เปิดที่มาและความสำคัญของวันทานปลาไหลในฤดูร้อน

ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีวันที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกินปลาไหลกันเป็นพิเศษ นั่นก็คือ 土用の丑の日 (doyou no ushi no hi) โดยคนไทยจะรู้จักกันในชื่อวันกินปลาไหล วันกินปลาไหลเป็นวันแบบไหน มีความน่าสนใจอย่างไร เราลองไปดูกันค่ะ แถมเขาว่ากันว่าปีนี้มีวันกินปลาไหล 2 ครั้งอีกด้วย!

土用の丑の日 คืออะไร

 

土用の丑の日 หากแปลตรงตัวจะหมายถึงวันวัวในช่วงเปลี่ยนฤดู คำว่า 土用 (doyou) หมายถึงช่วงเวลา 18 วันที่เริ่มเปลี่ยนฤดูกาล โดยจะเป็นช่วงเวลา 18 วันก่อนจะเข้าสู่ฤดูใหม่ ตัว 土 หมายถึงดิน ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าธาตุ 5 ธาตุจะสื่อถึงแต่ละฤดู คือ

  • ธาตุไม้ = ฤดูใบไม้ผลิ
  • ธาตุไฟ = ฤดูร้อน
  • ธาตุทอง = ฤดูใบไม้ร่วง
  • ธาตุน้ำ = ฤดูหนาว

และสุดท้าย ธาตุดินจะสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล คำว่า 土用 จึงหมายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลทั้ง 4

ตัว 丑 (ushi) หมายถึงวัวใน 12 ปีนักษัตร เราจะเคยชินกับการนับปีวัวจาก 12 ปีนักษัตร แต่ในอดีตก็มีการนับวันตาม 12 นักษัตรด้วยเช่นกัน ทำให้ในช่วงเวลา 18 วันนั้น อาจจะมีวันวัววนมา 1-2 ครั้ง หมายความว่า ความจริงแล้วใน 1 ปี 土用の丑の日 หรือวันวัวในช่วงเปลี่ยนฤดูมีจำนวน 1-2 วันในทุกฤดู ไม่ใช่แค่เพียงในฤดูร้อนเท่านั้น

แต่ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่จะให้ความสำคัญโดยเฉพาะวันวัวในช่วงฤดูร้อน และนิยมกินสิ่งที่ช่วยให้ร่างกายและจิตวิญญาณแข็งแรง เรียกได้ว่าคนในอดีตรู้กันมานานแล้วว่าช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเป็นช่วงที่ต้องระวังเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ

วันกินปลาไหลในแต่ละปี

ปกติแล้วช่วง 土用 ในฤดูร้อนคือวันที่ 19 กรกฎาคมถึง 6 สิงหาคมของทุกปี (อาจเปลี่ยนแปลงได้ 1-2 วัน) จากนั้นวันถัดไปก็จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง วันวัวครั้งที่ 1 ในช่วง 18 วันนั้นจะเรียกว่า 一の丑 (ichi no ushi) วันวัวครั้งที่ 2 เรียกว่า 二の丑 (ni no ushi) ซึ่งวันวัวครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นราว 60% เมื่อนับวันวัวในช่วงเปลี่ยนฤดูตามปฏิทินไปจนถึงปี 2025 จะได้ดังนี้

ปลาไหล

  • ปี 2021 วันพุธที่ 28 กรกฎาคม
  • ปี 2022 วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม, วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม
  • ปี 2023 วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม
  • ปี 2024 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม, วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม
  • ปี 2025 วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม, วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม

ทำไมต้องกินปลาไหล ?

เนื่องจากเป็นวันวัวในช่วงปลายฤดูร้อน อาหารที่นิยมทานกันในฤดูร้อนก็ต้องไม่พ้นปลาไหล วัฒนธรรมการกินปลาไหลในฤดูร้อนนั้นมีมานานแล้ว อย่างเช่นบทกวีใน Manyoshu ก็มีบทที่กล่าวถึงการกินปลาไหลในฤดูร้อนด้วย อีกทั้งปลาไหลยังอุดมไปด้วยวิตามิน A, B, E, D และสารอาหารอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกินปลาไหล 100 กรัม จะได้รับวิตามินเอเพียงพอสำหรับที่ผู้ใหญ่ต้องการใน 1 วัน มีคุณค่าทางโภชนาการและช่วยเรื่องอาการเหนื่อยล้าจากความร้อนในฤดูร้อน

Hiraga Gennai
Hiraga Gennai นักปราชญ์ผู้รอบรู้ในสมัยเอโดะ

มีเรื่องเล่าต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับการกินปลาไหลในวันวัว แต่ทฤษฎีที่โดดเด่นที่สุดก็คือเรื่องของ Hiraga Gennai นักปราชญ์ผู้รอบรู้ในสมัยเอโดะที่ได้ช่วยเหลือร้านปลาไหลซึ่งมียอดขายไม่ดีนัก โดยการเขียนป้าย “本日は土用の丑、鰻食うべし” (วันนี้เป็นวันวัวในฤดูร้อน กินปลาไหลกันเถอะ) ติดที่หน้าร้านในวันนั้น และปกติจะมีธรรมเนียมกินอาหารที่มีตัว う (u) ในวันวัวกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้มีลูกค้ามากินปลาไหลกันมากขึ้น (ปลาไหล : うなぎ) ด้วยเหตุนี้ วันวัวในฤดูร้อนจึงเป็นวันที่ผู้คนนิยมกินปลาไหลเพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นมา

อาหารที่มีตัว う

อุด้ง : うどん
เมนูเส้นที่กินง่ายกลืนง่ายแม้จะไม่มีความอยากอาหารก็ตามแถมยังย่อยง่ายอีกด้วย อุด้งเย็นชื่นใจเหมาะสำหรับวันที่อากาศร้อน หากใส่ผักปรุงรสตามฤดูกาลหรือบ๊วยดองลงไปด้วยก็ยิ่งช่วยให้รู้สึกสดชื่น

แตง : うり
ผักผลไม้ตระกูลแตงมีหลากหลายชนิด เช่น แตงกวา มะระ ฟักทอง ซูกินี แตงโม ฯลฯ ล้วนอุดมไปด้วยโพแทสเซียมซึ่งมีหน้าที่ในการขับโซเดียมและควบคุมปริมาณเกลือที่มากเกินไป นอกจากนี้ยังควบคุมค่า pH ของของเหลวในร่างกายให้สมดุล

บ๊วยดอง : うめぼし
บ๊วยดองหรืออุเมะโบชิทำจากบ๊วยที่เก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายน นำมาหมักเกลือ หลังจากสิ้นสุดหน้าฝนก็นำมาตากให้แห้ง จะทานในช่วงวันวัวในฤดูร้อนพอดี อุเมะโบชิมีกรดซิตริกอยู่มากเหมือนกับผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งช่วยคลายความเหนื่อยล้าจากอากาศร้อนได้ เข้ากันได้ดีกับอุด้งเย็น ๆ

วันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาหากใครยังไม่ทันได้กินปลาไหล ยังมีวันที่ 4 สิงหาคมอีกวันนะคะ ^^

สรุปเนื้อหาจาก jalan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save