ทำไมญี่ปุ่นมี SMEs เยอะ และคำพูดว่า “SMEs ค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่” เป็นจริงแค่ไหน?

sme cover

ใครที่เคยดูซีรีส์ญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นได้บ่อย ๆ ว่า ที่ญี่ปุ่นจะมีตัวละครที่มีพื้นฐานครอบครัวเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เห็นเป็นประจำ เช่น มีโรงงานเล็ก ๆ ของที่บ้าน มีกิจการร้านอาหารของที่บ้าน มีกิจการร้านขนมของที่บ้าน มีกิจการร้านเหล้าของที่บ้าน ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าเป็นซีรีส์เกี่ยวกับธนาคารอย่างเรื่อง Hanzawa Naoki (เฉือนคมนายธนาคาร) หรือเรื่อง Hanasaki Mai (ฮานาซากิ ไม เธอจะไม่เงียบ) แล้วล่ะก็ จะมีตัวละครเจ้าของ SMEs โผล่มาให้เห็นเกือบจะทุกตอน เคยมีใครสงสัยหรือไม่ว่าทำไมที่ญี่ปุ่นถึงมี SMEs เยอะจัง?

จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

sme 1

ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค. ศ. 1939-1945) ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและประเทศย่อยยับอย่างหนัก โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกทำลายเพราะการโจมตีทางอากาศระหว่างสงคราม และประชากรเกือบทั้งประเทศอยู่ในภาวะอดอยาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางรากฐานโดยสหรัฐอเมริกากำหนดให้ญี่ปุ่นปลอดแสนยานุภาพทางทหาร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีงบประมาณเหลือเพียงพอมากระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตถ่านหินและเหล็ก จึงพยายามกระจายกำลังการผลิตไปยังระดับครัวเรือนทั่วไปด้วย

ในปี ค. ศ. 1948 จึงมีการก่อตั้ง the Small and Medium Enterprise Agency (中小企業庁) ขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนกิจการ SMEs อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากนั้นก็มีการเพิ่มความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านธนาคารต่าง ๆ สนับสนุนการปล่อยกู้ของธนาคารไปสู่กิจการ SMEs ให้มากขึ้น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ SMEs ด้านการจัดการงบการเงิน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีการลงทุนสร้างเครื่องจักรและโรงงานในระดับท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม

โดย SMEs เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นคู่แข่งทางตรงกับองค์กรใหญ่ ๆ แต่ดำเนินธุรกิจในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่า จะแบ่งหน้าที่และสนับสนุนกันและกันในจุดที่ตัวเองถนัด เช่น องค์กรใหญ่มีเงินทุนมหาศาล แต่เวลารับงานจากลูกค้าเจ้าใหญ่ก็จะมีการแจกจ่ายงานไปยังธุรกิจ SMEs ที่ทำสัญญากันไว้ โดย SMEs จะมีลักษณะของการเป็นผู้รับเหมา หรือเป็น Sub-Contractor หรือ Outsource ที่ไปดำเนินการในรายละเอียดอีกทอดหนึ่ง เพราะ SMEs จะมีข้อมูลระดับลึกและคุ้นเคยกับท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นมากกว่า รวมทั้งมีการบริหารกระจายสินค้าหรือโลจิสติกส์ของสินค้าได้ดีกว่าองค์กรใหญ่

sme 2

ต้องนับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเฉียบคมมาก เพราะญี่ปุ่นสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจได้จริง ใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีก็สามารถฟื้นฟูประเทศสำเร็จและขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้ ตัวอย่างการประสานงานระหว่าง SMEs และกิจการขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัดคือ ในปลายทศวรรษ 1950s ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการผลิตและกระจาย “3 ผลิตภัณฑ์แห่งพระเจ้า (三種の神器: โทรทัศน์ขาวดำ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น)” ในระดับครัวเรือนและยกมาตรฐานการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้สำเร็จ ในรายงานเศรษฐกิจแห่งชาติปี ค. ศ. 1956 ก็มีประกาศชัดเจนว่า “ประเทศเราพ้นจากภาวะสงครามแล้ว” นับว่าญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 11 ปีเท่านั้นในการฟื้นฟูประเทศจากซากปรักหักพังแห่งสงคราม

