จากมุมมองคนไทยเราแล้ว ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในเอเชีย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาทางสังคมไม่ต่างกัน โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 5 ปัญหาที่กำลังเป็นโจทย์ในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันโดยสังเขป รวมถึงแนวทางการแก้ไขที่กำลังถูกขับเคลื่อนอยู่
1. หมู่บ้านร้าง
หมู่บ้านร้าง (消滅集落, Shoumetsu Shuraku) เป็นคำนิยามแหล่งชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยได้ย้ายออกหรือเสียชีวิตจนทำให้จำนวนประชากรของหมู่บ้านเป็น 0 โดยเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนประชากรที่ลดลงของญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ Asahi (27 ส.ค. 2020) ระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 กระทรวงมหาดไทยญี่ปุ่น (総務省, Ministry of Internal Affairs and Communications) ประกาศยอดประชากรที่ลดลงจากปี 2019 มากถึง 505,046 คน ถือเป็นจำนวนที่หายไปมากที่สุดตั้งแต่เริ่มการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 1968 โดยทุกจังหวัดทั้งประเทศประสบภาวะจำนวนประชากรลดลง ยกเว้นกรุงโตเกียว จังหวัดคานากาว่า และจังหวัดโอกินาว่า อีกทั้งพบชุมชนที่กำลังจะหายไปจากแผนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ลักษณะร่วมของชุมชนที่กลายเป็นหมู่บ้านร้าง เช่น ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเช่นภูเขาและเกาะย่อย และระบบสาธารณูปโภค โรงเรียน และอื่นๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ อีกชุมชนอีกแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านร้างก็คือหมู่บ้านที่กำลังถึงขึดจำกัด (限界集落, Genkai Shuraku) ซึ่งหมายถึงชุมชนที่ประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 50% โดยมีสาเหตุจากประชากรที่ลดลงและจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยเช่นกัน
2. เด็กยากไร้
เด็กยากไร้ (子どもの貧困) หมายถึงเด็กที่ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐเนื่องจากอาชีพและฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดู โดยในปี 2018 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น (厚生労働省, Ministry of Health, Labour and Welfare of Japan) เผยอัตราเด็กยากไร้ในญี่ปุ่นที่มีมากถึง 13.5% (เท่ากับว่าในเด็ก 7 คน มี 1 คนเป็นเด็กยากไร้) และอัตราครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ยากไร้ที่มีมากถึง 48.1% ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
เหตุผลที่เด็กยากไร้เป็นโจทย์สังคมที่น่ากังวลนั้น เนื่องจากผลกระทบที่ไปถึงสังคมในวงกว้าง ในผลสำรวจของ THE NIPPON FOUNDATION พบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในสภาวะยากจนจะไม่สามารถเติบโตไปเป็นประชากรที่มีกำลังจ่ายภาษีได้ เพราะไม่ได้รับโอกาสในการศึกษา หรือเข้าถึงการศึกษาช้ากว่าเด็กคนอื่น ซึ่งมีผลต่อความมั่นใจในตนเองและการตัดสินใจเรียนต่อของเด็ก ทำให้มีผลต่อเส้นทางอาชีพในอนาคต อีกทั้งเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องรับสวัสดิการประกันสังคม จึงคาดว่าประเทศญี่ปุ่นอาจจะเสียงบประมาณมากถึง 40 ล้านล้านเยน
สำหรับวิธีการแก้ปัญหานั้น หน่วยงานในญี่ปุ่นมีแนวทางหลักทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
- การเผยแพร่ – ให้ความรู้และเผยแพร่เรื่องเด็กจำนวนมากในประเทศที่ต้องการการเลี้ยงดูจากครอบครัว
- การสนับสนุน – ให้การสนับสนุนและช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่บุญธรรมสามารถใส่ใจเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่
