[รีวิว] ข้อคิดที่น่าสนใจจากหนังสือ “51 วิธีคิดของลูกน้องที่หัวหน้าอยากสนับสนุน”

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้อาจจะมาแปลกนิดนึงนะคะเพราะไม่ได้จะมาแนะนำอะไรจากญี่ปุ่น แต่วันนี้จะมานำเสนอข้อคิดหรือประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ “51 วิธีคิดของลูกน้องที่หัวหน้าอยากสนับสนุน” ที่ผู้เขียนเพิ่งอ่านจบไปไม่นานค่ะ

เนื่องจากว่าผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาโท สาขาการสื่อสารและวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเทอมนี้ก็มีโอกาสได้เรียนวิชาวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในบริษัทหรือวิธีการทำงานในแบบของคนญี่ปุ่น แล้วอาจารย์ผู้สอนก็ได้บอกให้ลองไปอ่านหนังสือเล่มนี้ดู หลังจากนั้นจึงมา discussion กันในห้องเรียน ตัวผู้เขียนเองพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่มากมาย จึงอยากจะนำมาแนะนำและบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ จากหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนได้รู้กันค่ะ

ประวัติการทำงานของผู้เขียนหนังสือมากประสบการณ์

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Matsuo Iwata (@matsuo_iwata) on

Iwata Matsuo เกิดปี 1958
– จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า
– เข้าทำงานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เป็นที่แรก
– ได้รับทุนไปเรียนที่อเมริกาเป็นเวลา 2 ปี
– กลับมาแล้วเข้าทำงานที่บริษัท เจมิไน คอนซัลติง เจแปน (ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ)
– บริษัท โคคา-โคล่า เจแปน
– บริษัท แอตลัส (ผลิตสื่อและสิ่งบันเทิง) ต่อมาได้ขึ้นเป็นประธานบริษัท
– กรรมการผู้จัดการของบริษัท ทาคาระ
– ประธานของเดอะ บอดี้ช็อป เจแปน
– ซีอีโอของ สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ เจแปน
– ปัจจุบันเป็นสมาชิกองค์กรส่งเสริมนวัตกรรมของญี่ปุ่น พร้อมทั้งทุ่มเทความสามารถให้กับการพัฒนาผู้บริหารคลื่นลูกใหม่

คุณอิวาตะมีประสบการณ์การทำงานที่โชกโชนมาก ไต่เต้าตั้งแต่ยังเป็นพนักงานธรรมดาไปจนถึงเป็นซีอีโอของสตาร์บัคส์ ทำให้คุณอิวาตะสามารถเขียนหนังสือเล่มนี้โดยใช้มุมมองจากทั้งฝั่งหัวหน้าและลูกน้อง

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะคิดเหมือนผู้เขียนนะคะว่าเป็นประโยคที่พูดง่ายแต่ก็ทำยากเสียเหลือเกิน แต่เรื่องของความพยายามเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณอิวาตะได้แชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่ต้องใช้ความพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบ ถนัดหรือไม่ถนัด แต่ถ้าได้รับหน้าที่มาแล้วก็จะต้องพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด และคุณอิวาตะยังมองว่า แม้ว่าความพยายามเหล่านั้นจะไม่มีใครมองเห็น แต่สักวันมันจะต้องผลิดอกออกผลอย่างแน่นอน

ตัวคันจิแรก ๆ ที่เด็กญี่ปุ่นต้องเรียนก็คือคำว่า 努力 (Doryoku) แปลว่าความพยายาม เรียกได้ว่าความพยายามกับคนญี่ปุ่นนี่เป็นของคู่กันเลยนะคะ เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดและคอยย้ำเตือนว่าจะเป็นคนย่อหย่อนไม่ได้ หากใจเราคิดว่าทำได้ เราก็จะทำได้ แต่ถ้าใจเราไม่สู้ ยังไงก็ไม่มีวันทำได้ ความรู้สึกขี้เกียจหรือท้อถอยมีอยู่ในตัวทุกคน แต่ถ้าเราฮึดสู้และพยายามต่อไป ถึงแม้ผลลัพธ์จะไม่สำเร็จดังที่หวังไว้ แต่ก็ถือเป็นข้อดีที่ได้เราฝึกฝนตัวเองมาตลอด

