รีวิวการเรียนขับรถในญี่ปุ่น ตอนที่ 3 : เนื้อหาพื้นฐาน บทที่ 4-6

วันนี้เราจะมีรีวิวกันต่อค่ะ ว่าเรียนขับรถในญี่ปุ่นต้องเรียนอะไรกันบ้าง คุณผู้อ่านสามารถอ่านบทความก่อนหน้าได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้

บทที่ 4: การพิจารณาว่ารถของเราสามารถผ่านได้หรือไม่ได้ในพื้นที่นั้น

ถึงแม้ว่าเรียนมาถึงบทนี้ควบคู่กับกับการขับรถจริงๆ แล้ว แน่นอนว่าในบางสถานการณ์เราก็ไม่แน่ใจว่าเราควรหยุด หรือเราควรไปต่อ เช่น เวลาขับผ่านหน้าสถานีดับเพลิง ในช่วงที่รถติด ห้ามจอดทับเส้นขาวหน้าสถานีดับเพลิงเด็ดขาด เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินนักดับเพลิงจะไม่สามารถเอารถออกได้ รวมทั้งสถานการณ์ยิบย่อยอื่นๆ ที่มักจะออกสอบ ผู้เขียนได้สรุปมาด้านล่างนี้แล้วค่ะ

ถ้าเลนที่เราวิ่งอยู่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร สามารถแซงได้ เหตุผลที่ต้องเป็น 6 เมตรก็เพราะว่า รถ 1 คันมีความกว้างประมาณ 2.5 เมตร ขับคู่กัน 2 คัน ก็ 5 เมตร ถ้าจะขับคู่กันอย่างน้อยก็ต้องมีระยะห่างด้านข้างอย่างน้อย 1 เมตร จึงจะถือว่าปลอดภัย ดังนั้นหากเลนถนนกว่าน้อยกว่า 1 เมตร เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเลนเพื่อแซงขึ้นไป ห้ามแซงในเลนเดียวกัน
ปัญหาที่เจอแทบทุกที่ก็คือเวลารถติด มอเตอร์ไซต์ชอบขึ้นมาวิ่งบนฟุตบาท ถ้ายังไม่ได้ดับเครื่องจะถือว่าเป็นการ “ขับ” จะถูกตัดแต้มใบขับขี่ 2 แต้ม และปรับ 9,000 เยน แต่ถ้าดับเครื่องแล้ว สามารถนำรถขึ้นมาบนฟุตบาทได้
ไม่ว่าจะเป็นการข้ามทางรถไฟหรือสี่แยก ห้ามพักรถไว้ตรงกลางเด็ดขาด หากการจราจรข้างหน้าติดขัด และพิจารณาว่าเราไม่สามารถข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้พ้น ให้จอดรออยู่ฝั่งนี้ก่อน

บทที่ 5: การให้ทางแก่รถฉุกเฉินและรถอื่นๆ ตามที่กำหนด

ถึงแม้ว่าจะเป็นการหลบให้รถฉุกเฉินผ่าน แต่ก็ห้ามจอดกลางแยกเด็ดขาด แม้แต่ทางม้าลายก็ห้ามจอดทับ ต้องรีบข้ามแยกแล้วชิดซ้ายทันที (ในกรณีถนนเป็น One-way ให้ชิดขวา) หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกหักแต้มใบขับขี่ 1 แต้ม ปรับ 6,000 เยน

นอกจากนี้ ยังห้ามแซงรถโดยสารสาธารณะที่เปิดไฟเลี้ยวในจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเด็ดขาด  เช่น ที่ป้ายรถเมล์ รถเมล์เปิดไฟเลี้ยวขอเลี้ยวขวา กลับเข้ามาที่ถนน เราต้องชะลอเพื่อให้รถเมล์ไปก่อน

อีกกรณีหนึ่งก็คือ ป้าย/เลน バス専用 (basu senyou) และ バス優先 (basu yuusen) ซึ่งป้าย/เลน ที่เขียนว่า バス専用 นั้น อนุญาตให้รถโดยสารสาธารณะและมอเตอร์ไซต์เท่านั้นที่วิ่งได้ ต่อให้รถติดยังไง รถประเภทอื่นๆ ก็ห้ามเข้ามาวิ่งเลนนี้ กับอีกประเภทหนึ่งก็คือ バス優先 แปลว่า ให้รถเมล์ไปก่อน รถประเภทอื่นๆ สามารถวิ่งเลนนี้ได้ แต่ถ้ามีรถเมล์วิ่งมาข้างหน้า เราต้องรีบออกไปเลนอื่น

ป้าย バス優先 เป็นป้ายปราบเซียนในการสอบเลยค่ะ เพราะเราเข้าใจว่าถ้ารถเมล์มาแล้วแล้วต้องรีบออก “ทันที” แต่มันผิดตรงคำว่าทันทีค่ะ คำตอบที่ถูกต้องคือเราต้องออกจากเลนนี้ แต่ไม่จำเป็นต้อง “ทันที” จุดเล็กแค่นี้เล่นเอาสอบตกมาหลายคนแล้วนะคะ!

