พูดถึง “เอตะ” กับความคิดแบ่งชนแยกชั้น เลือกปฏิบัติ ที่ยังเหลืออยู่ในสังคมญี่ปุ่น

{"origin":"gallery","uid":"AFCADE9C-4F10-4F12-88D2-372685E935D3_1623675600982","source":"other"}

ช่วงนี้ผู้เขียนมีเวลาก็ตามอ่านข่าวอินเดียบ้าง สนใจเรื่องวิกฤติโควิดครับ และก็เห็นว่าอินเดียเป็นประเทศที่ผู้คนเหมือนหัวเขาจมอยู่กับปลักของความเชื่อที่ทำให้พวกเขามองไม่เห็นความจริง (เช่นเหตุการณ์ที่ไปชุมนุมในพิธีศาสนาที่แม่น้ำคงคงจนโควิดแพร่กระฉูด) ทำให้ไม่เคยแก้ไขปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ในระดับโครงสร้างได้ ก็เพราะความเชื่อทางศาสนา เรื่องวรรณะ มันฝังหัวคนทั้งประเทศเสียขนาดนั้น แต่อย่าว่ากระนั้นเลย ขนาดญี่ปุ่น ประเทศที่ดูจะเจริญด้วยวัตถุ และผู้คนก็ไม่ได้ฝักใฝ่อะไรกับศาสนาขนาดนั้น ยังมีความคิดแบ่งชนแยกชั้นอันเนื่องจากอคติอันเกิดจาก “ความเชื่อ” ทางศาสนาอยู่มาถึงทุกวันนี้เลย ท่านผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “เอตะ” ซึ่งสมัยนี้คนเขาไม่ค่อยกล้าพูดออกสื่อ นัยว่าเป็นคำเหยียด บางทีก็เลี่ยงไปใช้คำว่า “บุราคุมิน” ไปเสีย อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะเปลี่ยนเลือกสรรถ้อยคำอะไรมากพูด มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราคิดอย่างไรปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไรต่างหาก เรื่องจะเป็นอย่างไรนั้นขอเชิญอ่านกันได้เลยครับ

ตามรากศัพท์ เอตะ (穢多) มาจากคำว่า “เคงาะเระงะโออิ” (穢れが多い) ซึ่งแปลว่า “แปดเปื้อนมาก” อาจใช้หมายถึง “งานที่แปดเปื้อนมาก” หรือ “งานที่ทำโดยคนที่แปดเปื้อนมาก (คนบาป)” ตามแนวคิดที่อิงมาจากศาสนาพุทธและชินโต ซึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้ชนะบังคับเอาแรงงานจากทาสที่ถูกพิชิตมาแต่โบราณกาล

การเลือกปฏิบัติในลักษณะนี้ว่ากันว่าเริ่มมาแต่ยุคเฮอัน แต่มาเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ จังๆ ในยุคเอโดะ แต่พอมายุคเมจิก็ได้ห้ามมิให้มีการเรียกชื่อเช่นนั้นอีก ว่ากันว่าการเลือกปฏิบัติเช่นนี้มีปรากฏในเกียวโตและนาราสืบย้อนได้ไปถึงยุคคามาคุระ

ในยุคเอโดะนั้นอย่างที่ทราบกันว่าแบ่งคนออกเป็นสี่วรรณะตามอาชีพ คือ “ชิโนโคโช” (士農工商 นักรบ กสิกร ช่างฝีมือ พ่อค้า) แต่ในทางปฏิบัติเป้นที่รู้กันว่า “นักรบ” ซามูไรนั้นจัดเป็นคนวรรณะสูงสุด ดังนั้นอีกสามวรรณะนั้นก็ถือว่าพอๆ กัน (คือเป็นแค่คนธรรมดาสามัญเหมือนกัน) แต่ “เอตะ” หรือบางทีเรียก “ฮินิน” (ไม่ใช่คน 非人) นั้น “ต่ำ” ยิ่งไปกว่านั้นอีก จะเรียกว่าเป็น “จัณฑาล” ในสังคมญี่ปุ่นยุคเอโดะก็ยังได้

งานที่จัดว่าเป็น “งานที่แปดเปื้อน” นั้น ที่เห็นชัดในยุคเอโดะได้แก่งานฟอกหนังสัตว์ (เนื่องจากถือข้อปาณาฯ ห้ามฆ่าสัตว์) งานประหารนักโทษ (เพชฌฆาต) คนเฝ้ายาม คนจัดหาสิ่งบันเทิง (นักระบำรำฟ้อน) คนทำและขายรองเท้าแตะ คนขายไส้ตะเกียง เป็นต้น แนวคิดเลือกปฏิบัติแบบเหยียดสุดขั้วมาถึงขั้นที่ว่า แม้แต่จนมาถึงปลายยุคเอโดะ (ราวกลางศตวรรษที่สิบเก้า) ยังมีบันทึกว่าบุเงียว (奉行 เทียบได้กับผู้ว่าราชการซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในตัว) คนหนึ่งยังตัดสินว่า “ชีวิตของเอตะนั้นเทียบเท่ากับหนึ่งในเจ็ดของชีวิตสามัญชน” คือมีค่าน้อยกว่าคนธรรมดาเสียอีก

