หากท่านผู้อ่านท่านชอบติดตามอ่านเรื่องธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องการลงทุน เรื่องธุรกิจสตาร์ตอัพ ต้องเคยได้ยินชื่อนาย “ซน มาซาโยชิ” (孫正義) ประธานบริหารบริษัท Softbank แน่นอน ซึ่งพฤติการณ์ของเขาในฐานะนักธุรกิจนั้น บางคนก็ว่าเขานักขายฝันที่กล้าและบ้าจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “อีลอน มัสก์” แห่งโลกตะวันออกเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะรู้จักเขาจากการที่เขาเป็น “เจ้าของ (นายทุน) ตัวจริง” ของอาลีบาบาจนร่ำรวย และการที่เขาเจ็บตัวหนักมากกับการลงทุนในอุตสาหกรรม Ride Sharing และ WeWork ต้องยอมรับว่าลีลาธุรกิจของนายซนนี่ทำอะไรเหนือสามัญสำนึกจริงๆ แบบเล่นจริงเจ็บจริง กล้าได้กล้าเสียและเวลาเสียก็กล้ายืดอกรับด้วยว่า “ผมพลาดเอง” มันน่าสนใจใช่ไหมครับว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีนิสัยและความคิดอ่านแบบไหน? วันนี้จะมาขอโฟกัสชีวิตในวัยเด็กของเขากันครับ ซึ่งก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเป็นวัยเด็กที่ลำบากยากเข็ญมิใช่น้อย ด้วยความที่เป็นคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Zai-Nichi 在日) จึงถูกรังแกรังเกียจ ตอนอยู่โรงเรียนอนุบาล เขาถูกเด็กญี่ปุ่นด่าว่าเป็น “ไอ้เกาหลี” แถมเคยโดนปาก้อนหินจนหัวแตก (ถ้าใครจะว่าคนญี่ปุ่นเลวจริง แค่เป็นคนเกาหลีถึงกับต้องลงไม้ลงมือ ก็คงใช่ครับ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถึงคนไทยจะไม่ถึงกับลงไม้ลงมือ แต่ก็มีความเหยียดหรือเลือกปฏิบัติอยู่ในทีเหมือนกัน กล้าปฏิเสธไหมครับว่าคนไทยไม่เคยใช้คำจำพวก “เจ๊ก” “ไอ้ลาว” อย่างไรก็ดีสังคมไทยก็ยังเปิดช่องให้คนในสังคมแต่งงานข้ามชาติพันธุ์กันได้ในระดับหนึ่ง พอมาถึงคนรุ่นสองรุ่มสามมันก็ผสมปนเปกันไปหมดแล้ว พอผสมกันความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราก็เจือจางลงไปได้แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์)
นายซนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมต้องใช้ชื่อและนามสกุลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ยาสุโมโตะ มาซาโยชิ” (安本正義) จนกระทั่งผมย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตอนอายุ 16 ปี พอผมกลับมาจากอเมริกาแล้วมาตั้งบริษัท ผมมีทางเลือกสองทางคือยังใช้นามสกุลญี่ปุ่นว่า “ยาสุโมโตะ” ตามที่ญาติๆ ทุกคนใช้ หรือจะใช้นามสกุล “ซน” 孫 ตามอย่างบรรพบุรุษ คือในพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวนั้นใช้นามสกุลเดิมว่า “ซน” แต่เวลาจะเรียกอย่างสามัญก็ใช้นามสกุลญี่ปุ่นว่ายาสุโมโตะ”
(ข้อนี้ ผู้เขียนก็แปลกใจนิดหน่อย ดูเหมือนทางการญี่ปุ่นจะอยากขีดเส้นให้คนเกาหลีเป็นเกาหลี ไม่เป็นญี่ปุ่นได้เต็มตัว จึงยังต้องให้ใช้นามสกุล “เกาหลี” อยู่ กรณีของไทยนั้น ขบวนการทำให้คนจีนกลายเป็นไทยที่ได้ผลทางจิตวิทยาที่สุดอย่างหนึ่งคือการบังคับแบบกลายๆ ไม่ให้คนเชื้อสายจีนใช้ “แซ่” แล้วต้อนให้คนเชื้อสายจีนเปลี่ยนมาตั้งนามสกุลไทยใช้อย่างเป็นทางการในบัตรประชาชน คือสลายความเป็นต่างด้าว ประมาณว่าถ้าอยากเป็นคนไทยอยากรับราชการหรืออะไร ก็ต้องแปลงกายเป็นไทย ชื่อไทยนามสกุลไทย พอมาลูกหลานรุ่นที่สองสามก็กลายเป็นคนไทยไปเสียแล้ว)
