หากใครเคยมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมักจะรู้สึกเหมือนกันว่า ที่นี่มีระเบียบวินัยการจราจรที่ดีมาก และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการเรียนและการสอบที่เข้มข้นกว่าจะได้ใบขับขี่ กอปรกับกฎหมายที่มีการบทลงโทษอย่างจริงจังด้วยค่ะ
ตลอดชีวิตของผู้เขียนไม่เคยขับรถเลย พึ่งพาคมนาคมสาธารณะมาโดยตลอด ไม่ว่าจะฝนตกแดดจะออก แต่เผอิญว่าตั้งแต่ปีที่แล้วได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่จังหวัดฮอกไกโด ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟนั้นไม่สะดวกเหมือนอยู่ในเมือง ประกอบกับช่วงนี้ติดโควิด ทำให้งานการของผู้เขียนที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เลยใช้เวลาอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วหละที่จะต้องไปเรียนขับรถ
ทุกครั้งที่ผู้เขียนบ่นถึงความยากของการเรียนที่นี่ เพื่อนๆ ก็มักจะถามว่าทำไมต้องไปเรียน แพงก็แพง ทำไมไม่เอาใบขับขี่ไทยมาสอบเทียบ? คำตอบก็คือ ผู้เขียนขับรถไม่เป็นค่ะ ตอนอยู่ไทยก็เลยไม่มีใบขับขี่ หากจะกลับไปสอบที่ไทย หลังได้ใบขับขี่ก็ต้องอยู่ไทยนานเกิน 3 เดือนอีก ซึ่งก็พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถกลับไปนานขนาดนั้นได้ ไหนๆ ก็ต้องอยู่นานแล้ว ไปสอบใบขับขี่ของญี่ปุ่นเลยแล้วกัน! แต่…ญี่ปุ่นก็ไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีใบขับขี่ฝึกขับรถเอง เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการทำตามกฎ เราจึงต้องกัดฟันไปเรียนที่โรงเรียนสอนขับรถในญี่ปุ่นที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าแพงแสนแพง
นอกจากอุปสรรคด้านการเงินแล้ว อุปสรรคที่สองก็คือกำแพงภาษาค่ะ จากที่เคยดูรีวิวจากพี่ๆ คนไทย ก็สบายใจว่ามีภาษาไทยให้เลือกสอบด้วย แต่จริงๆ แล้ว มีแค่ศูนย์สอบใหญ่ๆ เช่น ในโตเกียว โอซาก้า นาโงย่า ชิบะ ไซตามะ หรือที่ที่คนไทยอยู่เยอะๆ อย่างอิบารากิเท่านั้น
ที่นี้พอถามถึงภาษาอื่นบ้าง ในแต่ละจังหวัดนั้นมักมีภาษาต่างประเทศที่เป็นสแตนดาร์ดให้เลือกสอบได้ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาเกาหลีค่ะ แต่ผู้เขียนอยู่ที่ฮอกไกโด ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่มาก ศูนย์สอบที่สามารถสอบเป็นภาษาต่างประเทศได้นั้นอยู่ที่ซัปโปโรซึ่งต้องนั่งรถไฟไป-กลับ จากบ้าน 8 ชั่วโมง ซึ่งคิดแล้วว่าไม่ไหว ดังนั้น ตัวเลือกสุดท้ายของเราคือ ต้องเรียนและสอบเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ
การสมัครและค่าเล่าเรียน
ผู้เขียน walk-in ไปสมัครที่โรงเรียนสอนขับรถใกล้บ้าน แต่ทางโรงเรียนก็แนะนำมาว่าให้เราไปหยิบสมัครจากที่อื่นมาเขียนดีกว่า เพราะว่าใบสมัครที่โรงเรียนเอาไปวางไว้ตามที่ต่างๆ จะมีแสตมป์ส่วนลดปั๊มเอาไว้ค่ะ ลดไปประมาณ 10,000 เยน ก็เกือบๆ 3 พันบาท จากค่าเรียนทั้งหมดเกือบ 300,000 เยน หรือราวๆ 100,000 บาท เลยทีเดียว เลยต้องยอมเดินไปหยิบจากร้านอื่นๆ ที่ทางโรงเรียนเอาไปวางไว้
