ต้องบอกเลยว่า โควิดระลอกใหม่รอบนี้ ณ ปี 2021 มีผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจริงๆ ราคาหุ้นเฉลี่ยที่นิคเคอิเองก็ยังตกลงไปกว่า 500 เยน (ณ วันที่ 20 เมษายน) ภาวะฉุกเฉินก็ประกาศไปแล้ว มาถึงขั้นนี้แล้ว โอลิมปิกที่กรุงโตเกียวจะได้จัดไหมยังน่าคิดนะครับ
สำหรับธุรกิจก่อสร้างของญี่ปุ่นนั้น ภาพรวมในปี 2020 คือ มูลค่าการจ้างงานก่อสร้างของบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ 50 บริษัท ลดลง 8.5% จากปีก่อนหน้า (2019) คิดเป็นมูลค่า 14,316,900 ล้านเยน (ลดลงครั้งแรกในรอบสองปี) เมื่อดูแยกเป็นมูลค่าการจ้างงานงานก่อสร้างภายในประเทศกับในต่างประเทศ ภายในประเทศญี่ปุ่นลดลง 7.4% คิดเป็นมูลค่า 13,813,000 ล้านเยน ในต่างประเทศ (นอกประเทศญี่ปุ่น) ลดลง 31.2% คิดเป็นมูลค่า 503,900 ล้านเยน
อย่างไรก็ดี ในขณะที่มูลค่าออเดอร์งานก่อสร้างลดลง มูลค่าการจ้างงานโยธา เช่น การสร้างถนน เสาไฟฟ้า กลับเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐ มูลค่าการจ้างงานโยธาในปี 2020 เพิ่มขึ้น 8.6% คิดเป็นมูลค่า 5,144,300 ล้านเยน (เพิ่มขึ้นติดกันเป็นปีที่สอง)
อย่างไรก็ดี (อีกครั้ง) พอเข้าปีนี้ 2021 เดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ มูลค่าการจ้างงานก่อสร้างของบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ 50 บริษัท เพิ่มขึ้น 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 2,293,600 จากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการเริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้การเจรจาทางธุรกิจคืบหน้าไป นอกจากนี้มูลค่าของงานก่อสร้างในมือของบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ 50 บริษัท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2021 เพิ่มขึ้น 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 17,372,000 ล้านเยน
แล้วกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่รอบนี้จะเป็นอย่างไร?
ขึ้นอยู่กับว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ หากคราวนี้ยังควบคุมได้ อาจมีหวังที่จะมีการจ้างงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่นการพัฒนาเมืองใหม่ รวมไปถึงโครงการใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับงาน Kansai Expo ที่โอซาก้าที่จะมีจัดขึ้นในปี 2025
แล้วเมืองไทยเป็นอย่างไร?
เมืองไทยมีบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 22 บริษัท โดยมีสัดส่วนการรับงานภาครัฐ (งานราชการ)/ภาคเอกชนอยู่ที่ 55:45 ซึ่งผลกระทบจากโควิด ณ ปี 2020 นั้น อย่างแรกคือโครงการภาคเอกชนหลายๆ โครงการถูกเลื่อนแบบไม่มีกำหนดหรือถูกยกเลิกไป (สะท้อนในรูปของการออกใบอนุญาตก่อสร้าง คอนโดมิเนียม บ้าน ตึกแถว สำนักงานให้เช่า ไปจนถึงโรงงาน ที่ปรับตัวลดลง) ซึ่งผลกระทบหนักๆ จะตกแก่ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็กที่ “รับเหมาช่วง” ต่อจากบริษัทใหญ่ๆ อีกทีหนึ่ง เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงินมาหมุนจ่ายเงินกู้ ก็อาจต้องล้มไป
อย่างที่สอง แม้ว่าโครงการก่อสร้างภาครัฐ (งานราชการ) ยังคงเติบโตได้ (ซึ่งจัดเป็นงานโยธาทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่น) เช่นงานสร้างถนน งานชลประทาน งานเมกะโปรเจ็กต์จำพวกรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ ก็ตาม แต่ภาวะโควิดทำให้การจัดหาวัสดุก่อสร้างลำบากขึ้น (เนื่องจากร้านโมเดิร์นเทรดปิด) งานกะกลางคืนที่ชะงักเพราะเคอร์ฟิว แรงงานต่างด้าวย้ายออกทำให้แรงงานลดลง ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ต้องปรับตัวบริหารจัดการกันไป
ก็ต้องสู้กันต่อไปนะครับ เพราะในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” จริงๆ การลงทุนก่อสร้างที่ลดลงมันกระทบไปหมดจนถึงแรงงานก่อสร้างกันเลยทีเดียว พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ
สรุปเนื้อหาจาก ichiyoshi ข่าวสารจุฬา และ BLT