“คือถ้าอยากอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ใช้นามสกุลยาสุโมโตะมันก็จะดีกว่า มีคนบันเทิงและนักกีฬามากมาย (ที่เป็น “คนเกาหลีในญี่ปุ่น”) ที่ใช้ “ชื่อภาษาญี่ปุ่น” เวลาทำงานในวงการ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ แต่ผมเป็นคนแรกที่กล้าสวนกระแสญาติๆ ของผมโดยการกลับไปใช้นามสกุล “ซน””
แม้ทุกวันนี้ การเป็น “คนเกาหลีในญี่ปุ่น” ก็ยังมีอุปสรรคชีวิตบางอย่าง ที่อาจมองก็ไม่เห็น พูดออกมาก็ไม่ได้
“มันย่อมต้องมีคนที่เสียใจและทุกข์ทรมานจากตรงนี้ มีเด็กเล็กๆ อีกมากมายที่ก็ถูกเลือกปฏิบัติเพราะพวกเขาเกิดมาก็มีสายเลือดแบบนั้น สมัยผมเรียนชั้นประถมถึง ม.ต้น ผมเคยทุกข์ใจเสียจนอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว ถึงขนาดเคยคิดเลยว่าจะฆ่าตัวตายให้ได้จริงๆ การเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์นี่มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดจริงๆ นะครับ”
เรื่องนี้นำไปสู่การไม่ไยดีกับคำคัดค้านของลุงป้าของเขา โดยการกล้ากลับไปใช้นามสกุลเกาหลีว่า “ซน” หรือเปล่า?
“ถึงจะแค่ผมเพียงคนเดียว ผมก็อยากแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างกับเด็กๆ ที่เป็น “คนเกาหลีในญี่ปุ่น” ที่อาจจะไม่กล้าทำเช่นนี้ว่า ถ้าเราจะกลับไปใช้นามสกุลของบรรพบุรุษ ถึงมันจะทำให้ชีวิตเราอยู่ยาก (ในสังคมญี่ปุ่น) ขึ้นก็ไม่เห็นจะเป็นไร ถ้า (สิ่งที่ผมทำ) จะทำให้คนหนุ่มสาวสักคนหรือสักร้อยคนได้มีความหวัง มันจะมีผลมากกว่าแค่การพูดว่า “ฉันต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” เป็นล้านเท่า แทนที่จะพูดว่า “ฉันต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” การที่ผมกล้าใช้นามสกุลเกาหลีว่า “ซน” อย่างสง่าผ่าเผย แล้วทำงาน ทำธุรกิจแบบไม่กลัวว่าใครจะอย่างไรกับเรา มันจะเป็นการให้ความหวังกับคนหนุ่มสาวเหล่านั้นได้มากกว่าการพูดเป็นล้านคำ เพราะคิดอย่างนี้ ผมจึงกล้าใช้นามสกุลเกาหลีของตน”
“(พอผมทำอย่างนี้) ญาติๆ คัดค้านอย่างแรง เพราะพวกเรามีชีวิตอยู่ในสังคมเล็กๆ โดยปิดบังชื่อจริงของตัวเองไว้ (ไม่ให้ใครรู้ว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่น) ญาติผมบอกว่า “ถ้าแกใช้นามสกุลว่า “ซน” ก็เท่ากับเปิดโปงพวกเราหมดสิ”
“ลุงกับป้าน่ะ แค่โดนเขาพูดว่า “อะไรนะ เป็นคนเกาหลีเหรอ” “อะไรนะ นามสกุล “ซน” เหรอ ไม่ใช่ “ยาสุโมโตะ” เหรอ” “อ่อ พวกแกเป็นแก๊งกิมจิเหรอ” แค่นี้ก็เดือดร้อนแล้ว อย่าทำเลย”
“แม้กระนั้นผมก็ยังพูดว่า “ผมอาจจะทำให้ลุงกับป้าเดือดร้อนก็ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องบอกว่าผมเป็นญาติก็ได้ จะทำเป็นว่าผมเป็นคนอื่นก็ได้”
