Baritsu วิชายูยิตสูผสมมวยฝรั่ง ที่โผล่มาในเรื่องแต่งตั้งแต่ Sherlock Holmes ถึง Kengan Ashura!!!

ท่านผู้อ่านที่ดูอนิเมะเรื่อง Kengan Ashura ใน Netflix คงจะจำตัวละครที่ชื่อ Mokichi Robinson กันได้นะครับว่าเป็นตัวละครที่แปลกดีมาก ชื่อญี่ปุ่นปนฝรั่ง หน้าฝรั่ง ห้อยกางเขน ใส่กินุ่งฮากามะเหมือนนักยูยิตสูโบราณ แต่ใช้วิชาหมัดแบบมวยฝรั่ง (บ๊อกซิ่ง) ได้ด้วย!!! (แต่เจอกับคุเระ ไรอัน โดนหักคอซะงั้น) ซึ่งในเรื่องบอกว่า Mokichi Robinson ที่ชื่อ Baritsu (เอ๊ะ ฟังเหมือนจะคล้าย จูจิตสึ เลยแฮะ) ซึ่งวันนี้ผู้เขียนจะมานำเสนอเรื่องราวของวิชา Baritsu (ซึ่งจริงๆ แล้ว “สะกดผิด” ครับ ที่ถูกคือ Bartitsu) ว่า เป็นวิชาที่เคยมีอยู่จริงครับ ยูยิตสูผสมมวยฝรั่งพ่วงด้วยวิชาต่อสู้ด้วยไม้เท้าเนี่ย ซึ่งเคย “สาบสูญ” ไปแล้วแต่ก็ได้มีการพยายามจะ “รื้อฟื้น” วิชาขึ้นใหม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรขอเชิญอ่านกันได้ครับ

ในขณะที่อิทธิพลของวิชายูโดได้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกและได้เป็นต้นเหง้าของวิชาต่อสู้ที่ปรากฏมีชื่อเสียงในโลกปัจจุบัน (ทั่วโลกเลยนะครับไม่ใช่แค่โลกตะวันตก) ถึงสองวิชา นั่นคือ บราซิลเลียนยูยิตสู ของบราซิล (แต่ทุกวันนี้บราซิลเลียนยูยิตสูที่แพร่หลายไปทั้งโลกค่อนไปทางแบบอเมริกันมากกว่าครับ) กับ แซมโบ ของรัสเซีย ณ ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ที่อังกฤษ เกิดมีคนตั้งสำนักวิชาที่ว่าเอายูยิตสูมาผสมบ๊อกซิ่งจนเป็นวิชาใหม่ (?) ขึ้นมา ตั้งชื่อว่า Bartitsu

กำเนิด Bartitsu

ปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) นายเอ็ดเวิร์ด วิลเลียม บาร์ตัน-ไรท์ วิศวกรชาวอังกฤษซึ่งเคยไปอยู่ที่ญี่ปุ่นมาสามปี ได้กลับมาที่ประเทศอังกฤษแล้วตั้งสำนักวิชา “ศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่” โดยตั้งชื่อวิชาใหม่นี้ว่า Bartitsu (ばちつ) คือเอาชื่อสกุลของตัวเอง Barton มาตัดต่อกับคำว่า Jujitsu เสียอย่างนั้น (ตั้งชื่อได้แบบ เอิ่ม มาก บอกตรงๆ ชื่อแบบ Gracie Jiujitsu ยังจะฟังแล้ว make sense กว่าว่าเป็น “ยูยิตสู” ของ “ตระกูลเกรซี่”)

