ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากที่ผู้เขียนสอบใบขับขี่ชั่วคราวผ่านเรียบร้อยใน step 1 ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเรียน Step 2 แล้วค่ะ ซึ่ง Step2 นั้นโหดยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทฤษฎีที่เพิ่มขึ้นจาก 10 ชั่วโมงเป็น 16 ชั่วโมง และการฝึกขับรถจาก 20 ชั่วโมง เป็น 50 ชั่วโมง และที่สำคัญรอบนี้เรามีใบขับขี่ชั่วคราวแล้ว เราต้องไปฝึกบนถนนจริงๆ กันแล้วค่ะ
สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก สามารถเข้าไปอ่านบทความย้อนหลังของซีรีส์นี้ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ
- การสมัคร คลิกที่นี่
- เนื้อหาบทที่ 1-3 คลิกที่นี่
- เนื้อหาบทที่ 4-6 คลิกที่นี่
- เนื้อหาบทที่ 7-14 คลิกที่นี่
- การสอบใบขับขี่ชั่วคราว คลิกที่นี่
สำหรับเนื้อหาใน Step 2 เมื่อเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่ามันเข้าใจยากมากๆ เลยค่ะ เนื่องจากว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องกฎจราจรเหมือน Step 1 ดังนั้น แค่เรียนในห้องเรียนจึงไม่พอ ต้องกลับมาอ่านหนังสือเองตลอดเลย
ในบทความตอนที่ 6 นี้เรามาดูเนื้อหากันดีกว่าว่าใน Step 2 ทั้ง 16 ชั่วโมงนี้ต้องเรียนอะไรกันบ้าง
ทดสอบการชน : เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัย
เริ่มชั่วโมงแรกใน Step 2 ก็โหดเลยค่ะ แถมไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าเนื้อหามันจะเป็นแบบนี้
หลังจากอธิบายขั้นตอนเสร็จ คุณครูพาเราไปที่ห้องทดสอบค่ะ จะให้เราขึ้นไปนั่งรถจำลอง คล้ายๆการจำลอง crash and safety testของบริษัทรถยนต์ หากนึกภาพไม่ออก สามารถดูวิดีโอด้านล่างประกอบได้นะคะ
หลังจากนั่งและคาดเข็มขัดเรียบร้อย คุณครูจะปล่อยรถที่เรานั่งไปชนกับผนัง ในการทดสอบนี่ไม่ได้ปล่อยด้วยความเร็วจริงนะคะ ปล่อยความเร็วต่ำมาก ให้พอสะดุ้ง ส่วนตัวผู้เขียนเองไม่เคยมีประสบการณ์ถูกรถชนนะคะ และหลายๆ คนก็คงไม่เคย เราจึงไม่รู้ว่าในวินาทีนั้น หากเกิดอุบัติเหตุเราจะมีปฏิกิริยาอะไรบ้าง
พอลงมาจากรถ คุณครูก็เอารูปมาอธิบายค่ะ ว่าเมื่อกี้ขนาดปล่อยด้วยความเร็วต่ำเรายังพุ่งไปข้างหน้า ถ้าปล่อยด้วยความเร็วมากกว่านี้ แล้วไม่ได้คาดเข็มขัดหล่ะ? แล้วก็เอารูปที่วิ่งด้วยความเร็ว 30 ก.ม./ ชั่วโมง และ 50 ก.ม./ ชั่วโมง มาให้ดู ความเร็วเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์เราบาดเจ็บจากอุบัติทางรถยนต์ได้แล้วค่ะ
ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจะสื่อในบทเรียนนี้ก็คือ หลังจากที่เราต้องไปขับบนถนนจริง ไม่ได้ขับช้าๆ เอื่อยๆ เหมือนอยู่ในโรงเรียนแล้ว อย่าลืมความรู้สึกตอนที่ชนว่าอุบัติเหตุมันเป็นยังไง จะได้ไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
เรียน CPR : ขับรถได้ก็ต้องปฐมพยาบาลเป็นด้วย
เนื่องจากเป็นบทเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุและความเป็นความตายของผู้อื่น แน่นอนว่าคลาสนี้ไม่ได้เรียนแค่ 1 ชั่วโมง แต่ต้องเรียนครึ่งวันเลยทีเดียว
