จริงหรือเปล่า? เด็กนักเรียนสมัยเอโดะต้องนำโต๊ะเรียนไปเอง!

การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโลก คนญี่ปุ่นในสมัยก่อนจึงเริ่มให้ลูกหลานมีการศึกษา มีการเรียนหนังสือกันมาตั้งแต่สมัยเอโดะ วันนี้เรามีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการเข้าเรียนในโรงเรียนสมัยเอโดะมาฝากค่ะ

เปิดเทอมเดือนกุมภาพันธ์

ในสมัยปัจจุบัน เด็ก ๆ ที่ญี่ปุ่นจะเปิดเทอมใหม่ในเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่กำลังเข้าฤดูใบไม้ผลิ สื่อถึงการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ แต่ในอดีต สมัยเอโดะเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิในเดือนกุมภาพันธ์ เด็ก ๆ จึงเริ่มเข้าเรียนในช่วงเดือนนี้ วัฒนธรรมการเปิดเทอมตามฤดูกาลได้ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยเอโดะ เด็ก ๆ จะเข้าเรียนกันในที่ที่เรียกว่า เทราโกยะ (寺子屋) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้สอนหนังสือให้กับบรรดาลูกหลานชาวบ้านสามัญชนทั่วไป สำหรับวันเปิดเทอมหรือวันที่เริ่มเรียนวันแรกนั้น เด็ก ๆ จะเริ่มเข้าเรียนในวันมะเมียแรกของเดือนกุมภาพันธ์ แล้ววันมะเมียแรกคือวันอะไร?? ในอดีต การนับวันจะนับตามปีนักษัตร เช่น วันชวด วันฉลู วันขาล ไปจนถึงวันกุน และกลับมาเริ่มที่วันชวดอีกครั้ง เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเมื่อถึงวันมะเมียแรกของเดือน เด็ก ๆ ก็จะไปเข้าเรียนที่เทราโกยะทันที

ไม่ได้เข้าเรียนฟรี ๆ นะ

ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับอายุในการเข้าเรียน แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะให้เด็ก ๆ ทั้งชายและหญิงเข้าเรียนในวันมะเมียแรกของเดือนกุมภาพันธ์เมื่อมีอายุครบ 6 ขวบ ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะเข้าไปเรียนได้เลยฟรี ๆ ต้องมีการจ่ายค่าสมัครเข้าเรียน เรียกว่า โซคุชู (束脩) ซึ่งเปรียบเหมือนกับเป็นของที่นำไปมอบให้ครูบาอาจารย์เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ ครูที่มาสอนก็มักจะเป็นเหล่าพ่อค้าหรือซามูไรที่ไม่ได้มีตำแหน่งสูงนัก ราคาค่าสมัครเข้าเรียนในเขตเมืองจะอยู่ที่ประมาณ 200 – 300 บุน (1 บุนเท่ากับ 32.5 เยนในปัจจุบัน) ส่วนในพื้นที่ชนบทจะจ่ายเป็นข้าวและผักที่ปลูกเอง นอกจากนี้ยังต้องมีขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย

ต้องนำโต๊ะเรียนไปเอง!

ในสมัยปัจจุบัน ทางโรงเรียนจะเตรียมโต๊ะเรียนไว้ให้อย่างพร้อมสรรพ แต่ในสมัยเอโดะ นอกจากจะต้องนำกล่องเครื่องเขียนไปเองแล้ว เด็ก ๆ จะต้องนำโต๊ะเขียนหนังสือ ที่เรียกว่า เท็นจินสึคุเอะ (天神机) ไปเองอีกด้วย! ซึ่งจะนำไปในวันที่เข้าเรียนและทิ้งไว้ใช้จนถึงวันที่เรียนจบ

การเข้าเรียนที่เทราโกยะในศตวรรษที่ 19 มีประมาณ 70 – 85% ในขณะเดียวกัน ในตัวเมืองของอังกฤษกลับมีเพียง 20 – 25% และในตัวเมืองของฝรั่งเศสมีน้อยกว่า 10% แสดงให้เห็นว่าอัตราการเข้าเรียนของเด็ก ๆ ในสมัยเอโดะถือว่าสูงกว่ามาก ทำให้เห็นว่าผู้คนในยุคนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็ก ต้องการให้มีวิชาความรู้ติดตัว ตัวเด็ก ๆ เองก็ยินดีที่จะได้ร่ำเรียนให้รู้หนังสือ ให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แหม น่าภูมิใจแทนพ่อแม่ในสมัยนั้นจริง ๆ

ตอนที่ทุกคนยังเป็นเด็กก็คงจะเคยสงสัยว่าเราไปโรงเรียนกันเพื่ออะไร แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็กลับรู้สึกอยากกลับไปเรียนแบบเด็ก ๆ อีกครั้ง ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งพบว่ามีสิ่งที่ยังต้องเรียนรู้มากมายและได้เห็นว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่เพียงใด ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน การศึกษาก็ถือเป็นพื้นฐานที่จะช่วยเปิดโลกให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองต่อไป ว่ามั้ยคะ ^^

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save