Black Company อีกหนึ่งด้านที่ไม่สวยงามของสังคมการทำงานญี่ปุ่น

อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นสุดปี 2019 แล้ว ในช่วงนี้เป็นอีกหนึ่งช่วงหนึ่งที่พนักงานบริษัทที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้เวลาทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน ด้วยเหตุผลที่เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน โดยเดือนที่มีการแจ้งลาออกมากที่สุดมักจะเป็นเดือนมิถุนายน กันยายน และเดือนธันวาคม

เหตุผลก็คือ บริษัทระบบญี่ปุ่นแท้ ๆ นั้น มักจะเปิดรับสมัครงานแค่ปีละหนึ่งครั้ง และพนักงานน้องใหม่จะมีประวัติวันเริ่มทำงานในเรซูเม่เหมือนกันหมดคือวันที่ 1 เมษายน ดังนั้น หากใครที่เข้าบริษัทแล้วเกิดทำงานไม่ไหวบ้าง เนื้อหางานไม่ตรงกับตำแหน่งที่คุยกันไว้บ้าง ไม่โอเคกับวัฒนธรรมองค์กรบ้าง ช่วงเวลาที่ฝนโปรยปรายในเดือน 6 นี่แหละ เหล่าพนักงานน้องใหม่ที่ค้นพบว่าที่นี่ยังไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับตัวเองก็จะพากันตบเท้ายื่นใบลาออก! ส่วนอีกช่วงหนึ่งก็คือเดือนกันยายน และธันวาคม ซึ่งเหตุผลของการลาออกในเดือนเหล่านี้ก็คงไม่ต่างจากพนักงานที่เมืองไทยเท่าไหร่ นั่นคือ รอให้ได้โบนัสฤดูร้อนและฤดูหนาวเสียก่อน

ส่วนตัวผู้เขียนเองเชื่อว่า หากเราพบที่ที่เหมาะกับเราจริง ๆ แล้ว คงไม่มีใครอยากลาออกจากงานบ่อย ๆ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง คนเราก็ยังต้องการความมั่นคงในชีวิตอยู่ดี แต่หากไม่ไหวจริง ๆ แล้ว ลำดับแรกที่คนญี่ปุ่นจะทำก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนงานคือ การหลีกเลี่ยง Black Company หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า บุแล็คคุคิเกียว (ブラック企業)

คำจำกัดความของ Black Company

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น จะไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า Black Company อย่างชัดเจน แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า หากบริษัทที่คุณกำลังทำงานอยู่เข้าข่ายหลัก 10 ประการนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็น Black Company

  1. การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานหรือการใช้อำนาจในทางข่มขู่ลูกน้องเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน
  2. มีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาที่ยาวนานมากกว่า 100 ชั่วโมง/เดือน
  3. ไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลา หรือจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน
  4. แจ้งปลดพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร หรือบีบให้พนักงานออกจากงาน
  5. ระยะเวลาการลาคลอดและการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรนั้นไม่เป็นธรรม
  6. ประกาศรับสมัครเต็มไปด้วยข้อความที่เน้นให้มีความพยายามและความทะเยอะทะยานที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน
  7. มีอัตราการลาออกสูงและมีการประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งเดิมซ้ำตลอดทั้งปี
  8. โครงสร้างการบริหารบริษัทเป็นไปแบบ Top Down ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากเบื้องบน
  9. มีวันหยุดน้อยเกินไป/ ไม่อนุญาตให้ใช้วันลา หากขอใช้วันลาก็จะถูกต่อว่าให้รู้สึกผิด หรือถูกขู่หักโบนัสประจำปี (ตามกฎหมายญี่ปุ่นโบนัสไม่ได้รวมอยู่ในค่าจ้างแต่เป็นความพอใจของบริษัท จะจ่ายหรือไม่ได้จ่ายก็ได้)
  10. ไม่มีสัญญาจ้างงาน/สัญญาจ้างงานที่ระบุเนื้อหาไม่ชัดเจน

Backcorpmap.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวม Black Company ทั่วญี่ปุ่นเอาไว้ ในฐานข้อมูลหลักของเว็บมักจะเปิดโหวตในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานบริษัทที่อยากเปลี่ยนงานทั้งหลายไม่หลงเข้าไปสมัครในบริษัทสีดำเหล่านี้อีก

ภาพจากเว็บไซต์ Blackcorpmap.com แสดงให้แผนที่ประเทศญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยรูปหัวกระโหลกที่ปักหมุดไว้ เพื่อแจ้งเตือนพนักงานหน้าใหม่ถึงบริษัทที่เข้าข่ายเป็น Black Company

