ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา มักประสบปัญหาเรื่องการรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาไม่เป็นธรรม การถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางเนื่องจากขาดอำนาจการต่อรองกับผู้ซื้อหรือผู้จัดจำหน่าย จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กซึ่งมีค่าจ้างต่ำตามมาด้วย
ในด้านเจ้าของโรงคั่วกาแฟเอง หากเป็นโรงคั่วขนาดเล็กที่ซื้อในปริมาณทีละน้อยๆ ก็มักต้องถูกบังคับให้ซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่แพงกว่าปกติ
ในขณะเดียวกัน ไร่กาแฟขนาดเล็กที่เน้นคุณภาพแต่มีผลผลิตปริมาณน้อย อาจจำเป็นต้องเลิกกิจการเพราะไม่สามารถทำกำไรเพื่อเลี้ยงธุรกิจอยู่ได้ ไร่กาแฟหลายๆ แห่งก็เน้นการผลิตปริมาณมาก (mass production) แต่ขาดการใส่ใจในคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ทำให้ผู้บริโภคปลายทางไม่สามารถเข้าถึงกาแฟคุณภาพดีได้ในราคาสมเหตุสมผล
สตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจภายใต้คอนเซปต์ “Transparent Coffee”
TYPICA (ティピカ) หรือ “ทิปิก้า” คือบริษัทสตาร์ทอัพลูกครึ่งญี่ปุ่น-เนเธอร์แลนด์ (ก่อตั้งโดยคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์) ที่เล็งเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในวงการกาแฟนี้ จึงเกิดไอเดียธุรกิจออนไลน์แพลตฟอร์ม (online platform) เพื่อเชื่อมเกษตรกรหรือเจ้าของไร่กาแฟ กับโรงคั่วกาแฟเข้าด้วยกัน โดยช่วยบริหารจัดการเรื่องการขนส่งและกระจายสินค้า (distribution) ให้
ตามปกติแล้ว การซื้อขายเมล็ดกาแฟจะเริ่มต้นกันที่ขนาดเป็นตู้คอนเทนเนอร์ หรือที่น้ำหนักประมาณ 18 ตัน แต่การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของ TYPICA จะเริ่มต้นที่ขนาด 1 กระสอบหรือประมาณ 60 กิโลกรัมเท่านั้น
อีกทั้งข้อดีของการซื้อขายโดยตรงระหว่างเกษตรกรและโรงคั่วกาแฟคือ ผู้ซื้อสามารถทราบแหล่งที่มาของการปลูกหรือชื่อไร่กาแฟ สร้างความโปร่งใสในการซื้อขายตามคอนเซปต์ “Transparent Coffee” อีกด้วย
ราคาเมล็ดกาแฟที่กำหนดจากคุณภาพ
เทรนด์การดื่มกาแฟในปัจจุบันนั้น ผู้คนเริ่มนิยมดื่ม “กาแฟพิเศษ” หรือ Specialty Coffee กันมากขึ้น ถือเป็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่ไม่ใช่ต้องการดื่มเพื่อให้ได้รับคาเฟอีนเท่านั้น แต่ต้องการรับรู้ถึงกลิ่นและรสชาติ รวมทั้งเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเมล็ดกาแฟเหล่านั้นด้วย ซึ่งกาแฟเหล่านี้มักเป็นกาแฟที่คุณภาพสูง หายาก มีผลผลิตต่อรอบน้อย ทำให้ราคาค่อนข้างสูงมากทีเดียว
เมล็ดกาแฟที่เข้ามาอยู่แพลตฟอร์มของ TYPICA จะผ่านการคัดเลือกและให้ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน การกำหนดราคาตามคุณภาพของเมล็ดกาแฟนั้นจริงๆโดยไม่มีปัจจัยเรื่องปริมาณการผลิตต่อรอบเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งมีการจัดเวิร์คช้อปให้โรงคั่วมาทดลองกาแฟก่อนเลือกซื้อ และมีการประกันคุณภาพว่าเมล็ดการที่ส่งจากเกษตรกรถึงโรงคั่วจะต้องได้มาตรฐานตามที่ลงทะเบียนไว้กับแพลตฟอร์ม
จากโมเดลธุรกิจนี้ จะช่วยให้ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมีกำไรที่เหมาะสมตามคุณภาพผลผลิต โรงคั่วกาแฟก็สามารถซื้อเมล็ดกาแฟได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ต้องเสียค่าคนกลาง อีกทั้งผู้บริโภคปลายทางก็ยังสามารถดื่มกาแฟดีๆ จากหลากหลายแหล่งปลูกในราคาไม่สูงจนเกินไปอีกด้วย
เป้าหมายของ TYPICA ที่จะเติบโตไปพร้อมกับตลาดกาแฟ
TYPICA เลือกร้านกาแฟเล็กๆ ในญี่ปุ่นเป็นสถานที่เปิดตัวแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2021 โดยมีโรงคั่วกาแฟที่ลงทะเบียนในแพลตฟอร์มแล้วถึง 500 ราย และบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2025 จะเพิ่มยอดผู้ใช้ในระบบเป็นโรงคั่วให้ได้ถึง 2,000 ราย และมีไร่กาแฟที่อยู่ในแพลตฟอร์มมากกว่า 5,000 แห่งจาก 30 ประเทศทั่วโลก
เรียกได้ว่าวงการกาแฟทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อก่อน การดื่มกาแฟกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้กาแฟกลายเป็นเหมือนงานศิลปะแทนที่จะเป็นเพียงแค่เครื่องดื่มอย่างหนึ่ง
การที่มีคนคิดไอเดียเข้ามาช่วยให้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ (เกษตรกร) กลางน้ำ (โรงคั่ว) และปลายน้ำ (ร้านกาแฟ หรือผู้บริโภคปลายทาง) ได้ประโยชน์แบบนี้ก็ดีไม่น้อย
หวังว่าแนวคิดดีๆ แบบ TYPICA จะแพร่หลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มค่าความสุขมวลรวมของคนในวงการกาแฟ (รวมถึงผู้เขียนที่ชอบดื่มกาแฟเป็นชิวิตจิตใจ) ให้สูงขึ้นตามไปด้วย
สรุปเนื้อหาจาก: tokyo headline, prtimes, typica