ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ซึ่งด้านหนึ่งของการทำ CSR นั้นคือการปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมายแรงงาน ปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมและการจัดการที่ดี (เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่บังคับใช้แรงงานโดยไม่ให้พัก หรือบังคับทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น) ซึ่งในโลกยุคนี้ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ คู่ค้าในประเทศที่เจริญแล้วเขาจะดูซัพพลายเออร์ตรงนี้ด้วยว่าปฏิบัติตามนี้ไหม
แต่ในสมัยก่อน ความคิดหลักในวงอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมนั้นคือการทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ผลผลิตมากๆ กำไรมากๆ จนอาจทำอะไรที่ข้ามเส้นจริยธรรมและมนุษยธรรม บวกกับตะกอนความคิดเชิงสังคมในยุคนั้นที่ยังไม่มองว่า “คนเราเท่าเทียมกัน” อย่างจริงจัง ก่อให้เกิดการปฏิบัติต่ออีกฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าเยี่ยงทาส ครับ จากที่คราวที่แล้วได้เกริ่นเรื่องของเกาะฮาชิมะไป วันนี้จะขอโฟกัสหัวข้อ ”ระบบโรงนา” กันนะครับ
คำว่า “ระบบโรงนา” (納屋制度 นายะเซย์โดะ) นั้นเป็นคำที่ใช้หมายถึงระบบการจ้างงานและควบคุมแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในยุคเมจิ โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินที่คิวชู รูปแบบก็คือเจ้าของเหมืองนั้นจ้าง “หัวหน้าโรงนา” (納屋頭 นายะกาชิระ) โดยให้หัวหน้าโรงนามีหน้าที่หาคนมาทำงาน จ้างคนงาน เคี่ยวเข็ญคนงานให้ทำงาน แจกจ่ายค่าแรง (เปรียบได้เหมือนมูลนายที่ต้อนเอาไพร่เข้าสังกัด—ผู้เขียน) และหัวหน้าโรงนามีอำนาจเหนือคนงาน สามารถลงโทษคนงานอย่างไรก็ได้
อย่างที่ได้เคยกล่าวถึงในบทความที่แล้วว่า การปฏิบัติต่อคนงานเหมืองถ่านหินในยุคนั้นเรียกว่าไม่รู้จักว่า CSR เป็นอย่างไรกันเลยทีเดียว หลักคิดของหัวหน้าคนงานที่มีหน้าที่รับใช้นายทุนนั้นมีอย่างเดียวคือต้องเคี่ยวเข็ญคนงานให้ทำงานได้ยอดผลผลิตมากที่สุดแบบไม่ต้องสนใจมนุษยธรรม เจ็บป่วยยังไงก็ต้องถูกเคี่ยวเข็ญให้ไปทำงาน โดยการที่หัวหน้าโรงนาเป็นคนถือเงินจ่ายค่าแรงและรับเบิกค่าแรงล่วงหน้าทำให้คนงาน “ไม่กล้าหือ” แถมยังมี “ผู้คุมกฎ” (取締り โทริชิมาริ) ซึ่งทำงานเป็นลูกน้องให้หัวหน้าโรงนาคอยคุมความประพฤติของคนงานอีก
กลวิธีอีกอย่างที่ใช้ผูกคนงานไม่ให้ผละงานหนีไปจากเหมืองก็คือ ไม่จ่ายค่าแรงเป็นเงินสด แต่จ่ายเป็น”ตั๋ว” ที่ใช้ซื้อของกินใช้ได้แค่ที่แผงขายของของเหมือง (ใครเคยดูภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากการ์ตูนเรื่อง KAIJI อาจจำได้ว่าฉากที่พระเอกโดนจับไปเป็นแรงงานทาสทำงานก่อสร้างใต้ดินนั้น นายทาสคือบริษัทเทย์ไอเล่นออกเงินสกุลตัวเองให้คนงานใช้ซื้อของที่แผงขายของของตัวเอง และขายในราคา “แพง” กว่าราคาท้องตลาดด้วย ก็ทำนองเดียวกันครับ—ผู้เขียน) และถ้าอยากเอาตั๋วแลกเป็นเงินสดก็ได้แต่ก็จะโดนเรียกค่าต๋ง (เทียบได้กับค่าธรรมเนียม) แพงๆ