ตั้งเป้าหมาย

ในช่วงชีวิตการทำงานของคุณอิวาตะ เขามักจะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองอยู่เสมอแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตตกต่ำสุด ๆ มีช่วงหนึ่งที่คุณอิวาตะต้องไปเป็นพนักงานขายรถซึ่งเป็นงานที่เขาไม่ปลื้มสักเท่าไหร่ แต่เขาก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำยอดขายให้ได้สูงที่สุดเพื่อรับรางวัลพนักงานดีเด่นจากท่านประธาน ซึ่งเขาก็สามารถทำได้จริง ๆ ประโยคหนึ่งจากหนังสือที่ผู้เขียนอยากจะยกมาให้ทุกคนอ่านก็คือ

ช่วงที่รู้สึกว่าชีวิตลำบาก หากไม่ตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง เราก็มีแนวโน้มจะหมดกำลังใจไปเรื่อย ๆ

เวลาที่ชีวิตเราประสบปัญหา ถ้าไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย การสร้างกำลังใจด้วยตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มกำลังใจให้เราพยายามไปให้ถึงฝั่งฝันได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่า เป้าหมายกับความพยายามนั้นเกี่ยวข้องกันโดยตรงเลยนะคะ เพราะฉะนั้น ลองตั้งเป้าหมายให้กับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต เราจะยิ่งมองเห็นหนทางที่ชัดเจนและมีกำลังใจในการทำสิ่งนั้นมากขึ้นค่ะ

โฮเร็นโซ

คำว่าโฮเร็นโซ ย่อมาจากคำศัพท์ 3 คำคือ 報告 (Houkoku) การรายงาน, 連絡 (Renraku) การติดต่อ และ 相談 (Soudan) การปรึกษา การโฮเร็นโซเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นนิยมใช้กันมาก เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น จากที่ได้ discuss กันในห้องเรียนนั้นมองได้ว่า ในบริบทการทำงาน คนญี่ปุ่นอาจจะไม่ค่อยได้สื่อสารกันมากเท่ากับคนไทย ถ้าไม่มีการสื่อสาร การทำงานก็เป็นไปได้ยาก การโฮเร็นโซจึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องกับหัวหน้าได้พูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจให้กันแล้ว การโฮเร็นโซบ่อย ๆ จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ตรงกันว่า ต้องการให้งานออกมาแบบไหนหรือจะแก้ไขข้อบกพร่องอย่างไร งานก็จะออกมาผิดพลาดน้อยกว่าการที่ต่างคนต่างทำโดยไม่ปรึกษากัน

ทำเกินไว้ก่อน

ลักษณะพิเศษในการทำงานของคนญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งคือมองว่าทำให้เกินไว้ก่อนดีกว่า เรียกได้ว่าเหลือดีกว่าขาด เพราะเป็นการบ่งบอกว่าเรามีข้อมูลพร้อมตลอดเวลา ไม่ต้องเทียวไปเทียวมาหาข้อมูลทีละนิด ๆ หรือต้องคอยถามหัวหน้าบ่อย ๆ การทำเกินไว้ก่อนจะทำให้คนอื่น ๆ มองว่าเราเป็นคนรอบคอบ คิดถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ซึ่งอาจจะต่างกับแนวคิดของคนไทยหรือคนฝรั่งที่มักจะกำหนดกรอบไว้แค่หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

