การเดินทางของ “ไดฟุกุ” จากฟาสต์ฟู้ดในสมัยเอโดะสู่ขนมหวานยอดฮิตในปัจจุบัน

สายหวานที่ชื่นชอบขนมญี่ปุ่นคงไม่มีใครไม่รู้จัก ไดฟุกุ แป้งห่อถั่วแดงลูกกลมนุ่มนิ่ม วากาชิที่เหมาะกับชาเขียวเป็นที่สุด แต่กว่าจะวิวัฒนาการมาเป็นไดฟุกุแบบในปัจจุบัน น้องต้องผ่านอะไรมากมายเลยทีเดียว เราไปดูประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของขนมชนิดนี้กัน!

ไดฟุกุเป็นขนมญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจาก うずら餅 (uzura mochi) หรือโมจินกกระทา ซึ่งทำขึ้นในช่วงครึ่งหลังของสมัยมุโรมาจิ ที่ชื่อนี้เพราะมีรูปร่างที่ดูเหมือนไข่นกกระทา ในช่วงเวลานั้น น้ำตาลถือเป็นของหรูหราฟุ่มเฟือย คนทั่วไปก็หาใช้ไม่ได้ง่าย ๆ uzura mochi ในสมัยนั้นจึงเป็นไส้ถั่วแดงที่ปรุงรสเกลือ เรียกว่า 塩餡 (shio an)

uzura mochi เป็นอาหารที่ทานแล้วอยู่ท้อง อิ่มได้นาน ทำให้มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า 腹太餅 (hara buto mochi) , 大腹餅 (daifuku mochi) หมายถึง โมจิท้องอ้วน และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป บ้างก็มีการผสมถั่วลันเตาและหญ้าโยโมกิลงบนผิวภายนอกของโมจิ เพื่อให้มีรสสัมผัสและรสชาติที่หลากหลาย

หลังจากนั้นในปี 1771 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะ ขนมโมจิเวอร์ชันใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยหญิงหม้ายชื่อ โอทามะ นางอาศัยอยู่ในเอโดะโคอิชิคาวะ และได้ทำขนมโมจิแบบใช้น้ำตาลปรุงรสแทนเกลือ อบบนเตาให้ความร้อนสำหรับขายในฤดูหนาว ในชื่อ お多福餅 (otafuku mochi) และว่ากันว่านี่คือต้นแบบของไดฟุกุในปัจจุบัน

หลายสิบปีให้หลัง otafuku mochi ก็กลายเป็นที่นิยมไปทั่วเอโดะในชื่อ 大福餅 (daifuku mochi) อย่างที่เราคุ้นเคยกัน และด้วยความที่เป็นอาหารที่ทานแล้วอยู่ท้อง ไดฟุกุจึงกลายเป็นเหมือนอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ฮอตฮิตติดปากกันทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างเช่นในหนังสือจากสมัยเอโดะ ก็ได้อธิบายเกี่ยวกับภาพที่พ่อค้านึ่งไดฟุกุร้อน ๆ และเดินขายในคืนฤดูหนาว

การทำขนมไดฟุกุในปัจจุบัน นิยมใช้แป้งกิวฮิซึ่งเป็นแป้งโมจิประเภทหนึ่ง เพื่อไม่ให้ไดฟุกุแข็งง่าย ยังนิ่มตลอดเวลา แต่ในสมัยนั้นจะใช้แป้งโมจิแท้ ๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป ไดฟุกุก็จะแข็งขึ้น จึงต้องนำไปอบหรือนึ่งให้นิ่มก่อนทาน

ในที่สุดไดฟุกุก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศจนมีรูปแบบหลากหลายไปตามท้องถิ่น แต่กระนั้น น้ำตาลก็ยังคงถือเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย ทำให้ในสมัยเมจิและไทโชก็ยังนิยมทาน 塩大福 (shio daifuku) หรือ ไดฟุกุแบบใส่เกลือกันอยู่ แม้กระทั่งในปัจจุบัน บริเวณรอบ ๆ จังหวัดไซตามะก็นิยมทาน 塩あんびん (shio anbin) ซึ่งเป็นไดฟุกุแบบไม่หวาน

塩大福 (shio daifuku)

塩あんびん (shio anbin)

ตั้งแต่นั้นมา ไดฟุกุก็เริ่มได้รับความสนใจจากต่างประเทศในฐานะขนมญี่ปุ่นสมัยเก่า จนกลายเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก

โดยทั่วไปแล้วผู้คนมักมองว่าอาหารที่ดี คืออาหารที่ยังคงสูตรดั้งเดิมโดยไปเปลี่ยนแปลงแม้จะผ่านไปหลายสิบปี แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาหารที่ดีก็สามารถนำมาดัดแปลงเป็นรูปแบบใหม่ ๆ ได้ไม่รู้จบ เช่นเดียวกับไดฟุกุผลไม้ที่เริ่มมาจากสตรอว์เบอร์รี จนตอนนี้มีทั้งเมล่อน องุ่มมัสแคต ส้ม แตงโม และลูกพีช

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย emika (@ek.konatsu)

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย 中條饅頭 (@nakajyoya1110)

น้ำตาลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของราคาแพงและไม่ค่อยถูกนำมาใช้ ปัจจุบันก็ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ของไดฟุกุ ส่วนเกลือที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องปรุงรสแทนน้ำตาลที่ราคาสูง ตอนนี้ก็ถูกนำมาใช้มากกว่าเดิมเพื่อเสริมรสชาติ เนื่องจากรสของเกลือจะช่วยเพิ่มความหวานได้เป็นอย่างดี

โอ้โหหห กว่าจะมาเป็นไดฟุกุที่ทุกคนชื่นชอบ ไม่คิดเลยว่าขนมญี่ปุ่นแสนอร่อยชนิดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมามากมายตั้งแต่อดีต แถมในปัจจุบันยังดัดแปลงเป็นรูปแบบใหม่ ๆ อีกมากมาย ว่าแล้วก็ไปหามาทานมั่งดีกว่า ^^

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save