คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือศาสนาชินโต ในหนึ่งปีจึงมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อภาวนาขอให้ตนและครอบครัวมีความสุข มีความโชคดี และป้องกันไม่ให้มีสิ่งร้ายๆ เข้ามาในชีวิต หนึ่งในพิธีกรรมในฤดูร้อนได้แก่ พิธีกรรม ชิโนะวะคุกุริ มารู้จักพิธีกรรมนี้และวิธีการที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติกันนะคะ
พิธีกรรมชิโนะวะคุกุริคืออะไร
ชิโนะวะคุกุริ (Chi no wa kuguri, 茅の輪くぐり) เป็นหนึ่งในพิธีกรรมชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากชีวิตที่มีในช่วงฤดูร้อน พิธีกรรมดังกล่าวทำได้โดยการเดินลอดห่วงวงกลมขนาดใหญ่ที่ทำจากหญ้าซึ่งวางไว้หน้าศาลเจ้าหลายที่ในญี่ปุ่น วิธีการเดินลอดห่วงหญ้านั้นจะเดินเป็นรูปเลขแปดซึ่งเป็นเลขมงคลที่สื่อถึงความไม่มีที่สิ้นสุด คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการลอดห่วงหญ้านี้จะทำให้ไม่มีโรคและภัยพิบัติต่างๆ มากกล้ำกราย อีกทั้งจะช่วยขจัดสิ่งไม่ดีที่มีมาตลอดในช่วงครึ่งปีแรกให้หายไปและทำให้ประสบพบเจอสิ่งดีๆ ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้
การเกิดพิธีกรรมลอดห่วงหญ้ามาจากเรื่องเล่าตามตำนานว่ามีชายพเนจรคนหนึ่งมาขอพักค้างคืนกับพี่น้องคู่หนึ่ง น้องชายปฏิเสธไม่ให้พักเพราะชายคนดังกล่าวเป็นคนร่อนเร่พเนจร แต่พี่ชายชื่อโซมิน โชไร (そみん しょうらい) ให้การต้อนรับด้วยอัธยาศัยที่ดี หลายปีผ่านไปชายพเนจรดังกล่าวซึ่งคือเทพเจ้ามาปรากฏกายหน้าบ้านพี่ชายผู้ใจดี และบอกว่าหากป่วยให้นำห่วงที่ทำจากหญ้ามาคล้องเอว ซึ่งจะทำให้เขาหายจากโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ได้ และหากนำกระดาษที่เขียนคำว่าโซมิน โชไรไปแปะไว้ที่ประตูบ้านก็จะทำให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่างๆ ได้
ในช่วงแรกคนญี่ปุ่นยังใช้ห่วงหญ้าขนาดเล็กคล้องเอว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายมาเป็นห่วงหญ้าที่วางไว้หน้าศาลเจ้าและกลายเป็นพิธีกรรมการชำระล้างเอาสิ่งไม่ดีออกจากชิวิตในช่วงหน้าร้อนดังปัจจุบัน
โดยปกติพิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นประมาณวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปีที่ศาลเจ้าหลายแห่งในญี่ปุ่น ทางศาลเจ้าจะจัดวางห่วงที่ทำจากหญ้าไว้ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนและหลังจากวันที่ 30 มิถุนายนไปเล็กน้อย เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านหรือมาเยือนศาลเจ้าได้เดินเข้าไปเดินลอดห่วงหญ้าดังกล่าว
วิธีการเดินลอดห่วงหญ้า
วิธีการเดินจะแตกต่างไปตามแต่ละศาลเจ้า ดังนั้นให้สังเกตวิธีลอดตามแผ่นกระดาษหรือแผ่นป้ายที่วางไว้ใกล้ห่วงหญ้า อย่างไรก็ดี วิธีการทั่วไปนั้นเริ่มจากการเดินไปล้างมือตรงที่ล้างมือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า โชซึยะ (Chozuya, 手水舎) ซึ่งเป็นบริเวณที่ศาลเจ้าจัดไว้ให้ผู้มาสักการะได้ล้างมือและบ้วนปากเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจ จากนั้นเดินไปหยุดหน้าห่วงหญ้าวงกลม ทำใจให้สงบและเริ่มก้าวเท้าซ้ายผ่านห่วงหญ้า เดินเวียนไปด้านซ้ายของห่วงหญ้าแล้วก็กลับมาด้านหน้าห่วงหญ้าอีกครั้ง จากนั้นจึงก้าวเท้าขวาเดินผ่านห่วงหญ้าเวียนไปทางด้านขวาแล้วกลับมาด้านหน้าห่วงหญ้าอีกครั้ง ก้าวเท้าซ้ายผ่านห่วงหญ้าและหมุนไปด้านซ้ายอีกรอบ แล้วกลับมายืนด้านหน้าห่วงหญ้าและกล่าวคำขอบคุณ จากนั้นจึงเดินลอดห่วงหญ้าออกไป ในระหว่างเดินลอดห่วงหญ้าทั้งซ้ายและขวาก็อธิษฐานขอให้ตนเองและครอบครัวมีแต่ความโชคดี มีความสุข และปราศจากโรคภัยทั้งสิ้น


นอกจากการเดินลอดห่วงหญ้าแล้ว อีกพิธีกรรมที่คนญี่ปุ่นทำในช่วงฤดูร้อนก็คือ การเขียนชื่อและอายุลงบนกระดาษรูปคนแล้วนำไปสัมผัสตามร่างกายเพื่อถ่ายทอดเอาความเจ็บป่วยและสิ่งไม่ดีออกจากร่างกายไปสู่ตุ๊กตากระดาษ จากนั้นจึงนำไปวางไว้ที่ศาลเจ้าซึ่งจะนำตุ๊กตากระดาษไปลอยน้ำหรือทำพิธีเผาต่อไป
ตอนแรกที่ผู้เขียนเดินผ่านศาลเจ้าข้างบ้านก็รู้สึกประหลาดใจว่าทำไมจึงมีห่วงหญ้าวงกลมวางอยู่หน้าศาลเจ้า แต่เมื่อมาอ่านเจอจึงได้รู้ที่มาและข้อปฏิบัติดังที่กล่าวไว้ หากอยู่เมืองไทยเรามีวิธีการทำจิตใจให้สงบง่ายๆ คือ การใส่บาตร ไปวัด และปล่อยนกปลา เป็นต้น แต่เมื่ออยู่ญี่ปุ่นการไปไหว้พระที่ศาลเจ้าก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ใจเราสงบ เมื่อใจสงบเราจะพบว่าเรามีปัญญาที่จะคิดและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ดีไม่น้อยค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: precious, shinmeisya