แยกแยะ “ข้อเท็จจริง” กับ “ความคิดเห็น” ออกจากกันให้ได้

การโฮเร็นโซกับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่านั้นเป็นธรรมดาที่จะรู้สึกประหม่า และไม่อยากให้มีอะไรผิดพลาด แต่เมื่องานมีปัญหา บางคนกลับเลือกที่จะพูด “ความคิดเห็น” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” อย่างเช่น ข้อเท็จจริงคือลูกค้าโมโหมาก แต่กลับพูดออกไปว่าไม่เป็นไร ซึ่งมันคือความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การพูดข้อเท็จจริงจะทำให้หัวหน้าช่วยแก้ปัญหาให้ได้ง่ายกว่า

ผู้เขียนมองว่าเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” กับ “ความคิดเห็น” เป็นเรื่องที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกพาร์ทในชีวิตเลยนะคะ การยอมรับความจริงย่อมดีกว่าการหาข้อแก้ตัวเสมอ เพราะถึงจะแก้ตัวรอดไปแล้ว แต่ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป การแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็นของตัวเองจึงเป็นวิธีที่จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ลักษณะเด่นของคนญี่ปุ่นอีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือจิตสำนึกต่อส่วนรวมหรือการคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ อย่างในบริบทการทำงาน การคำนึงถึงอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่นการส่งอีเมล ก็ไม่ควรเกริ่นเยอะแต่ควรจะเข้าประเด็นให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเสียเวลา รวมไปถึงการ CC หรือ BCC คนอื่นโดยไม่จำเป็น อาจจะทำให้หลาย ๆ คนต้องมาเสียเวลาอ่านเมลที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

การคำนึงถึงผู้อื่นที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็นบรรดาสินค้าและบริการต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการคิดและออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด ถ้าเทียบกับคนไทยแล้ว คนไทยอาจจะยังมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ไม่เท่าคนญี่ปุ่น แต่เราก็สามารถค่อย ๆ ช่วยกันทีละเล็กทีละน้อยได้ ผู้เขียนมองว่าการคำนึงถึงผู้อื่นเสมอเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

อย่ายึดติดกับความสำเร็จ

ในหนังสือมีประโยคหนึ่งเขียนไว้ว่า

ความสำเร็จที่ได้มาเพราะโชคนั้นต่างจากความสำเร็จที่ได้มาเพราะความพยายามมาก

คุณอิวาตะมองว่าเราไม่ควรจะยึดติดกับความสำเร็จมากเกินไป แต่ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการว่าเราพยายามมากพอหรือยัง บางคนที่ยึดติดกับความสำเร็จ เมื่องานออกมาไม่ดี ก็เที่ยวโทษคนนู้นคนนี้จนอาจจะลืมมองตัวเองว่าทำได้มากแค่ไหน ดังนั้น เวลาที่งานไปได้สวยให้มองว่าเป็นเพราะ “โชคดี” แต่ถ้างานไม่สำเร็จก็ให้มองว่า “พยายามน้อยเกินไป”

บางคนหลงคิดว่าจะโชคดีแบบนี้ไปตลอด งานจะไปได้ด้วยดีแบบนี้ตลอด จนหลงลืมที่จะพัฒนาตนเอง แต่โชคก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ซึ่งช่วงที่มีโชคนี่แหละที่เราจะไม่ได้ประสบการณ์และขาดการฝึกฝนมากที่สุด การจะคิดว่าเราทำสำเร็จได้เพราะความพยายามก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องไม่หลงลืมที่จะฝึกฝนตนเองให้มากขึ้นต่อไป

