เมื่อเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การพัฒนารถไฟฟ้าก็ดูไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ปัจจุบันที่มีทั้งรถไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า ทำไมเราจะพัฒนารถบัสไฟฟ้าด้วยไม่ได้? ญี่ปุ่นเองก็มีไอเดียที่จะคิดค้นและพัฒนารถโดยสารสารธารณะอย่าง “รถบัสไฟฟ้า” ออกมาให้บริการด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดผลเสียร้ายแรงถึงขั้นต้องยกเลิกโครงการไป
รถโดยสารไฟฟ้าในเมือง Satsumasendai จังหวัดคาโกชิมะซึ่งรุดหน้าเปิดตัวก่อนประเทศอื่นๆ กลับเพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งๆ ที่รถโดยสารแบบไฟฟ้ากำลังได้รับความสนใจไม่น้อยในฐานะหนึ่งในก้าวสำคัญสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ปัญหาคืออะไรกันแน่? เราจะได้ทราบกันตรงนี้แล้วล่ะค่ะ
ที่มาของรถบัสไฟฟ้า
“รถบัสโคชิกิ” เป็นรถบัสที่ใช้ไฟฟ้าในการเดินรถ เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2014 โดยมีแผนการเดินทางไปกลับ 4 เที่ยวต่อวัน ระหว่างสถานี JR Sendai และท่าเรือ Sendai สำหรับรถบัสไฟฟ้าดังกล่าวผลิตโดย Korea Fiber HFG และติดตั้งแบตเตอรี่ที่ผลิตโดยบริษัท Mitsubishi ซึ่งกล่าวกันว่าโดยปกติแล้วเมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้วจะสามารถวิ่งได้ถึง 80 กม. และวิ่งได้อีก 40 กม. ด้วยการใช้เครื่องปรับอากาศ ส่วนค่าใช้จ่ายของโครงการรวมถึงราคาของตัวรถด้วยแล้วประมาณ 100 ล้านเยนค่ะ
こしきバス
南国交通で活躍したHFG製電気バス。鹿児島200き1でした。現在は薩摩川内市所有で自家用登録されています。 pic.twitter.com/s1dRlrcu9s— 🌴なっきー🌴 (@naki_amazo_ne) September 24, 2021
“รถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตโดย HFG คาโกชิมะ 200-1 ปัจจุบันใช้อยู่ที่เมือง Satsumasendai และจดทะเบียนสำหรับการใช้งานส่วนบุคคล”
ที่มาของการนำรถบัสไฟฟ้ามาใช้ทั่วประเทศนั้นเกิดจากนโยบายของทางเมืองเอง ว่ากันว่าสามารถใช้เป็นยานพาหนะในกรณีที่เกิดภัยพิบัติได้ และยังเป็นแผนการพัฒนาการใช้พลังงานของคิวชู โดยมีแผนในการยกเลิกสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าของคิวชูในเดือนเมษายน ปีค.ศ. 2022 แล้วเปลี่ยนไปผลิตไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมแทน
นอกจากนี้บริเวณลานกว้างหน้าสถานี Sendai ยังมีเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งหลอดไฟต่างๆ ของทางสถานีก็ได้มาจากส่วนนี้ด้วย ซึ่งเป็นการจัดการสำหรับป้องกันในกรณีที่เกิดภัยพิบัติด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ในปีค.ศ.2017 ยังได้เริ่มโปรเจคการนำรถบัสไฟฟ้าอัติโนมัติ “e-NV200” ของ Nissan Motor มาใช้งานจำนวน 40 คันอีกด้วย ยังไม่จบเพียงเท่านั้นเพราะตัวเมืองยังมีโครงการพัฒนาต่อยอดสำหรับไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน ในโครงการ Smart House, Micro Mobility รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดกระทัดรัด การผลิตไฟฟ้าตามถนนของตัวเมืองจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการเต็มรูปแบบสู่โลกอนาคตเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยสมบูรณ์ก็ว่าได้
ทว่ากลับเกิดข้อบกพร่องในการนำ “รถบัสโคชิกิ” มาใช้จริงอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องระงับการใช้งานก่อนวันเดินรถที่กำหนดเอาไว้จริงเสียอีก ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมากกว่า 30% ผลคือหลังจากเปิดให้บริการได้เพียง 5 ปีก็จำเป็นต้องยกเลิกการให้บริการลงตั้งแต่เดือนมีนาคมปีค.ศ.2019 แล้วเก็บไว้ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน แต่ก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและการจัดเก็บที่สูงถึงปีละ 1.8 ล้านเยน สุดท้ายจึงยกเลิกถาวรแล้วส่งต่อให้กับผู้รับเหมารายหนึ่งไป