เริ่มจากการเรียนว่าอุปการณ์ในชุด AED มีอะไรบ้าง? มีวิธีการใช้งานยังไง? ฝึกปั๊มหัวใจ ฝึกผายปอด ซึ่งทุกขั้นตอนเราได้ลองปฏิบัติเป็นรายบุคคลเลยค่ะ ยกเว้นการผายปอดที่ครูทำให้ดูคนเดียว เนื่องจากช่วงนี้ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ การให้น้ำลายไปสัมผัสกับหุ่นน่าจะเสี่ยงสำหรับคนที่ต้องมาเรียนกับหุ่นตัวนี้คนถัดไปค่ะ
นอกจากการเรียนปฏิบัติในทางทฤษฎีก็ต้องรู้ด้วยว่า เกิดอุบัติเหตุต้องโทรเบอร์ไหน อย่างของญี่ปุ่น โทรเรียกรถพยายาลหรือรถดับเพลิงกด 119 และเรียกตำรวจกด 110 ค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญด้วย ทุกครั้งที่มีคนบาดเจ็บต้องเรียกรถพยาบาลก่อนเรียกตำรวจ และไม่ว่าอุบัติเหตุจะเล็กน้อยแค่ไหน อย่ายอมความกันเองแต่ให้เรียกตำรวจดีกว่า เพื่อป้องกันการเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลในภายหลังค่ะ







เรียนการคาดคะเนเหตุการณ์ต่างๆ บนท้องถนน
บทเรียนนี้จะสอนให้เราสังเกตจุดอันตรายต่างๆ บนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นเด็กขี่จักรยาน เขตโรงเรียน การเลี้ยวตรงสี่แยก หรือแม้กระทั่งแอ่งน้ำบนถนนก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
สังเกตจุดบอดต่างๆ บนท้องถนน
รูปซ้ายแสดงมุมมองของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ผ่านกระจกข้าง ส่วนรูปขวาแสดงมุมมองของผู้ขับขี่รถยนต์ผ่านกระจกข้างเช่นกัน จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะมุม A B C D รถจักรจานยนต์ก็แทบจะมองไม่เห็นรถยนต์เลยในระยะประมาณนี้ ดังนั้น ข้อความระวังของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ก็คือต้องไม่ขับรถเข้าไปในจุดบอดตามภาพทางขวามือที่รถยนต์จะไม่สามารถมองเห็นรถของเราได้ ดังนั้นระยะปลอดภัยที่สุดคือ D และ A นั่นเองค่ะ

จุดบอดต่างๆ นอกจากจะเกิดจากข้อจำกัดในการมองเห็นของยานพาหนะประเภทต่างๆ แล้ว การจอดประเภทต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดจุดบอดบนถนนได้เช่นกัน
การสื่อสารบนท้องถนน
การสื่อสารบนท้องถนนระหว่างผู้ขับขี่ ในที่นี้จะใช้สัญญาณไฟเป็นหลักค่ะ ซึ่งหนึ่งสัญญาณสามารถตีความได้หลายความหมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องจะศึกษาความหมายของการสื่อสารให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย
- การเปิดไฟสูง: การเปิดไฟสูงในพื้นที่ที่ทัศนวิสัยแย่ อาจจะเป็นการสื่อให้รถที่มาจากทางอื่นทราบว่า ตรงนี้ก็มีรถอยู่โปรดระวัง แต่หากว่าในกรณีที่รถของเราเปิดไฟเลี้ยวอยู่ และรถฝั่งตรงข้ามเปิดไฟสูง ก็อาจจะหมายถึงการ “ให้ทาง” และบางครั้งการให้ทางก็อาจจะไม่ใช่การเปิดไฟสูงอย่างเดียว อาจจะเป็นแค่การลดความเร็วเพื่อให้เราเลี้ยวไปก่อนได้ ดังนั้น หากรถฝั่งตรงข้ามไม่ได้ลดความเร็วลง ก็ความหมายว่าเค้าไม่ให้เราไปค่ะ เค้าจะไปก่อน ดังนั้นเราต้องรอ
