ท่านผู้อ่านชอบกินมาม่าไหมครับ (ไวไว ยำยำ นิชชิน ก็ได้นะครับ มาม่าไก่เผ็ดแบบซองของเกาหลีก็ได้นะครับ) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือว่าเป็นนวัตกรรมของญี่ปุ่นที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในโลกทุนนิยมยุคปัจจุบันเลยทีเดียว มันอาจไปไกลถึงขั้นเป็นสัญลักษณ์ของอาหารราคาถูก (ซึ่งพ่วงมากับคำว่า ด้อยคุณค่าทางอาหาร ไม่ดีต่อสุขภาพ กินแล้วอ้วน โซเดียมสูง บลาๆ) การทำอะไรเอาสะดวกเข้าว่า (คนจีนเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า ฟางเปี้ยนเมี่ยน 方便面 “หมี่สะดวก” เลยนะครับ) และชีวิตที่เร่งรีบ แต่ประเด็นคือความเป็น “อาหารราคาถูก” นี่แหละครับ และเป็นประเด็นที่วันนี้จะมาพูดถึงกันในเรื่องที่ว่า ที่ญี่ปุ่นในภาวะโควิด ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเรียกได้ว่า “พุ่งกระฉูด”
จากข้อมูลของ “รายงานการสำรวจครัวเรือน” (คำว่าครัวเรือนในที่นี่คือบ้านที่อยู่กันสองคนขึ้นไป) ของกระทรวงกิจการรวมและการออกอากาศของญี่ปุ่น ปรากฏว่าจากการที่โควิดระบาดระลอกใหม่ในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 จำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการซื้อบะหมี่ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ทั้งบะหมี่ถ้วยและบะหมี่ซอง) เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขนาดที่ว่าเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2019 นั้นเพิ่มขึ้น 11.8% หรือคิดเป็นเงินเราว 1,540 เยน แล้วยิ่งหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ที่ระบาดหนักๆ เปอร์เซ็นต์นั้นเพิ่มเป็นเลขสองหลักเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน คนญี่ปุ่นกลับซื้อ “ข้าวสาร” และ “ขนมปัง” น้อยลง จำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวสารในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ลดลง 6.1% เทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2019 หรือคิดเป็นเงินราว 1,847 เยน ส่วนขนมปัง 2.1% เทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2019 หรือคิดเป็นเงินราว 2,583 เยน
ทำไมถึงลดลง?
เราอาจอนุมานได้ว่าการบริโภคขนมปังมีความเกี่ยวพันกับการออกไปนอกบ้านบ่อยๆ เช่น เดินไปร้านสะดวกซื้อ การซื้อเพื่อพกไปกินที่อื่น ซึ่งพอยุคโควิดคนออกนอกบ้านน้อยลง การซื้อก็น้อยลง ส่วนข้าวสารนั้นอาจได้ผลกระทบทางอ้อมจากการที่คนออกไปซื้อข้าวกินนอกบ้านน้อยลง ข้าวสารก็เหลือเยอะ ไหนจะเรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีก (หุงข้าวกินก็ต้องซื้อกับข้าว มันเปลืองกว่ากินมาม่าถ้วยหนึ่งหรือซองหนึ่งซึ่งฉีกซองใส่น้ำร้อนแล้วก็จบ)
การที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีคนซื้อเยอะที่ญี่ปุ่นทำให้การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นไปด้วย จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปญี่ปุ่น (日本即席食品工業協会) ยอดการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเดือนกันยายนปี 2020 เพิ่มขึ้น 5.2% เทียบกับเดือนกันยายนปี 2019 หรือคิดเป็นเงินราว 53,310 ล้านเยน (15,505 ล้านบาท!) แม้แต่บะหมี่ซองที่อุปสงค์เคยลดลงก็กลับมาฟื้นตัวอีก ซึ่งตราบใดที่การกักตัวอยู่แต่ในบ้านหรือในห้องของคนญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป เชื่อว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะยังคงขายดีต่อไปได้เรื่อยๆ แน่นอน
ในขณะที่ในญี่ปุ่นอุปสงค์และอุปทานต่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศเพิ่มขึ้น เกาหลีใต้ไปไกลกว่านั้นถึงขั้นตั้งใจทำขายส่งออก เป็นที่กล่าวกันว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2020 เกาหลีใต้ส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้คิดเป็นมูลค่า 549.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 28% เทียบกับปี 2019 โดยตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน (138.56 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามด้วยสหรัฐอเมริกา (72.84 ล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (44.98 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทย (24.66 ล้านเหรียญสหรัฐ) และฟิลิปปินส์ (22.37 ล้านเหรียญสหรัฐ)
โอโฮ เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็กินมาม่าเป็นแล้วเหรอ 55 แถมมาม่าเกาหลีนี่ยังอุตส่าห์ไปตีตลาดญี่ปุ่นอีกนะ (ฮึ่ม)
พร้อมส่ง
รามยอนเกาหลี
เผ็ด = 75฿
เผ็ด ×2 = 75฿
ชีส = 85฿
แบบเย็น ซองฟ้า 75฿#รามยอน #มาม่าเกาหลี #มาม่าเผ็ดเกาหลี #มาม่าเกาหลีพร้อมส่ง pic.twitter.com/8DirM6xdnz— ks_kpopshoppp (@ks_kpopshoppp) April 27, 2017
ในประเทศเกาหลีใต้เองคนที่นั่นก็ชอบกินบะหมี่สำเร็จรูปเอามากๆ (พูดแล้วนึกถึง “บูแดจิเก” แกงกองทหาร ใส่มาม่าเกาหลี ใส่ไส้กรอก อืม…อิ่ม) แต่สาวๆ ระวังนะครับ ถ้าหนุ่มเกาหลีชวนว่า “ไปกิน “รามยอน” (มาม่าเกาหลี) ที่บ้านกันไหม” ละก็ ระวังอย่าพาซื่อคิดว่าชวนไปกินบะหมี่สำเร็จรูปเฉยๆ ล่ะ อาจหมายถึงว่าหนุ่มเกาหลีคนนั้นเขาอาจจะชวนไปโซเดมาคอมกันก็ได้นะครับ 55 (เห็นว่าเป็นมุกที่มีที่มาจากละครเกาหลี แต่ญี่ปุ่นคงไม่มีเรื่องพรรค์นี้หรอกนะครับ)
ท่านผู้อ่านชอบบะหมี่กึ่สำเร็จรูปรสไหนยี่ห้อไหนที่สุดครับ? ผู้เขียนชอบไวไวคลาสสิกซองแดงๆ น่ะครับ คลาสสิกไม่แพ้ “ชิกิ้นราเมง” แบบซองของนิชชินเลย ส่วนมาม่าเกาหลี นานๆ ได้กินทีครับเวลาไปร้านอาหารเกาหลี แบบจับคู่มากับคิมบับ (ข้าวห่อสาหร่ายเกาหลี) ก็อรอยดีนะครับผม กินแต่น้อยและออกกำลังสม่ำเสมอนะครับ สวัสดีครับ

สรุปเนื้อหาจาก ichiyoshi, brandinside และ a day