทอื่นๆ สามารถใช้ความเร็วตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติได้

ตัวอย่างป้ายตัวอักษรคันจิที่จำเป็นต้องจำ
เครื่องหมายต่างๆ ที่เขียนไว้บนพื้นถนนที่ควรทราบ เช่น ตรงนั้นห้ามยูเทิร์น ตรงไหนห้ามแซง ตรงไหนห้ามจอด

ได้ความรู้พื้นฐานคร่าวๆ เกี่ยวกับกฎจราจรญี่ปุ่นไปแล้ว ในตอนหน้าผู้เขียนจะเขียนถึงการแซง การเลี้ยว การหลีกเลี่ยงรถฉุกเฉิน การจำกัดความเร็วรถ และเครื่องหมายต่างๆ ที่เรามักเจอที่ตัวรถหรือที่จอดรถเวลาที่มาเที่ยวญี่ปุ่นด้วยค่ะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save