ประชาชนบางส่วนกลับสงสัยถึงความน่าเชื่อถือ
ในขณะที่กำลังมุ่งก้าวไปสู่ยุคใหม่แล้วแต่กลับพบกับความล้มเหลวเช่นนี้อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติได้หรือไม่? แต่แน่นอนว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนผู้ที่ต้องใช้บริการ เนื่องจากอุบัติเหตุหรือความขัดข้องในการให้บริการที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดคำถามต่อความน่าเชื่อถือของ Korean fiber HFG ว่าตัวรถนั้นมีความน่าเชื่อถือพอหรือไม่? ซึ่งปัจจุบันเองก็ยังคงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนั้นผู้ผลิตจากประเทศจีนและประเทศฝั่งยุโรปได้กลายเป็นผู้นำด้านการผลิตรถบัสไฟฟ้าของตลาดโลกโดยสมบูรณ์แล้ว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้เมือง Satsumasendai ไม่พร้อมต่อการดำเนินการต่อยอดไปสู่อนาคตเท่าไรนัก แต่ทาง Kitakyushu กลับคิดเห็นตรงกันข้าม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ทางบริษัท Nishi-Nippon Railroad Co., Ltd. ได้ทำการแนะนำรถโดยสารไฟฟ้า 2 คัน ซึ่งดัดแปลงจากยานพาหนะที่มีอยู่ มีแผนให้บริการเดินรถระหว่างเกาะในเมืองฟุกุโอกะและสถานี Nishitetsu Chihaya และได้ขยายบริการนี้ไปยังเมือง Kitakyushu ตั้งแต่มิถุนายน ค.ศ.2022
รถโดยสารของเมืองฟุกุโอกะได้รับการออกแบบใหม่ ซึ่งเป็นรถโดยสารในเมืองคิตะคิวชูเป็นของ RAC Electric Vehicles ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวันที่เครือ Sumitomo Corporation ถือหุ้นอยู่ คาดว่าจะสามารถวิ่งได้ไกลถึง 150 กม. (โดยประมาณ) และยังคาดว่าจะสามารถลด CO2 ได้ถึง 57% เมื่อเทียบกับรถบัสที่ใช้น้ำมันดีเซลทั่วไปในปัจจุบันอีกด้วย
การก้าวสู่ยุคอนาคตครั้งสำคัญ
นอกจากนี้บริษัทร่วมทุน EV Motors Japan ในเมืองคิตะคิวชู กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์เป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น โดยจะมีกำหนดเริ่มดำเนินการในปีค.ศ. 2023 นี้ ซึ่งด้านความคืบหน้านั้นทางบริษัทเองก็ได้ว่าจ้างผู้ผลิตในจีนแล้ว ส่วนในอนาคตดูเหมือนว่ามีแผนที่จะเปลี่ยนเปลี่ยนฐานการผลิตไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
แต่ความต้องการยังมีจำกัดทำให้ต้นทุนของชิ้นส่วนต่างๆ ยังคงสูงอยู่ และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องการลด CO2 เองก็ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่เช่นกัน ถึงจะเกิดความผิดพลาดกับ “รถบัสโคชิกิ” แต่พัฒนารถโดยสารไฟฟ้าของญี่ปุ่นยังคงไม่หยุดนิ่ง คาดว่าจากนี้รถโดยสารมากกว่าครึ่งจะถูกแทนที่ด้วยรถบัสไฟฟ้า ปัจจุบันก็ยังมีรถ Kyoto City และ Keihan Bus ที่เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2021 นั้นก็เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนเช่นกัน เช่นเดียวกับการเปิดตัว Hankyu Bus ในเดือนเมษายน 2022 ของจังหวัดโอซาก้าก็ด้วย

แม้ปัจจุบันรถโดยสารแบบใช้พลังงานไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะยังไม่สามารถดำเนินการจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ดีเท่าที่ควรเหมือนกับตัวอย่างของ “รถบัสโคชิกิ” แม้ประชาชนญี่ปุ่นบางส่วนอาจจะยังตั้งข้อสงสัยถึงการดำเนินการดังกล่าวว่าดีจริงหรือไม่ และบางส่วนอาจมองว่ารถของชาติอื่นๆ นั้นอาจจะยังไม่น่าเชื่อถือมากพอหรือเปล่า แต่จากที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้จะล้มเหลวในช่วงแรกแต่หากไม่ย่อท้อก็สามารถก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีได้เช่นกัน คาดว่าหากญี่ปุ่นทำสำเร็จในอนาคตอันใกล้เราก็จะได้เห็นรถบัสไฟฟ้าวิ่งให้บริการกันจนเป็นเรื่องปกติก็เป็นได้
สรุปที่มาจาก merkmal-biz