ส่วนเรื่องที่อยู่นั้นจะมีโรงนาเล็กๆ ให้คนงานที่มีครอบครัวอยู่กับครอบครัว และก็โรงนาใหญ่ๆ ไว้ให้คนโสดอยู่รวมกัน บางทีก็ต้องนอนบนพื้นดิน คนงานที่เป็นชายโสดมักใช้ชีวิตสนุกไปวันๆ อย่างคนที่ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ ชีวิตวันๆ มีแค่เรื่องวิวาทกับเล่นการพนัน สิ่งที่น่าสนใจคือที่เหมืองแร่มีคนงานที่เป็น “บุราคุมิน” ด้วย โดยมีการแบ่งแยก (เลือกปฏิบัติ) ทั้งเรื่องที่อยู่หลับนอน ที่อาบน้ำ ไปถึงค่าแรง
การทำงานในเหมืองซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะที่เป็นเกาะเช่นเกาะฮาชิมะนั้น อำนาจรัฐและผู้ใช้กฎหมายมักเอื้อมมือไปไม่ถึง เป็นช่องให้มีการปฏิบัติอย่างกดขี่ในการลงโทษคนงาน จนถึงขั้นมีเพลงว่า “เกาะอสูรนั้นไซร้ หนึ่งทาคาชิมะ สองฮาชิมะ สามซากิโตะ” (一に高島、二に端島、三で崎戸の鬼ヶ島) วิธีการลงโทษก็มีอย่างเช่น “แมงมุมซางาริ” คือจับมัดมือไพล่หลังห้อยลงมาจากคานบนเพดานแล้วตีด้วยไม้เท้า “คินาโกะ” คือเอาเชือกมัดมือมัดเท้า ให้นั่งบนพื้นดิน เทน้ำราดหัวแล้วตีด้วยไม้ ให้กลิ้งคลุกฝุ่นบนดินจนดูคล้ายขนมคลุกผงคินาโกะ อย่างนี้เป็นต้น
การสลายตัวของ “ระบบโรงนา” นั้นมีมูลเหตุจากการที่ว่า ในขณะที่ระบบนี้เป็นการรักษากำลังแรงงานให้คงที่ มันก็ก่อให้เกิดการกดขี่ของหัวหน้าโรงนา และการที่บริษัทเหมืองแร่ไม่สามารถควบคุมคนงานเองโดยตรงได้ ซึ่งทำให้เกิดการวิวาทกันระหว่างโรงนา เช่นคดีระหว่างโรงนาเอกุจิกับโรงนาอิซุมารุของเหมืองทางาวะในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งเล่นกันถึงขนาดโยนระเบิดไดนาไมท์เข้าไปในโรงนา มีคนเจ็บคนตายจนต้องหยุดทำเหมืองไป 3 วัน ทำให้บริษัทเหมืองแร่รู้สึกว่าจะต้องเข้าไปควบคุมคนงานเองโดยตรงแล้ว กอปรกับในปลายยุคเมจิเริ่มมีการนำเอาเครื่องจักรมาใช้ เกิดขบวนการเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงนาเริ่มสลายตัว พอถึงปี พ.ศ. 2465 (ปีไทโชที่ 11) รัฐสภาได้ลงมติให้ยกเลิกระบบโรงนา อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับเหมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนเหมืองถ่านหินขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นยังคงใช้ระบบโรงนาต่อไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ประวัติศาสตร์นั้นมีไว้ให้ศึกษาถึงสิ่งที่ไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นเพื่อที่จะแก้ไขต่อไปในวันหน้านะครับ ที่จริงในยุคเมจิซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมโบราณไปสู่ความทันสมัยที่รับหรือพยายามจะเลียนแบบตะวันตกในด้านหนึ่งนั้น ในอีกด้านหนึ่งความคิดทางสังคมเกี่ยวกับชนชั้นและการปฏิบัติต่อคนระดับล่างที่ต่ำกว่าก็ยัง “ไม่ทันสมัย” “ไม่เป็นอารยะ” อยู่นะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็ปรากฏในกรณีของ “แรงงานหมึกยักษ์” ที่ทำงานสร้างถนนบุกเบิกฮอกไกโดด้วย ซึ่งจะได้นำเสนอแก่ท่านผู้อ่านต่อไปครับ สำหรับวันนี้ขอลาแต่เพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่บทความหน้าสวัสดีครับ
ข้อมูลจาก wikipedia