ยอดขายเครื่องจักรก่อสร้างญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น หรือสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังจะมา?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างแห่งญี่ปุ่น (日本建設機械工業会) ได้เปิดเผยรายงานมูลค่ายอดขายเครื่องจักรก่อสร้าง ณ เดือนสิงหาคม 2021 โดยระบุว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเครื่องจักรก่อสร้างที่สำคัญของโลกนะครับ (ถึงจะเรียกว่าเครื่องจักรก่อสร้างแต่ก็รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เหมืองแร่ เหมืองหิน อุตสาหกรรมป่าไม้ หรือแม้แต่เครื่องจักรการเกษตร) เช่น รถแทรกเตอร์, รถดัน (บูลโดเซอร์), รถตักล้อยาง (วีลโหลดเดอร์), รถขุดแบบไฮดรอลิก (ที่บางทีเรียกกันว่า รถแบคโฮ รถแมคโคร ซึ่งอันหลังผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าเรียกแบบนั้นได้ยังไง), รถขุดขนาดเล็ก, รถบดถนน, ปั้นจั่น (เครน) ก่อสร้าง ฯลฯ

บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างรายใหญ่มีอยู่ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท โคมัตสึ, บริษัท ฮิตาชิเครื่องจักรก่อสร้าง, บริษัท โตโยต้าอุตสาหกรรม และบริษัท คุโบตะ (ที่คนไทยคุ้นเคยว่าคูโบต้านั่นไงครับ) โดยบริษัทโคมัตสึทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น และเป็นลำดับที่สองของโลกรองจากบริษัท แคทเธอร์พิลลาร์ ที่เป็นของสหรัฐอเมริกา

ยอดขายเครื่องจักรก่อสร้างดีมาตลอด แต่ตกลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ตามหลังจากนั้นยอดขายก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา อาทิ ยอดขายเฉพาะเครื่องจักรก่อสร้างไม่รวมอะไหล่ในเดือนสิงหาคม 2021 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 52.6% จึงเห็นได้ว่า กิจกรรมการก่อสร้างทั้งในและนอกประเทศเริ่มฟื้นตัวจึงทำให้มีความต้องการเครื่องจักรก่อสร้างเพิ่มขึ้น เฉพาะในดือนสิงหาคม 2021 ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.1% อยู่ที่ 64,500 ล้านเยนเป็นครั้งแรกในรอบสองเดือน และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอยู่ที่ 116,200 ล้านเยนต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สิบแล้ว

เมื่อมาดูยอดขายเครื่องจักรก่อสร้าง 4 ประเภทหลักได้แก่ รถขุดแบบไฮดรอลิก รถขุดเล็ก รถแทรกเตอร์ และปั้นจั่นก่อสร้าง เทียบช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 3 ปีย้อนหลัง ปรากฏว่ายอดขายเครื่องจักรเกือบทุกประเภทในปี 2020 ลดลงจากปี 2019 ก็จริง แต่ในปี 2021 มียอดขายสูงขึ้นกว่าในปี 2019 ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดเสียอีก โดยเป็นผลมาจากมาตรการรับมือกับโรคไวรัสโควิด-19 เช่นการฉีดวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ยอดขายปั้นจั่นก่อสร้างในปี 2021 กลับลดต่ำลงจากปี 2019 และปี 2020 เนื่องจากปั้นจั่นนั้นเป็นของที่ใช้ในการก่อสร้างภาคเอกชน ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัว

สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างแห่งญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงปี 2021 (นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 ถึงเดือนมีนาคม 2022) มูลค่ายอดขายเครื่องจักรก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 2,218,200 ล้านเยน ซึ่งคาดว่าปี 2022 จะมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นอีก 3.6% คิดเป็น 2,297,900 ล้านเยน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ

ถ้าเครื่องจักรก่อสร้างเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากเท่าไร แปลว่ากิจกรรมก่อสร้างต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจและการลงทุนกำลังเริ่มเดินหน้าจากที่เคยชะงักนะครับ ดูทรงแล้วถ้าหลายธุรกิจฟื้นตัวได้แบบนี้ในปีเดียว ผู้เขียนก็หวังว่าอะไรหลาย ๆ อย่างคงจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ สวัสดีครับ

สรุปเนื้อหาจาก ichiyoshi และ Piece of Japan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save