อย่างไรก็ดี แม้กระแสแนวคิดตะวันตกในเรื่องความเท่าเทียม หรือการไม่เลือกปฏิบัติจะมีเข้ามา แนวคิดอคติจากยุคโบราณก็ยังมีปรากฏอยู่ ดังเช่นเนื้อหาในบทความหนึ่งของเว็บ BBC ฉบับภาษาญี่ปุ่นที่พูดถึงเรื่องที่ “คนทำงานโรงชำแหละเนื้อ” ที่ชิบาอุระ โตเกียว ถูกคนส่ง “จดหมายล่วงละเมิด” ที่เขียนว่า “สัตว์ที่ถูกพวก “เอตะ” ฆ่าตาย ช่างน่าสงสาร”และแน่นอน คนที่อาชีพนี้ แม้จะในยุคปัจจุบัน พวกเขาก็รับรู้ถึงอคติที่สังคมมีต่อพวกเรา จนไม่อยากเปิดเผยอาชีพของตนเองนัก

แม้ระบบชนชั้นวรรณะแบบนี้ ในทางกฎหมายจะถูกยกเลิกไปพร้อมกับระบบศักดินามาแต่ ค.ศ. 1871 แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่ได้หายไป ยังปรากฏว่ามีนายจ้างที่เรียกร้องให้คนสมัครงานต้องยื่นทะเบียนบ้านที่เขียน “ภูมิลำเนาเกิด” และมีคนที่ถูกเลือกปฏิบัติจากตรงนี้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีคนทำ “บัญชีรายชื่อ” ชื่อแห่งหนตำบลที่อยู่ว่าที่ไหนเป็นที่อยู่ของพวก “บุราคุมิน” (部落民) คือพวก “เอตะ” แล้วขายทางไปรษณีย์ให้แก่บริษัทห้างร้านต่างๆ ให้เอาไว้ใช้ “คัดคน” ที่สนุกกว่านั้นคือ ในปี 2009 แผนที่ “Google Earth” ได้ถูกทำให้สามารถแสดง “แผนที่เก่า” ของโตเกียวและโอซาก้าได้ และมันกลายเป็นเครื่องชี้จุดว่า ตรงไหนเป็นย่านที่อยู่ของพวก “บุราคุมิน” (部落民) มาแต่สมัยก่อนยุคเอโดะเสียอีก ซึ่งนำไปสู่อคติและปัญหาการเลือกปฏิบัติได้อีก

อีกเหตุผลหนึ่งที่คนในสังคมยุคนี้ยังมีอคติต่อเอตะ หรือ “บุราคุมิน” ก็คือ การที่คนในสังคมเห็นว่า คนพวกนี้มักเกี่ยวพันกับแก๊งอันธพาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ เพราะสำหรับคนพวกนี้ซึ่งสังคมไม่ต้อนรับนี้ สำหรับพวกเขาชีวิตอาจไม่มีที่ไปอื่นนอกจากเข้าสู่โลกของพวกอันธพาล

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ? สำหรับผู้เขียน จะเอตะหรือจัณฑาลมันเหมือนกันตรงที่ ประวัติศาสตร์ยุคโบราณนั้น ผู้ชนะมักเอาผู้แพ้เป็นทาส สร้างโครงสร้างการปกครอง/สังคมเพื่อกดหัวไว้ ใช้ศาสนา/ความเชื่อ เป็นเครื่องมือโน้มน้าวให้คนเห็นดีกับ “โครงสร้างสังคม” ที่กดหัวคนกลุ่มหนึ่งพวกหนึ่งไว้ และอะไรก็ตามพอสร้างขึ้นเป็นโครงสร้างอันเข้มแข็งอยู่มานานแล้ว เป็นหลักศาสนา เป็นวัฒนธรรมไปแล้ว มันแก้ไขยาก แม้แนวคิดสังคมเรื่องความเท่าเทียมจากโลกตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลสร้างกระแสแรงกระเพื่อมในสังคมประเทศในโลกตะวันออกแค่ไหน แต่ของที่อยู่มานานยังไม่ยอมล้มง่ายๆ หรอกครับ อย่างเก่งเจอกระแสสังคมเรื่องความเท่าเทียม สิทธิมนุษย์ ฯลฯ เข้าไปมากๆ ก็แค่ถอยเข้าไปอยู่ในซอกหลืบ ในวัตรปฏิบัติของคนบางพวกบางกลุ่มอยู่ดี เอางี้ดีกว่าครับ ประเทศไทยเนี่ย ปี 2021 แล้ว ยังมีเรื่องวีไอพีลัดคิวอยู่ไหมล่ะครับ? ก็นั่นแหละครับ ง่ายๆ แค่นี้ สวัสดีครับ

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia และ BBC

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save