- การสร้างเครือข่าย – ประสานงานระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์/สวัสดิการสังคมเพื่อสร้างเครือข่ายให้ความช่วยเหลือพ่อแม่บุญธรรมผู้อุปการะ
พร้อมกันนี้ THE NIPPON FOUNDATION ยังมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบที่สถานะทางการเงินมีต่อความสำเร็จทางการศึกษาและศักยภาพในการเรียนของเด็ก เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาต่อไปอีกด้วย
3. พี่เลี้ยงตัวจิ๋ว
พี่เลี้ยงตัวจิ๋ว (Young Carer, ヤングケアラー) หมายถึงเด็กที่มีอายุโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 18 ปี ต้องทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในครอบครัว ทั้งในเรื่องของงานบ้านทั่วไป เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซื้อของชำหรือทำอาหาร ตลอดจนดูแลสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน และอาจรวมถึงเป็นล่ามภาษาในกรณีที่คนในครอบครัวไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแม่ด้วย ซึ่งแต่เดิมแล้วหน้าที่เหล่านี้ล้วนควรเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ไม่มีทั้งเวลาทำการบ้านหรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่มีเวลานอนที่เพียงพอ ไม่ได้ทำอะไรสมกับวัย เช่นเล่นกับเพื่อนเป็นต้น และทำให้เด็กกลุ่มนี้เปิดเผยปัญหาที่ตนต้องเผชิญกับคนอื่นได้ยาก เช่น ไม่อยากบอกสถานการณ์ทางบ้านกับใคร หรือคิดว่าไม่จำเป็นต้องปรึกษากับใคร หรือไม่รู้จะปรึกษาใคร เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่นและกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology, 文部科学省) ได้ลงสำรวจจำนวนพี่เลี้ยงตัวจิ๋วเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 พบว่ามีพี่เลี้ยงตัวจิ๋วที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นเรียนต่างๆ ดังนี้
- ประถมศึกษาปีที่ 6 : จำนวน 6.5%
- มัธยมศึกษาปีที่ 2 : จำนวน 5.7%
- มัธยมศึกษาปีที่ 5 : จำนวน 4.1%
- มหาวิทยาลัยปีที่ 3 : จำนวน 6.2%
และเมื่อถามเจาะลึกถึงความถี่ในการดูแลครอบครัว เกือบครึ่งหนึ่งของพี่เลี้ยงตัวจิ๋วตอบว่า “แทบทุกวัน” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีเช่นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ตอบว่าใช้เวลาดูแลครอบครัว “4 ชั่วโมง” ด้วยกัน
เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่เลี้ยงตัวจิ๋ว ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเด็กเล็ก ครอบครัว ไปจนถึงการหางานประกอบอาชีพ
4. อคติทางเพศ
อคติทางเพศ (Gender Bias, ジェンダーバイアス) เป็นอคติต่อความแตกต่างทางเพศในด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยในผลสำรวจ Global Gender Gap Report 2022 ประเทศญี่ปุ่นได้อันดับที่ 116 จาก 146 ประเทศทั่วโลก (ประเทศไทยได้อันดับ 79) ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว
ตัวอย่างอคติที่เห็นได้ชัดในสังคมญึ่ปุ่น เช่น แนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรเป็นแม่บ้านและผู้ชายควรเป็นฝ่ายหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงควรทำอาหารเก่ง ผู้ชายควรเล่นกีฬาเก่ง ฯลฯ นอกจากนี้ ภาษาญี่ปุ่นก็มีศัพท์บางคำที่มองได้ว่าแสดงถึงอคติทางเพศ เช่น Ikumen (イクメン หมายถึง ผู้ชายที่เลี้ยงดูลูก) ซึ่งหากผู้หญิงเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูกจะถูกมองเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นฝ่ายชายกลับมีคำเรียกเฉพาะในทางชื่นชม, Jyoshiryoku (女子力 หมายถึง ความเป็นผู้หญิง) ซึ่งใช้สื่อถึงคนที่มีความเป็นผู้หญิงตามอคติที่คนส่วนใหญ่คิด เช่น ทำขนมเก่ง พกผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงด้านการศึกษาเช่นแนวคิดว่า ผู้ชายจะถนัดวิชาสายวิทยาศาสตร์ในขณะที่ผู้หญิงถนัดวิชาสายศิลป์ด้วยเช่นกัน
