รู้หรือไม่? ชาวเอโดะไม่มีธรรมเนียมการไปศาลเจ้าในวันปีใหม่!?

ฮัทสึโมเดะ (初詣) หรือการไปวัดหรือศาลเจ้าครั้งแรกหลังขึ้นปีใหม่ กลายเป็นธรรมเนียมที่ชาวญี่ปุ่นปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานเพื่อขอพรให้ชีวิตมีแต่ความสุขในปีใหม่ แต่ถึงแม้เราจะเห็นว่าปฏิบัติกันมานานมาก แต่แท้จริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นเพิ่งจะมานิยมธรรมเนียมนี้กันในยุคเมจินี่เอง!

การไปศาลเจ้าครั้งแรกในวันปีใหม่ นอกจากจะไปเพื่อขอพรกันแล้ว ยังมีการไปเพื่อปัดทุกข์หรือแก้ชง ว่ากันว่าธรรมเนียมเหล่านี้กลายเป็นความนิยมเนื่องด้วยการแพร่กระจายของทางรถไฟ ทำให้เดินทางไปวัดหรือศาลเจ้าได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงการโฆษณาของวัดนาริตะซัง และวัดคาวาซากิ ไดชิ การสร้างทางรถไฟจึงถือเป็นการตอบสนองความต้องการในการไปวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่อยู่ไกล ๆ

ธรรมเนียมฮัทสึโมเดะ แต่เดิมเรียกว่า โทชิโกโมริ (年籠り) บรรดาเจ้าบ้านจะมาไหว้ขอพรกันที่ศาลเจ้าแถวละแวกบ้านในช่วงคืนวันสิ้นปีจนถึงเช้าวันปีใหม่ โดยโทชิโกโมริ จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ จายาโมเดะ (除夜詣) คือการไปไหว้ในคืนวันสิ้นปี หลังจากนั้นจึงกลับมาไหว้อีกครั้งในเช้าวันปีใหม่ หรือก็คือ กันจิทสึโมเดะ (元日詣)

ถึงแม้ว่าในอดีตจะยังไม่มีธรรมเนียมฮัทสึโมเดะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการไหว้ขอพรต่อเทพเจ้า สิ่งที่คนในสมัยเอโดะนิยมกันก็คือการไปขอพรกับ 7 เทพเจ้าแห่งโชคลาภ และการไปเอโฮไมริ (吉方参り) 7 เทพเจ้าแห่งโชคลาภคือเทพเจ้าแห่งความโชคดี 7 องค์ที่ชาวญี่ปุ่นนับถือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตจะมีอยู่ในทุกเมืองใหญ่ ๆ และตามถนนเส้นหลัก นอกจากนี้ยังมีการบูชาเทพเจ้าในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่อีกด้วย

ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะ การไปเอโฮไมริ ก็เป็นที่นิยม เอโฮไมริ เป็นการเดินทางไปศาลเจ้าตามทิศทางที่เป็นมงคลประจำปีนั้น ๆ ซึ่งทิศที่เป็นมงคลจะเปลี่ยนไปทุกปีขึ้นอยู่กับนักษัตร ในเช้าตรู่ของวันปีใหม่ ผู้คนจะพากันไปที่ศาลเจ้าเพื่อสวดมนต์ ขอพร รับเครื่องราง และเข้าพิธีปัดเป่าความชั่วร้ายหรือแก้ปีชง ปัจจุบันเอโฮไมริ ได้ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมจนล้าสมัยและกลายเป็นรูปแบบของนั่งรถไฟไปที่วัดหรือศาลเจ้าที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบาย

ได้ทราบวิธีการไปไหว้ศาลเจ้าของชาวญี่ปุ่นในอดีตกันแล้ว เราก็มีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับศาลเจ้าและเซียมซีของญี่ปุ่นมาฝากค่ะ

  • ศาลเจ้าเมจิจินกู ขึ้นชื่อเรื่องการไปฮัทสึโมเดะมาก เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาจักรพรรดิเมจิตามชื่อของศาลเจ้า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของซามูไรแคว้นคุมาโมโต้ ต่อมาในสมัยไทโช ได้มีการสร้างป่าเทียมขึ้นโดยการปลูกต้นไม้ อีกทั้งยังมี บ่อน้ำคิโยมาสะ ที่ขุดขึ้นโดยคิโยมาสะ คาโต้ เจ้าแคว้นคุมาโมโต้
  • ว่ากันว่าเซียมซีในวัดอาซากุสะมากกว่า 30% เป็นเซียมซีโชคร้าย เนื่องจากพระนันโกโบะเทนไคได้รับการบอกกล่าวจากเจ้าแม่กวนอิมว่า “การได้รับโชคดี หลังจากนั้นดวงจะค่อย ๆ ดิ่งลงจากจุดสูงสุด แต่การได้รับโชคร้าย หลังจากนั้นดวงจะค่อย ๆ ดีขึ้น”
  • แต่เดิมเซียมซีที่ได้มาจากวัดหรือศาลเจ้า ควรนำกลับบ้านเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในปีนั้น หรือเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ติดตัวไว้เพื่อจะได้ไม่หลงลืมความตั้งใจเดิมของตนเอง การนำไปผูกไว้กับท่อนไม้ เชือก หรือกิ่งไม้ในศาลเจ้านั้นเริ่มขึ้นในสมัยไทโช แต่ไม่มีที่มาที่ชัดเจนว่าเริ่มขึ้นได้อย่างไร แถมยังเป็นธรรมเนียมที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธิชินโตหรือศาสนาพุทธแต่อย่างใด

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save