บทที่ 6 : การขับรถข้ามแยกและข้ามรางรถไฟ

การเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางจราจรก็ต้องมีกฎค่ะ อย่างรูปด้านล่างแสดงเส้นทางการเดินรถว่าแบบไหนผิดหรือถูก มาดูกันค่ะ

กรณีเลี้ยวซ้าย ให้เปิดไฟเลี้ยวซ้ายอย่างน้อย 30 เมตร ก่อนที่จะเลี้ยว แล้วค่อยหักพวกมาลัยไปทางซ้ายให้ชิดขอบถนนที่สุดและเลี้ยวเมื่อถึงโค้งค่ะ ต้องกะให้ดีนะคะ เพราะถ้าหลุดโค้งก็จะเกะกะรถยนต์เลนอื่น

การเลี้ยวซ้ายมีจุดที่ต้องระวัง คือต้องมองกระจกข้างซ้าย และเหลือบมองข้างหลังทุกครั้ง ว่ามีคนเดิน หรือมีมอเตอร์ไซต์แซงมาในมุมที่เราจะเลี้ยวหรือเปล่า ถ้าไม่สำรวจให้ดีก็อาาจะเฉี่ยวชนกันได้

กรณีเลี้ยวขวา เราต้องเริ่มเปิดไฟเลี้ยวขวา อย่างน้อย 30 เมตรก่อนถึงแยกและขับชิดเลนกลาง การเลี้ยวขวานี้จะไม่เหมือนการเลี้ยวซ้ายตรงที่เราไม่หักพวงมาลัยเมื่อถึงทางแยก แต่จะไปหักที่ “โค้งเสมือน” ซึ่งโค้งเสมือนนี้จะไม่ได้เป็นเส้นบนถนน แต่เป็นจุดรูปข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง 4 แยกค่ะ (ดูรูปด้านล่างประกอบ) เมื่อเลี้ยวผ่านตรงนี้แล้วก็กลับไปชิดซ้ายเหมือนการขับปกติ

การเลี้ยวขวาเนี่ย เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่ฮอกไกโดค่ะ โดยเฉพาะฤดูหนาว หิมะตก ทำให้มองไม่เห็นเส้นโค้งเสมือนตรง 4 แยก บางทีหักเลี้ยวไม่พ้นไปโดนฟุตบาทฝั่งตรงข้ามบ้าง ขับคร่อมเลนกลางของฝั่งที่จะเลี้ยวไปบ้าง ทำให้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ในบทที่ 4 นอกจากจะเป็นการพิจารณาว่าผ่านได้หรือไม่ได้แล้ว ในบทที่ 5 ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการข้ามทางรถไฟเพิ่มด้วยค่ะ ก็ประเทศญี่ปุ่นใช้รถไฟเป็นเส้นทางคมนาคมหลักนี่นา เมื่อผู้ใช้ถนนจะไปตัดทางรถไฟก็ต้องมีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันซะหน่อย

ในการสอบปฏิบัติ เราก็ต้องจอดตรงเส้นที่ให้จอดก่อนข้ามทางรถไฟ แล้วเปิดกระจกเพื่อฟังเสียงเตือนรถไฟให้ชัดๆ ต่อให้เราได้ยินเสียงตอนที่กระจกปิดอยู่ก็ตาม ถ้าไม่เปิดกระจก ปัดตกไปเลยจ้า และถึงแม้จะไม่มีรถไฟมา เราก็จำเป็นต้องจอด เพื่อนผู้เขียนแค่ชะลอๆ นี่โดยตำรวจขับรถไล่หลังมาเลย ไม่รู้เค้าไปแอบดูจากตรงไหน แหะๆ

กรณีที่เราข้ามแยกแล้วแต่ข้ามไม่พ้น ไม้กั้นทางหล่นลงมาก่อน เราต้องใช้ตัวรถกระทุ้งให้มันเปิดใหม่ค่ะ (เพิ่งรู้ว่าทำได้) แต่ทางที่ดี ถ้าเห็นว่าสัญญาณไฟเริ่มเตือนแล้วว่าห้ามข้าม อย่าฝืนค่ะ เพราะเรามีเวลาแก้ปัญหาเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่รถไฟจะมา ถ้าแก้ไม่ทันคงเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ในกรณีที่รถเสียระหว่างข้ามทางรถไฟ ต้องวิ่งค่ะ วิ่งไปกดปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งให้รถไฟหยุด
ในกรณีที่บริเวณใกล้เคียงไม่มีปุ่มฉุกเฉิน ให้ใช้พลุค่ะ รถในญี่ปุ่นทุกคันจะมีพลุอยู่ข้างล่าง (ตามรูป) วิธีใช้ก็คือ ดึงจุกออก บนจุกด้านบนจะมีแถบสีให้เปิดประกายไฟ การใช้งานเหมือนจุดไม้ขีดเลยค่ะ ต้องโบกพลุเป็นสัญญาณให้รถไฟที่กำลังวิ่งมาหยุดขบวนรถ

แล้วถ้าพลุจุดไม่ติดต้องทำยังไง? ต้องวิ่งค่ะ วิ่งหาอะไรก็ได้ที่จะทำให้พลุติดไฟ หรือบีบแตรเพื่อขอความช่วยเหลือให้คนแถวนั้นช่วยเข็นรถออกไปให้พ้นทาง

เพียงแค่ 3 บทวันนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรและการแก้ปัญหาบนท้องถนนไปอย่างเข้มข้น เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่ในญี่ปุ่นหรือต้องการเช่ารถขับเมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่นนะคะ

ในครั้งหน้าเราจะพูดถึงสัญลักษณ์พิเศษที่เรามักพบบ่อยๆ ในญี่ปุ่นแต่ไม่รู้ความหมายกันค่ะ ฝากติดตามด้วยนะคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save