จากหลักฐานที่ปรากฏใน Pearson’s Magazine ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 ถึง พ.ศ. 2444 เทคนิคท่วงท่าของวิชา Bartitsu เห็นได้ว่าหยิบเอามาจากวิชายูยิตสูสำนักชินเด็นฟูโดริว (神伝不動流) กับโคโดคันยูโด แล้วตอนหลังก็เอาวิชาของฝรั่งทั้ง boxing (มวยสากล ที่คนไทยแต่ก่อนเรียกว่า “มวยฝรั่ง”) savate (คิกบ๊อกซิ่งฝรั่งเศส) การต่อสู้ด้วยไม้เท้าที่พัฒนาโดย Pierre Vigny เป็นต้น (จะเรียกว่ารวมศาสตร์ก็ได้?) และก็ได้ตั้ง “สโมสร Bartitsu” ขึ้นมา เพื่อสอนวิชาป้องกันตัวดังกล่าว (เปิดสอนให้แก่คุณสุภาพสตรีด้วย)

Bartitsu montage
ภาพแสดงวิชา Bartitsu

สิ่งที่น่าสนใจก็คือนายบาร์ตัน-ไรท์ ตั้งสำนักวิชาในชื่อของตัวเองขึ้นมา แต่ดันไปติดต่อคนนั้นคนนี้ให้หาคนมาเป็นครูสอนวิชาในด้านต่างๆ ทั้งครูยูยิตสู/ยูโด เช่น ทานิ ยูคิโอะ หรือนักมวยปล้ำ Armand Cherpillod แถมตอนหลังมีหลักสูตรวิชาลมปราณ (ฝึกการหายใจ) อีก แถมสโมสรยังถูกใช้เป็นที่ค้นคว้าวิชาฟันดาบฝรั่ง (fencing) แบบโบราณอีก

…ฟังแล้วออกไปทางเป็นสปอร์ตคลับยังไงก็ไม่รู้…

จริงๆ มันก็อารมณ์สปอร์ตคลับ (ยุควิตตอเรีย) แหละครับ แถมเป็นคลับแบบจำกัดสมาชิก (อารมณ์ต้องไฮโซๆ หน่อยหรือเปล่า) ตัวอย่างสมาชิกในยุคนั้นก็มีคนดังอย่าง Sir Cosmo Duff Gordon ที่รอดชีวิตจากเหตุเรือไททานิคล่ม (มีข้อครหาว่าเป็นผู้ชายทั้งแท่ง มานั่งเรือชูชีพที่เขาให้ “เฉพาะเด็กกับผู้หญิงนั่ง” ได้อย่างไร)

อ่านไปอ่านมาผู้เขียนเริ่มสงสัยแล้วว่านายบาร์ตัน-ไรท์ตั้งชื่อ Bartitsu มาเท่ๆ แค่นั้นหรือเปล่า เอาจริงๆ มันเป็นวิชาอันใหม่จริงที่เป็นระบบเอกเทศ หรือเป็นเพียงแค่ cross training คือฝึกมากกว่าหนึ่งวิชาแค่เพื่อเติมเต็มการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เท่านั้น (อารมณ์เหมือน MMA) กันแน่?

อย่างไรก็ดี พอเข้าปี พ.ศ. 2445 สโมสร Bartitsu ก็ปิดตัวลง มีคนกล่าวว่าที่ไม่มีคนเรียนก็เพราะ “ค่าสมัครกับค่าเล่าเรียนแพงเกินไป” โธ่ถัง คือดูแล้วคงกะจะ “ขายวิชาแปลกใหม่” ให้พวกไฮโซในลอนดอนแต่การตลาดมันไม่เข้าเป้า นั่นหละครับ ที่ฮากว่านั้นก็คือ บรรดาครูสอนวิชาต่อสู้ที่นายบาร์ตันเลยจ้างให้มาสอนที่ สโมสร Bartitsu อย่าง ทานิ ยูคิโอะ หรือ Pierre Vigny นั้น ตอนหลังก็ได้ไปตั้งโรงเรียนสอนวิชาต่อสู้ของตัวเองกันในลอนดอนไปเสียอย่างนั้น