นอกจากใบสมัครแล้ว ยังต้องเตรียมหลักฐานอื่นๆ ด้วยค่ะ เช่น ทะเบียนบ้านในญี่ปุ่น ไซริวการ์ด (บัตรต่างด้าว) รูปถ่าย 3×2.4 นิ้ว จำนวน 4 ใบ และเงินค่าเรียน ซึ่งค่าเรียนสามารถจ่ายได้ 2 แบบ คือแบบเงินสดและแบบผ่อนชำระโดยการทำสัญญากับโรงเรียนค่ะ ซึ่งผู้เขียนเลือกจ่ายเงินสด
วันถัดมา โรงเรียนนัดให้มาแต่เช้าตั้งแต่ 8:30 เลยค่ะ เพราะว่าเป็นเวลาปฐมนิเทศน์สำหรับนักเรียนใหม่ มีอาทิตย์ละ 3 วันนะคะ ถ้าไม่สะดวกวันนี้ มาวันอื่นก็ได้ค่ะ แต่ต้องมาตั้งแต่ 8:30 เพราะว่าต้องมาวัดสายตา ถ่ายรูป (กรณีไม่เอารูปถ่ายมาเอง มีค่าธรรมเนียมการถ่ายรูป 800 เยน) จ่ายค่าเรียน และรับหนังสือเรียน (ฟรี)
ตอนที่กำลังตรวจสอบเอกสารอยู่บังเอิญเจอเจ้าหน้าที่ที่เคยสอบถามข้อมูล และเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเค้าเป็นคุณครูค่ะ ซึ่งคุณครูบอกว่าจะ 紹介(โชไก) ให้ หรือแนะนำให้นั่นเอง ผู้เขียนก็เพิ่งรู้ว่า ถ้ามีคุณครูโชไกให้ เราจะได้รับส่วนลดเพิ่มอีกเกือบ 20,000 เยน รวมๆ แล้ววันนั้น จ่ายไปประมาณ 28x,xxx เยน ค่ะ ซึ่งการโชไกนี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่ได้ส่วนลดค่าเล่าเรียน แต่ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปนะคะ
ตรวจวัดสายตา
นักเรียนทุกคนก่อนเข้าเรียนต้องทำการตรวจวัดสายตา ไม่ใช่แค่แว่นตาเท่านั้นนะคะ ตรวจละเอียดถึงคอนเทคเลนส์ ดังนั้นใครที่ใส่แว่นสลับกับคอนแทคเลนส์ต้องแจ้งโรงเรียนด้วยค่ะ เพราะข้อมูลเหล่านี้สำคัญสำหรับคุณครู และสำคัญในการออกใบขับขี่เมื่อสอบผ่านค่ะ
ส่วนตัวผู้เขียนนั้นสายตาไม่สั้นมาก ตอนวัดสายตาจึงไม่ได้ใส่แว่นและคอนเทคเลนส์ ทีนี้วันนึงพอไปเรียนขับรถแล้วใส่แว่น คุณครูไม่ให้ใส่ค่ะ เราต้องเรียนตามค่าสายตาที่เราได้วัดไว้ คุณครูก็ถามว่า ไม่ใส่แล้วขับรถมองเห็นมั้ย? ถ้าไม่เห็นต้องออกจากสนามซ้อมขับไปวัดสายตาใหม่ค่ะ ซึ่งนอกจากวัดสายตาสั้น สายตายาวแล้ว ก็ทำการตรวจเช็คตาบอดสีด้วยค่ะ
การวัดค่าสายตาที่ไทยจะให้อ่านตัวเลขใช่มั้ยคะ? แต่ที่ญี่ปุ่นจะให้อ่านวงกลมค่ะ ว่าวงกลมที่เราเห็นนั้น แหว่งด้านบน ด้านซ้าย ด้านขวา หรือด้านล่าง
สอบ Safety Test
การสอบ Safety Test เป็นการสอบวัดระดับก่อนเข้าเรียนของโรงเรียนสอนขับรถค่ะ เป็นข้อสอบที่วัดสภาพจิตใจและภาวะการตัดสินใจของคนขับรถ ซึ่งผู้เขียนสอบได้คะแนนต่ำมากๆ ค่ะ ไม่รู้เป็นเพราะภาวะการตัดสินใจต่ำหรืออ่านข้อสอบไม่ทันกันแน่ แต่ข้อสอบเป็นแบบอ่านง่ายมากค่ะ เพราะว่ามีตัวอักษรฮิรางานะกำกับคำอ่านคันจิให้ทุกตัว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ผู้เข้าสอบบางคนก็ยังเป็นน้องๆ มัธยมที่อ่านคำยากๆ ไม่ได้ค่ะ ซึ่งตรงนี้มันดีกับคนต่างชาติที่มักมีปัญหากับการอ่านตัวอักษรคันจิแบบบเรามาก ข้อสอบมีทั้งหมด 8 พาร์ท จะขอรีวิว แค่พาร์ทที่ผู้เขียนจำได้นะคะ
Part 1: คล้ายๆ ข้อสอบตรรกะค่ะ มีรูปเลขาคณิต หรือแถบสีต่างๆ เต็มไปหมด มีรูปตัวอย่าง 1 รูป และมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกให้เราเลือกตอบว่ารูปทั้ง4 มีความเหมือนกับรูปตัวอย่างหรือไม่ ช้อยส์ที่ให้ไปถ้านำไปประกอบกับรูปตัวอย่างจะเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้มั้ย ซึ่งโจทย์มีประมาณ 10 ข้อ แต่ให้เวลาคิดแค่ 10 วินาที ไม่จำเป็นต้องทำทุกข้อค่ะ ทันแค่ไหนก็แค่นั้น หมดเวลาแล้วต้องวางปากกา