ให้หัวหน้าแย่ ๆ เป็นครู

บางคนโชคร้ายได้หัวหน้าที่ไม่ค่อยดี ไม่ถูกใจ หรือเข้ากันไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าการทำงานนั้นไม่สนุก น่าเบื่อ หรืออยากลาออก หรืออาจจะคิดว่าคนแบบนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ยังไง จริง ๆ แล้วหัวหน้าก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราจะมองหัวหน้าของเราในมุมมองแบบไหน คนที่ได้หัวหน้าดี ๆ ก็ถือว่าโชคดีไป เพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากหัวหน้าเก่ง ๆ แต่หารู้ไม่ว่าเราก็สามารถเรียนรู้จากหัวหน้าที่แย่ ๆ ได้เช่นกัน เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือสิ่งไหนไม่ควรทำ ถ้าวันใดวันหนึ่งเราขึ้นเป็นหัวหน้า เราก็ไม่ควรจะปฏิบัติตัวแบบนี้ต่อลูกน้องเช่นกัน หรือลองพยายามมองข้อเสียเหล่านั้นให้เป็นข้อดี อย่างเช่น หากมีหัวหน้าที่ขี้บ่น จุกจิก จู้จี้ ลองมองให้เป็นข้อดีว่าเพราะหัวหน้าต้องการให้ทำงานอย่างละเอียด รอบคอบ และถูกต้อง ก็อาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้บ้าง ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ที่มุมมองของเรา หากเราปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนอื่น ก็อาจจะทำให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสะดวกใจมากขึ้น

ความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องเลวร้าย

บริบทสังคมของญี่ปุ่นนั้นมักจะมีความคาดหวังอยู่ลึก ๆ ว่าจะต้องทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาคนอื่นมากเกินไปเพราะจะเป็นการรบกวน และควรจะแก้ไขปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง mindset เหล่านี้อาจจะทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกกดดัน มีความเครียด เมื่อเกิดปัญหาในชีวิตก็หาทางออกได้ยาก หรือแย่สุดก็จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ในประเด็นนี้ คุณอิวาตะได้เขียนไว้ในหนังสือว่า ความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ทุกคนมีความอ่อนแอได้ จากประสบการณ์การทำงานของคุณอิวาตะก็เคยรู้สึกอ่อนแอมาก่อนถึงขนาดร้องไห้อยากกลับบ้านที่โอซาก้า แต่ก็ได้ภรรยาที่คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือ และแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ จนผ่านช่วงชีวิตนั้นมาได้

คุณอิวาตะมองว่าความอ่อนแอที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ถ้าหากเราไม่เคยมีปัญหาหรือไม่เคยอ่อนแอ เวลาเจอคนที่อ่อนแอ เราก็อาจจะเผลอไปโมโหใส่ว่าทำไมเรื่องแค่นี้ถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงไม่อดทน แต่ถ้าเราเคยอ่อนแอมาก่อนก็จะทำให้เราเป็นคนมีเมตตา เข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายว่ารู้สึกอย่างไร เป็นการเห็นใจอีกฝ่ายมากขึ้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้เท่านั้นนะคะ จริง ๆ แล้วยังมีข้อคิดหรือประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องเลย บางอย่างอาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างไปจากคนไทยมาก เนื่องด้วยวัฒนธรรมและการปลูกฝังที่แตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานของคนญี่ปุ่นซึ่งถ้าเราไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนญี่ปุ่นเลยก็อาจจะไม่เคยได้เห็นมุมมองแบบนี้มาก่อน นอกจากบริบทระหว่างลูกน้องกับเจ้านายในบริษัทญี่ปุ่นแล้ว หลาย ๆ อย่างก็สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของคนไทย หรือปรับใช้กับพาร์ทอื่น ๆ ในชีวิตได้เช่นกันนะคะ

จริง ๆ แล้วมีหนังสือที่เป็นคู่กันอีก 1 เล่มซึ่งเคยวางจำหน่ายมาก่อนแล้ว คือ “51 วิธีคิดของหัวหน้าที่ลูกน้องอยากทำงานด้วย” ใครที่สนใจอยากจะไปลองซื้อมาอ่านดูบ้างทั้ง 2 เล่ม ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปค่ะ เป็นหนังสือหมวดธุรกิจจากสำนักพิมพ์ WE LEARN ราคา 240 บาท รับรองว่าเมื่อได้อ่านแล้วจะช่วยเพิ่มกำลังใจและพลังบวกในการทำงานได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ^^

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save