รางวัล ‘บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งปี’

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ประชาชน นักข่าว นักกิจกรรม ทนายความ และอาจารย์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อมอบรางวัล “MOST EVIL CORPIRATION OF THE YEAR” AWARD ให้กับบริษัทหรือองค์กรที่ข่ายว่าเป็น Black Company ตามหลัก 10 ประการข้างต้น โดยได้จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 8 แล้ว เป็นรางวัลที่ประชาชนสามารถลงคะแนนให้กับ ‘บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งปี’ ที่ชื่อรางวัลอาจจะฟังดูไร้สาระ แต่พวกเขาได้ทำมันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาของ Black Company รวมถึงเปิดเผยถึงพฤติกรรมแย่ ๆ ของบริษัทที่กระทำต่อพนักงานเพื่อเพิ่มแรงกดดันทางสังคมให้แก่บริษัทเหล่านี้

ในส่วนของการประกาศรางวัลนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการลงคะแนนโดนคณะกรรรมการและการโหวตผ่านเว็บไซต์จากผู้อ่านทางบ้าน โดยในวันที่ประกาศผลได้มีการเชิญสื่อมวลชนและอดีตพนักงานจากบริษัทที่ได้รับรางวัลนี้ขึ้นมาเล่าประสบการณ์แสนเลวร้ายที่พวกเคยประสบมา รวมไปถึงการร่วมกันเสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาต่อไป และนี่คือตัวอย่างรายชื่อบริษัทที่ได้รับรางวัล บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งปี ประจำปี 2019 ซึ่งได้ประกาศผลไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2019

บริษัทที่ได้รับการลงคะแนนว่าเป็นบริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งปีจากเหล่าคณะกรรมการของเราในปีนี้ก็คือ… บริษัท มิตซูบิชิอิเล็กทริคคอร์ปอเรชั่น 

บริษัท มิตซูบิชิอีเล็กทริคคอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งตกเป็นข่าวกรณีพนักงานของบริษัทต้องทำงานหนักจนเสียชีวิตมาหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่มีท่าทีที่ดีขึ้น จึงได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างฮือฮาในญี่ปุ่นพอสมควร เพราะหากบริษัทใดปรากฏชื่อในผลสำรวจนี้แล้ว มันจะปรับปรุงและระมัดระวังตัวเพื่อไม่ให้ตกเป็นข่าวและถูกสังคมรุมประณามซ้ำอีก

ตัวอย่างคดีที่พนักงานได้รับแรงกดดันจากการทำงานอย่างหนักจนถึงขั้นต้องจบชีวิตตัวเองนี้ เริ่มขึ้นในปี 2017 เมื่อพนักงานชาย วัย 40 ปี คนหนึ่งฆ่าตัวตาย ทำให้พนักงานชายอีก 5 คนออกมายอมรับกับสื่อว่าในช่วงระหว่างปี 2014-2017 ว่าพวกเขาได้ทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก และ 2 ใน 5 คนนั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ในเดือนตุลาคมปี 2019 หนึ่งในครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ทำการยื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงาน เพื่อตรวจสอบชั่วโมงการทำงานของลูกชายก่อนที่จะเสียชีวิต และพบว่าผู้ตายต้องทำงานล่วงเวลาอย่างหนักมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีอีกสองบริษัทที่ได้รับรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ ได้แก่ เดนท์สุ (電通) และ เซเว่นอีเลฟเว่นเจแปน (株式会社セブンーイレブン・ジャパン社)

ในกรณีของเดนท์สุ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่พนักงานหญิงวัย 24 ปี อย่างคุณมัตซึริ ทาคาฮาชิ ฆ่าตัวตายเพราะต้องทำงานล่วงเวลาอย่างหนักมากว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือนนั้น ทำให้ประธานบริหารสูงสุด นายทาดาชิ อิชิอิ ประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 2016 หลังจากนั้นแม้ทางเดนท์สุจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น ปิดไฟในสำนักงานหลัง 4 ทุ่ม แต่ก็ยังพบว่ามีพนักงานที่ต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือนหลงเหลืออยู่ดี