“Baritsu” ในฐานะวิชาต่อสู้ของ Sherlock Holmes

เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ได้หยิบเอาชื่อวิชา Bartitsu มาอ้างถึงเหตุผลที่ Sherlock Holmes เอาชนะ Professor Moriarty ในการต่อสู้ที่น้ำตก Reichenbach ว่า Sherlock Holmes เอาชนะได้เพราะใช้วิชา Baritsu (ว้าว) (ประเด็นคือ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ “สะกดผิด” ครับ)

ผู้เขียนไม่ทราบ และยังไม่อาจหาประวัติได้ว่า นายเอ็ดเวิร์ด วิลเลียม บาร์ตัน-ไรท์ เนี่ย ในฐานะนักศิลปะการต่อสู้ ตอนอยู่ญี่ปุ่นได้เรียนวิชาสำนักอะไรบ้าง และเรียนไปถึงระดับไหน ได้คุณวุฒิขั้นไหนบ้าง แต่ถ้าในแง่ของแนวคิดในการ “ต่อสู้ป้องกันตัวตามถนน” ก็ต้องถือว่ามีแนวคิดที่ทันสมัยทีเดียว อาจจะเรียกว่าล้ำสมัยเลยด้วยซ้ำ นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงแนวคิดของฝรั่งที่ว่า ศิลปะการต่อสู้ตามแบบแผนที่เน้นเฉพาะทางใดทางหนึ่ง (เช่น เน้นเตะต่อยอย่างเดียว เน้นทุ่มปล้ำอย่างเดียว) นั้น “ไม่พอเพียง” ในการป้องกันตัวเองตามถนน ฉะนั้น แนวคิดว่าด้วยศิลปะการต่อสู้แบบผสม MMA นั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดมีแนวคิดเช่นนี้ในหมู่ฝรั่งตะวันตกมาเป็นร้อยปีแล้วครับ

ความพยายามในการฟื้นฟูวิชา Bartitsu ในยุคปัจจุบัน

การคิดที่จะฟื้นฟูวิชา Bartitsu เริ่มจากการที่เว็บไซต์ Electronic Journals of Martial Arts and Sciences (EJMAS) นำบทความของนายบาร์ตัน-ไรท์มาเผยแพร่อีกครั้งในปี 2001 พอปี 2002 เกิดมีคนรวมตัวกันจัดตั้ง Bartitsu Society เพื่อค้นคว้าและฟื้นฟูวิชาขึ้นมาใหม่ พอปี 2003 Bartitsu Society เริ่มเดินสายจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่วิชา Bartitsu ไปตามที่ต่างๆ และเริ่มเปิดหลักสูตรสอนที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่เมือง  Wuppertal ประเทศเยอรมนี ที่รัฐชิคาโก และที่อื่นๆ อีก เรื่อยมาจนถึงการออกหนังสือ แผ่นดีวีดี และแน่นอน ทุกวันนี้หากคนจะรู้จัก Bartitsu ก็คงจะรู้จักในฐานะที่เป็น “วิชาต่อสู้ของ Sherlock Holmes”

“Baritsu” ในฐานะวิชาต่อสู้ของ Mokichi Robinson

เนื้อเรื่องใน Kengan Ashura ได้อ้างว่า  Mokichi Robinson ได้รับสืบทอดวิชา “Baritsu” ซึ่งเป็นวิชาที่เกิดจากการเอา “ยูยิตสู” มาผสมกับ “มวยฝรั่งยุคกำปั้นลุ่นๆ” (bare-knuckle boxing) ซึ่งคิดขึ้นโดย Kotoura Shigenosuke ผู้เป็นบรรพบุรุษของตน (ว้าว คราวนี้กลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นนี่แหละคิดวิชานี้ขึ้นมา “เราทำเกินฝรั่งไปเยอะ” 55)

ช่วงนี้ไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้ไม่มีที่ให้ไป ดูอนิเมะกันให้สนุกนะครับผม

ภาพและข้อมูลจาก wikipedia

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save