- การเปิดไฟ Hazard light: การเปิดไฟ Hazard light หรือไฟฉุกเฉิน จะใช้ในกรณีที่รถเราเสีย การเปิดไฟฉุกเฉินเป็นการบอกให้รถที่ตามมาข้างหลังสามารถแซงรถของเราไปได้เลย หรือในบางครั้งการเปิดไฟฉุกเฉินก็หมายถึงการขอบคุณ
- การเปิดไฟเลี้ยวบนถนนที่ไม่มีทางเลี้ยว: เป็นการบอกรถข้างหลังว่า “คุณสามารถขับแซงฉันไปได้เลย”
- การเปิดไฟสูงแบบกระพริบ: การเปิดไฟลักษณะนี้ มักจะใช้บริเวณทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรในตอนกลางคืน เพื่อบอกรถฝั่งตรงข้ามว่า “ฉันจะออกตัวแล้วนะ” เพื่อให้รถคันอื่นเข้าใจการตัดสินใจของเรา
ข้อควรระวัง: อันนี้เป็นคำเตือนจากคนญี่ปุ่นค่ะ แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ตายตัวและไม่มีสอน แต่ไม่ควรใช้ที่ปัดน้ำฝนขณะกำลังขับรถค่ะ เพราะคนที่อยู่ในรถคันหลังจะเข้าใจว่าเรากำลังจะส่งสัญญาณหรือต่อว่าอะไรเค้าอยู่ก็เป็นได้
รู้หรือไม่? ลักษณะนิสัยของผู้ขับขี่มีผลกับการขับรถ
แม้ว่าสกิลการขับรถของคนที่ขับรถเป็นจะเหมือนๆ กัน แต่วิธีการและการตัดสินใจนั้นไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะเกี่ยวเนื่องกับนิสัยและลักษณะเฉพาะของบุคคล บางคนเป็นผู้ขับขี่ที่ดี ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยซักครั้ง ในขณะที่บางคนเกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? การทำ Aptitude test มีคำตอบ
หากคุณผู้อ่านคนไหน เคยอ่าน ตอนที่ 1 จะทราบว่า ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียนสอนขับรถที่ญี่ปุ่น ผู้เรียนทุกคนจะต้องทำการวัด Aptitude test สำหรับวัดลักษณะนิสัยในการขับขี่ด้วย การทดสอบนี้มีความสำคัญมากสำหรับตำรวจเวลาเกิดอุบัติเหตุ ในบางครั้งคนเราก็โกหก สรรหาคำอธิบาย ข้อแก้ต่างมาแก้ตัวให้ตัวเองมากมายเวลาที่ทำผิด แต่การทดสอบนี้ก็เป็นการทดสอบสิ่งที่เราคิดลึกๆ ในใจ โกหกไม่ได้ค่ะ
การทดสอบนี้เรียกว่า K-type driving aptitude test ซึ่งเป็นการทดสอบของกรมตำรวจญี่ปุ่น โดยผลทดสอบจะบอกลักษณะการขับและปฏิกิริยาตอบสนอง การทดสอบนี้นอกจากจะช่วยให้ตำรวจรู้จักผู้ขับขี่มากขึ้น ผู้ขับขี่ก็จะได้รู้ตัวเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอันเกิดจากนิสัยของตัวเองด้วยค่ะ
ผลการทดสอบแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วน คือ ลักษณะนิสัยในการขับขี่ และผลทดสอบสภาพจิตใจ
ลักษณะนิสัยในการขับขี่มี 6 ประเภท
- ตัดสินใจช้า: เป็นคนขับประเภทที่ไม่สามารถตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ใครที่ผลทดสอบออกมาว่าเป็นคนประเภทนี้ควรระมัดระวังในเรื่องของความเร็ว หากรู้ตัวว่าเป็นคนที่ตัดสินใจช้าก็ต้องขับให้ช้าด้วย และเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติซักหน่อยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
- คิดมาก คิดเยอะ: คนขับประเภทที่ชอบคิดมาก คิดเยอะ มักจะหลุดโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ง่าย เพราะมัวแต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ข้อควรระวังของคนที่ได้ผลการทดสอบประเภทนี้ก็คือ ต้องตั้งสมาธิกับการขับขี่เยอะๆ