Part 2: พาร์ทนี้ง่ายค่ะ ให้เขียนตัว A ในช่องว่าง ซึ่งช่องว่างแต่ละช่องก็จะมีทั้งช่องเล็กช่องใหญ่ ต้องเขียนตัว A ให้เต็มช่อง และที่สำคัญต้องเขียนแบบตั้งใจ เขียนให้สวยด้วย ตัวที่เขียนเขี่ยๆ ไม่นับคะแนน ให้เวลา 10 วินาที
Part 3: ให้ตอบรูปเงาที่ถ่ายจากกล้องอินฟาเรดค่ะ ว่าเป็นรูปอะไร ยากมากค่ะอันนี้ คือมันเบลอจนดูไม่ออกว่าเป็นคนหรือสัตว์ ให้เวลา 20 วินาที ตอบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่จำเป็นต้องตอบทุกข้อ
Part 4: ให้เลือกรูปที่ชอบกับไม่ชอบค่ะ มีตัวเลือกให้เลือก 4 ตัวเลือก แต่ละข้อก็มีรูปที่แตกต่างกันค่ะ เช่น ข้อที่เป็นรูปดอกไม้ก็จะมีทั้งแบบกลีบกลม กลีบแฉก กลีบรูปหัวใจ ตรงนี้ไม่จับเวลาค่ะ แต่ต้องทำทุกข้อ
Part 8: ตอบคำถามแนวจิตวิทยา YES or NO หรือ Not sure เช่น คิดว่าตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัวมั้ย คนรอบข้างบอกว่าคุณเป็นคนน่ารัก เวลาโกรธจะไม่แสดงออกทางสีหน้า พาร์ทนี้สำหรับผู้เขียนยากตรงที่มันเป็นโจทย์ที่ต้องอ่านค่ะ ไม่ใช่ดูรูปภาพเหมือนพาร์ทก่อนๆ ซึ่งการอ่านช้าก็พลอยทำให้ทำไม่ทัน แต่พาร์ทนี้ยังให้ก็ต้องทำให้ได้ทุกข้อค่ะ คุณครูก็เลยทดเวลาให้อ่านต่อ
Part B: พาร์ทนี้ถามเรื่องภาวะการตัดสินใจทั้งในฐานะคนขับและในฐานะที่เป็นผู้โดยสารสลับกันไป เช่น ดึกแล้ว ไม่มีรถวิ่งซักคัน แต่ว่าสัญญาณข้ามถนนยังเป็นไฟแดงอยู่ คุณจะข้ามมั้ย?
หลังจากทำข้อสอบชุดนี้เสร็จ คุณครูจะขานลำดับชื่อแต่ละคนไปเรียนวิธีฝึกขับรถกับรถจำลองค่ะ คล้ายๆ เกมแข่งรถที่จะมีเบาะนั่งและมีจอเสมือนจริงอยู่ หลังจากเสร็จขั้นตอนนี้แล้วก็ออกไปรับผลสอบค่ะ ซึ่งผลสอบของผู้เขียนนั้นภาวะตัดสินใจค่อนข้างออกมาแย่มากๆ ค่ะ ไม่สามารถตัดสินใจในระยะเวลาที่จำกัดได้ ส่วนภาวะจิตใจนั้นได้ A ค่ะ คือไม่ใช่คนขี้ตกใจอะไรประมาณนี้
ผลการทดสอบนี้จะบอกถึงข้อเสียของเราที่มีผลต่อการควบคุมรถ และเราต้องระวังตรงไหนเป็นพิเศษ ผลสอบเหล่านี้จะแปะอยู่ในสมุดประจำตัวนักเรียนของเราไปตลอดจนกว่าจะจบด้วยค่ะ เพราะคุณครูที่นั่งคู่กับเราตอนขับรถจริงจำเป็นต้องดูว่าเรามีภาวะตัดสินใจแบบไหน คุณครูจะได้ระวังถูกค่ะ
แม้ผลการทดสอบจะออกมาไม่ดีอย่างใจคิด แต่ก็ห้ามทิ้งผลสอบเด็ดขาด เพราะว่าหลังจากเรียนจบ ก่อนไปสอบใบขับขี่จริง เราต้องเอาผลสอบนี้ไปให้ตำรวจดูตอนสอบใบขับขี่ แถมยังต้องพกไว้ในรถตลอด 1 ปีแรกที่ได้ใบขับขี่ด้วยค่ะ หากเกิดอุบัติเหตุภายในปีแรกที่ได้ใบขับขี่ ตำรวจจะขอเรียกดูผลสอบนี้เพื่อดูสภาวะจิตใจและการตัดสินใจของเราประกอบด้วย
และนี่ก็คือสิ่งที่ผู้เขียนพบเจอในการสมัครสอบและวัดผลก่อนเข้าเรียนขับรถในโรงเรียนสอนขับรถของญี่ปุ่น เดี๋ยวตอนถัดไปผู้เขียนจะมารีวิวการเรียนในห้องเรียนแบบละเอียดบทต่อบท ไว้เป็นความรู้สำหรับคนไทยที่ต้องไปสอบในศูนย์สอบที่ไม่มีภาษาอื่นให้เลือกเหมือนผู้เขียนนะคะ