ในกรณีของเซเว่นอีเลฟเว่นนั้น ได้รับรางวัลนี้เพราะปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ในกรณีของการจ่ายค่าจ้างพนักงานตามร้านสาขาต่าง ๆ ซึ่งการบริหารงานร้านของเซเว่นจะแบ่งไปตามเจ้าของ กล่าวคือ มีร้านที่อยู่ภายใต้การบริหารของเซเว่นอีเลฟเว่นเจแปนโดยตรง และมีร้านที่อยู่ภายในการบริหารของเจ้าของที่ซื้อแฟรนไชส์ไป แต่ก็ยังคงต้องทำตามเงื่อนไขและคอนเซปท์ของเซเว่นตามที่ได้ตกลงกัน และสุดท้ายคือร้านเซเว่นที่อยู่ตามสถานีรถไฟ การบริหารจะอยู่ภายใต้บริษัทรถไฟสายที่ร้านตั้งอยู่ ซึ่งเซเว่นอีเลฟเว่นสำนักงานใหญ่ได้ค้างค่าจ้างและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ร้านเหล่านี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 รวมเป็นเงินที่ค้างจ่ายค่าจ้างให้กับรายสาขากว่า 490 ล้านเยนเลยทีเดียว ค้างกันยาวขนาดนี้ก็ไม่พลาดที่จะได้รับรางวัลพิเศษนี้ไปค่ะ

นอกจากรางวัลจากทางคณะกรรมการแล้ว ยังมีการจัดลำดับที่อ้างอิงจากผลโหวตในเว็บไซต์จากประชาชนทางบ้านอีก ซึ่งผู้ที่คว้าอันดับ 1 ในการโหวตผ่านทางเว็บไซต์ก็คือ Rakuten นั่นเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. Rakuten 10,303 คะแนน
  2. Mitsubishi Corporation 7,507 คะแนน
  3. 7-Eleven Japan 919 คะแนน
  4. สำนักงานเมืองนางาซากิ 439 คะแนน
  5. Yoshimoto Kogyo Co., Ltd 327 คะแนน
  6. Dentsu 297 คะแนน
  7. KDDI Corporation 274 คะแนน
  8. Toyota Motor Corporation 101 คะแนน
  9. ROPIA 66 คะแนน

สำหรับผู้เขียนเอง ตอนย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะเคยทำงานกับหนึ่งในบริษัทที่ได้รับรางวัล ‘บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งปี’ ได้รับแรงกดดันต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เคยเจอกับด้านมืดสุด ๆ แบบที่คนญี่ปุ่นเค้าเจอกัน ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย ส่วนหนึ่งก็คือวัฒนธรรมการทำงานค่ะ เราคนไทยไม่ได้ทำงานแบบถวายหัวให้องค์กรแบบคนญี่ปุ่น เวลาถูกดุด่าในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลผู้เขียนเลยไม่ค่อยสนใจ และไม่ได้ให้ค่าอะไรให้มากค่ะ แค่อารมณ์เสียนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็จบกันไป ตอนนั้นคิดแค่ว่าไม่ไหวก็ออก ถ้าเค้าให้ออกก็แค่หาที่ทำงานใหม่ค่ะ ไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำงานที่เดียวไปตลอด

ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา นักเรียนไทยที่เรียนจบแล้วมักหางานทำต่อที่ญี่ปุ่น ผู้เขียนได้ยินได้ฟังจากหลาย ๆ คนที่ประสบปัญหาในเรื่องของการทำงานบ้าง การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างบ้าง จึงอยากขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับคนทำงานทุกคนนะคะ ทนเท่าที่เราทนไหว ทำเท่าที่เราทำได้ อย่าฝืนตัวเองจนเกินไป ผู้เขียนเองเชื่อว่าหากคุณเป็นคนเก่งและมีความพยายามมากพอ ย่อมที่อีกหลายบริษัทที่พร้อมจะอ้าแขนรับ และผลักดันให้คุณเติบโตอย่างแน่นอนค่ะ

หากคุณผู้อ่านท่านใดกำลังประสบปัญหา หรือไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไรใน Black Company ดี ผู้เขียนขอแนะนำให้ศึกษากฎหมายแรงงานไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาสิทธิ์ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะ Black Company มักใช้ลูกเล่นหรือช่องโหว่ทางทางกฎหมายในการเอาเปรียบลูกจ้าง อย่างไรก็ดี หากทางบริษัทกระทำการขัดต่อกฎหมายจริงย่อมต้องมีบทลงโทษอย่างแน่นอนค่ะ ทางลูกจ้างเองก็ควรเก็บหลักฐานต่าง ๆ ไว้ใช้อ้างอิงในชั้นศาลด้วย และโปรดจำไว้ว่า การที่เราจะลาออกจากที่ไหนสักที่ไม่ใช่เรื่องผิด (แม้ว่าบริษัทจะพร่ำบอกว่าคุณน่ะผิด คุณน่ะเห็นแก่ตัวก็เถอะ)

อ้างอิงเนื้อหาจาก Kotobank, Blackcorpaward
ผู้เขียน : A Housewife Wannabe

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save