โดยปัญหาที่เกิดจากอคติเหล่านี้ เช่น การจ้างงานและการได้รับค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพนักงานชาย-หญิง การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าง Sexual Harassment ที่เชื่อมโยงกับการ Victim Blame (การโทษเหยื่อ) รวมถึงแรงกดดันในด้านหน้าที่การงานและสถานะทางการเงินที่ผู้ชายต้องแบกรับเป็นต้น
ซึ่งความเคลื่อนไหวเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากอคติทางเพศของญี่ปุ่นก็มีอยู่บ้าง เช่น การปรับกฎหมาย Act on Promotion of Women’s Participation and Advancement in the Workplace (女性活躍推進法) เมื่อปี 2022 ที่กำหนดให้บริษัทต่างๆ ทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาด้านการทำงานของพนักงานหญิงในบริษัทของตน เพื่อปรับปรุงและรายงานการแก้ไขปัญหาต่อไปเป็นต้น อีกทั้งรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงอคติทางเพศที่มีผลต่อทั้งชายและหญิงในสังคมญี่ปุ่นต่อไป
5. Virtual Water
Virtual Water (バーチャルウォーター) หมายถึงปริมาณน้ำที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิตอาหารและสินค้าต่างๆ โดยเมื่ออาหารและสินค้าต่างๆ ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยน ปริมาณน้ำดังกล่าวที่แฝงอยู่ก็ถูกเคลื่อนที่ไปด้วยเช่นกัน แนวคิดนี้ถูกเสนอโดยจอห์น แอนโทนี อัลลัน (John Anthony Allan) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัล Stockholm Water Prize ในปี 2008 และเป็นแนวคิดที่เผยให้เห็นมุมมองใหม่ในด้านปัญหาการจัดการน้ำ
ตัวอย่างของ Virtual Water เช่น ปริมาณ Virtual Water สำหรับวัว 1 ตัวคือ 12,000 ตัน น้ำที่จำเป็นในการปลูกข้าวโพดให้วัวกินคือ 1,800 ลิตรต่อข้าวโพด 1 กิโลกรัม หากวัวกินข้าวโพดมากขึ้น ก็ต้องใช้น้ำปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารให้วัวกินมากขึ้นไปอีก และเมื่อเนื้อวัวตัวดังกล่าวถูกส่งออก น้ำ Virtual Water ก็จะถูกย้ายไปยังประเทศปลายทางเป็นต้น
ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ศาสตราจารย์โอกิ ไทคัน (沖 大幹) นักอุทกวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว พร้อมด้วยคณาจารย์ได้ประมาณว่า ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าอาหารที่มี Virtual Water ทั้งสิ้นประมาณ 640 พันล้านตันต่อปี แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำเข้าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาจะตกกับฝั่งผู้ส่งออกที่มีโอกาสประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เพราะต้องใช้น้ำไปกับกระบวนผลิตอาหารมากมาย วิธีแก้ปัญหาที่สามารถทำได้คือ ซื้ออาหารเท่าที่จำเป็น ไม่สร้างขยะอาหารเหลือทิ้ง และควรลดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศและเน้นใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นแทน
และทั้งหมดนี้คือ 5 ปัญหาที่กำลังเป็นโจทย์สำคัญในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีปัญหาที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งยังคงน่าติดตามต่อไปว่าญี่ปุ่นจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร และมีผลลัพธ์แบบไหนต่อไปค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: cococolor, npojcsa, nippon-foundation, Ministry of Health, Labour and Welfare, World Economic Forum, Asahi SDGs, The Asahi Shimbun Globe , watercalculator, og-cel
ผู้เขียน: AkiAi