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย: คนที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย ข้อความระวังสำหรับคนที่ได้ผลการทดสอบประเภทนี้คือ ควรหลักเลี่ยงการขับรถเมื่อรู้ตัวว่าสภาพอารมณ์มีการเปลี่ยนแปลง และควรขับเมื่อจิตใจสงบเท่านั้น
- ไม่รู้จักระมัดระวัง: แม้ว่าจะตัดสินใจเร็วก็ใช่ว่าจะตัดสินใจได้ถูกต้องและรอบคอบ บุคคลประเภทนี้มักจะตัดสินใจผิดพลาดบ่อย รวมทั้งเข้าใจสถานการณ์แบบผิดๆ ได้บ่อย ข้อควรระวังสำหรับคนที่ได้ผลการทดสอบเป็นคนประเภทนี้คือ ควรหมั่นทบทวนคู่มือการขับขี่และกฎจราจรอยู่เสมอ
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว: คนประเภทนี้จะชอบเข้าข้างตัวเองและโกรธง่าย คนที่ได้ผลการทดสอบอยู่ในกลุ่มนี้ ควรหลีกเลี่ยงการขอทางคนอื่น เพราะถ้ารถคันอื่นบนถนนไม่ให้ทางก็เสี่ยงที่ตัวเองจะโกรธและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้ขับรถโดยปลอดภัยได้
- มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว: คนประเภทนี้มักตัดสินใจโดยยึดตัวเองเป็นหลัก ข้อควรระวังสำหรับคนที่ขับรถประเภทนี้คือ ต้องหมั่นคิดถึงจิตใจของผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย
สภาพจิตใจที่ไม่เหมาะกับการขับรถ
- หงุดหงิด/โมโห: คนขับที่ยังอยู่ในสภาพที่หงุดหงิด โมโห นั้นเสี่ยงที่จะใช้ความเร็วเกิดกำหนดและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กังวล: คนที่มีเรื่องให้คิดมากหรือกังวลไม่ควรขับรถอย่างยิ่ง เพราะสภาพจิตใจที่เต็มไปด้วยความกังวลจะส่งผลให้ผู้ขับรถสนใจบรรยากาศโดยรอบน้อยลงและขาดความระมัดระวัง
- ง่วง/เมา: ประสาททสัมผัสในการควบคุมตื่นไม่เต็มที่และพร้อมจะดับวูบได้ตลอดเวลา ไม่ควรขับรถเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ผู้ขับขี่ที่มีอาการง่วง/เมาเท่านั้น ยังรวมไปถึงคนที่มีอาการไข้ หรือกินยาบางประเภทที่ทำให้ง่วงได้ เช่น ยาแก้แพ้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมรถลดลงได้เช่นกัน
- มั่นใจเกิน: คนที่มั่นใจเกินไปก็ไม่ควรขับรถค่ะ เพราะยิ่งเรามั่นใจในการขับขี่ของตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งระมัดระวังกับการขับขี่น้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้น การขับรถจึงต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
- มีเหตุเร่งด่วน: มันก็จริงอยู่ที่ว่าเพราะมีเหตุเร่งด่วนเราจึงต้องขับรถ แต่ควรจะเผื่อเวลาในการขับรถไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าอยากจะไปถึงเร็วๆ จึงใช้ความเร็วเกินกำหนดจนอาจจะเกิดอันตรายต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
ในตอนหน้า เราจะมาพูดถึงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับขี่รถยนต์ในญี่ปุ่น รวมถึงการดูแลเครื่องยนต์ด้วยค่ะ