“ลุงป้ากับเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และผมก็ไม่รู้ว่าพวกเขามีพลังพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการถูกเลือกปฏิบัติทั้งหลายแหล่ได้หรือเปล่า แต่เด็กๆ น่ะ หากเด็กๆ ที่ทุกข์ทรมานในวัยเยาว์ได้รับแสงแห่งความหวังเพียงเล็กน้อย แล้วการที่ผมทำแบบนั้น พวกเขาจะเดือดร้อน ก็ทำเป็นว่าผมไม่ใช่ญาติเถิด ไม่ว่าจะยังไงผมก็จะทำ”
จะเห็นได้ว่านายซนเป็นคนที่จะเรียกว่าอย่างไรดี สำหรับผู้เขียนแล้ว ถ้อยคำของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนประเภทที่กล้าคิดทำ ยึดมั่นกับความคิดองตัวเองแต่ไม่ใช่เพราะเขาคิดว่าตัวเองเก่ง แต่เพราะเขาคิดว่าเขาต้องทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่ามันเป็นความดี และสิ่งที่เรียกว่าความดีคือ “การทำให้คนมีความหวัง” ซึ่งมันเป็นแรงผลักในการทำธุรกิจของเขา
“ในวงการอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (ทุกวันนี้) ทุกคนสูญเสียความเชื่อมั่น ล้มเหลว อยู่ในสภาพหดหัวงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ถึงกระนั้น ถ้าแค่บริษัทของผมบริษัทเดียวสามารถยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูที่ใหญ่กว่าในอเมริกาได้แม้เพียงน้อยนิด สมมติว่าสู้กันห้านาทีแล้วยังรอดมาได้ ก็อาจเป็น “หนึ่งแสงแห่งความหวัง” ก็ได้ ผมไม่ใช่ทั้งนักการเมือง ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแบบนั้น แต่ผมก็อยากจะทำให้เห็นเป็นตัวอย่างสักอย่างหนึ่ง ถ้าตัวอย่างอันเดียวมันจะกลายเป็นก้อนหินที่ทำให้น้ำกระเพื่อมได้ ขอแค่มันกระตุ้นได้สักหนึ่งบริษัท หรือสิบบริษัท ผมก็ถือว่านี่เป็นการทำเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง”
“ไม่เพียงแค่บริษัทของผมเท่านั้น จะ Rakuten ก็ดี DeNA ก็ดี หากบริษัททั้งหลายพยายามให้มาก เพื่อให้เกิดตัวอย่างของความสำเร็จได้สักหลายๆ ตัวอย่างละก็ เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะฟื้นขึ้นมาก็ได้”
“ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือคนที่อยู่รั้งท้ายเพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำในสังคมจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปขัดหรือไปปิดไปกั้น “ตัวอย่างของความสำเร็จ” (เพราะ) ตัวอย่างของความสำเร็จเป็นแสงสว่างแห่งความหวังของทุกคน หากไม่มีสิ่งนั้น ขวัญกำใจของคนก็จะเสื่อมถอย ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างสังคมที่ยกย่องตัวอย่างของความสำเร็จ ว่านี่คือ Japanese Dream, Japanese Hero”
นี่แหละคือวิสัยทัศน์ของเขา มาถึงชั่วโมงนี้ จากที่ใครๆ ก็ฮือฮาในความรวยของเขา ว่าการที่ไปลงทุนกับ “อาลีบาบา” นี่ทำให้เขารวยมหาศาล แต่มาวันนี้เขาเจ็บตัว เจ๊งยับกับ WeWork จนทำท่าจะต้องขายหุ้น T-mobile เราก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าเขาจะมีลีลาอะไรที่จะทำให้บริษัทของตนพลิกฟื้นจากสภาพขาดทุนได้ แต่ผู้เขียนเชื่อในทฤษฎีแรงดึงดูด และเชื่อว่าตราบใดที่นายซนยังสามารถคิดบวกอย่างนี้ได้ หนทางย่อมต้องมีแน่นอน วันนี้ก็ขอลาแต่เพียงเท่านี้ก่อน สวัสดีครับ
สรุปเนื้อหาจาก Nikkei business
ผู้เขียน TU KeiZai-man