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960s ญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “3 ผลิตภัณฑ์ใหม่แห่งพระเจ้า (新・三種の神器) หรือเรียกอีกอย่างว่า 3C หมายถึง Color Television (โทรทัศน์จอสี) Cooler (เครื่องปรับอากาศ) และ Car โดยเจ้า 3C นี่เองที่ตีตลาดไปทั่วโลกและส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างน้อยในอีก 20 ปีต่อมา (1960s – 1980s) ผ่านยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเหล่านี้ (ก่อนที่จะโดนจีนและเกาหลีแย่งส่วนแบ่งตลาดในระดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน) ดังนั้นจึงไม่ได้กล่าวเกินเลยไปแต่อย่างใดที่จะพูดว่า “SMEs ค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่”

สถานการณ์ของ SMEs ญี่ปุ่นในปัจจุบัน

sme 3

ปัจจุบันญี่ปุ่นมี SMEs อยู่ประมาณ 3.8 ล้านกิจการ (เคยมีมากถึง 4.8 ล้านแห่งในช่วงก่อนปี ค. ศ. 2000 แต่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจนค่อย ๆ ลดจำนวนลงเหลือเพียง 3.8 ล้านในปัจจุบัน) ในขณะที่ของไทยยังมีเพียง 2.7 ล้านกิจการ ทั้ง SMEs ญี่ปุ่นและไทยนั้นมีอัตราการจ้างงานพอ ๆ กันคือคิดเป็นประมาณ 70% ของอัตราจ้างงานทั้งหมดของประเทศ แต่จุดต่างที่สำคัญคือ ในขณะที่ไทยมี SMEs ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพียง 18.3% แต่ SMEs ญี่ปุ่นนั้นอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากถึง 36.7% ของ SMEs ทั้งหมด (มากกว่าของไทยเป็นเท่าตัวเลย) จึงไม่แปลกที่ในซีรีส์ญี่ปุ่น เราจะเห็น SMEs ญี่ปุ่นจำนวนมากมีลักษณะของโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง และประธานบริษัทของ SMEs ในเรื่องก็จะไม่ได้เป็นท่านประธานใส่สูทผูกเนคไทเท่ ๆ มีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ แต่จะแต่งตัวเหมือนคนงานในโรงงานและลงมือผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นด้วยตัวเองกับมือ จะไม่ได้เป็นประธานของบริษัทใหญ่ ๆ หรู ๆ แบบที่ภาพลักษณ์ของ “ประธานบริษัท” ในการรับรู้ของคนไทยเท่าไร

sme 4

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายมากที่ปัจจุบัน วัยรุ่นญี่ปุ่นนิยมเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น ไม่ได้มีค่านิยมทำงานตลอดชีพเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ SMEs จำนวนมากในญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดผู้สืบทอดกิจการ และ ขาดพนักงานเข้ามาร่วมงาน เพราะพนักงานวัยรุ่นนิยมไปสมัครงานกับองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพื่อเป็นโปรไฟล์สวยหรูกับตัวเองมากกว่าทำงาน SMEs เล็ก ๆ อันแสนจะโนเนม และการทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง ยังรายได้ดีกว่า ทำงานง่ายกว่าเพราะมีการแยกแผนกชัดเจนกว่า ไม่ใช่ต้องทำงานแบบเหมาทุกแผนกเหมือนเวลาทำงานที่ SMEs อีกด้วย จึงมี SMEs ญี่ปุ่นจำนวนมากพร้อมที่จะถ่ายทอด Know-How ให้กับพันธมิตรในต่างประเทศเช่นในประเทศไทย เพื่อกอบกู้สถานการณ์ไร้ผู้สืบทอดของตัวเอง และเพื่อให้ยืดอายุของกิจการของตัวเองต่อไปได้ ใครสนใจจะสืบทอดกิจการ SMEs ของญี่ปุ่น ก็ลองศึกษากันดูไว้ไม่เสียหลายนะ

เกี่ยวกับผู้เขียน

writer weerayut
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / และที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Anngle แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save