เดือนกันยายนของญี่ปุ่นเป็นเดือนส่งท้ายก่อนเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เป็นเดือนที่ยังคงมีอากาศร้อนและมีฝนตกอยู่บ้าง แต่อุณหภูมิจะเริ่มเย็นลงและเปลี่ยนเข้าสู้ฤดูใบไม้ร่วงในที่สุด เนื่องจากกันยายนเป็นเดือนแห่งการผลัดเปลี่ยนฤดูจึงเกิดสงสัยขึ้นมาว่าปกติคนญี่ปุ่นเขามักทำอะไรในเดือนนี้กันบ้าง ก็เลยถือโอกาสนำอีเวนต์น่าสนใจประจำเดือนนี้มาแนะนำให้ทุกคนได้อ่านกัน ซึ่งรวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ วันสำคัญ และธรรมเนียมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนรวบรวมเอาไว้ให้ที่นี่แล้วค่ะ
1. วันซ้อมป้องกันภัยพิบัติ
สำหรับวันป้องกันภัยพิบัตินั้น จัดขึ้นวันที่ 1 กันยายน ซึ่งตรงกับวันที่เกิดภัยพิบัติใหญ่ในสมัยปีโชวะที่ 12 (ปี 1923) และเนื่องจากทุกๆ ปีญี่ปุ่นมักเจอกับมรสุมอยู่บ่อยครั้ง วันนี้จึงมีความสำคัญในการช่วยให้ตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อค่ะ
สำหรับวันซ้อมป้องกันภัยพิบัตินี้ ทั่วประเทศญี่ปุ่นจะมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ รวมกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม เช่น การฝึกซ้อมอพยพประชากรจำนวน 880 คนที่จ.โอซาก้า, การจัดอีเวนต์ป้องกันภัยที่ชินจูกุ ชื่อ “Shinjuku Bosai Festa” (ครั้งล่าสุดถูกจัดขึ้นเมื่อปี 2019 ส่วนปี 2020 ถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ค่ะ) นอกจากนี้ยังมีการจัดงานในลักษณะเดียวกันที่จ.ไซตามะ, ฮอกไกโด, ชิซึโอกะ และโทยามะ เป็นต้นด้วย
นอกจากการจัดอีเวนต์แล้ว กิจกรรมที่มักปฏิบัติกันภายในครอบครัวสำหรับวันนี้ก็คือ การพูดคุยถึงข้อควรปฏิบัติตัวยามเกิดภัยพิบัติร่วมกัน เช่น กำหนดจุดรวมพล การบันทึกช่องทางติดต่อที่สำคัญรวมถึงเบอร์ติดต่อของสมาชิกภายในครอบครัวเพื่อให้สามารถติดต่อกันได้โดยง่าย การตรวจสอบและสับเปลี่ยนของใช้ภายในบ้านที่อาจเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่างๆ ได้ การตรวจสอบของใช้ที่จำเป็น ยา อาหารในถุงพกพายังชีพ ไฟฉาย และวิยุยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่หรือไม่ เป็นต้น
2. วันเคารพผู้สูงอายุ
วันเคารพผู้สูงอายุเป็นวันหยุดราชการอีกวันหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อแสดงความเคารพรักและยังเป็นการแสดงความรู้สึกขอบคุณและยินดีให้กับเหล่าผู้สูงอายุที่ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตมายาวนานหลายปี ส่วนธรรมเนียมปกติในครอบครัวก็จะมีการกล่าวคำแสดงความขอบคุณที่ปกติแล้วอาจไม่ค่อยได้บอกให้ฟัง หรือการทานข้าวร่วมกันซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เหล่าคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายดีใจที่ได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวค่ะ
วันรำลึกผู้สูงอายุเคยถูกกำหนดไว้เป็นวันที่ 15 กันยายน แต่เนื่องจากมีการนำระบบ Happy Monday System (การย้ายวันหยุดราชการส่วนหนึ่งให้ตรงกับวันจันทร์เพื่อให้เหล่าคนทำงานได้มีวันหยุดติดกัน 3 วัน) เข้ามาใช้ จึงเปลี่ยนไปเป็นวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ตั้งแต่ปีเฮเซที่ 15 (ปี 2003)
ที่มาของวันนี้กล่าวกันว่าเริ่มมาจากที่จังหวัดเฮียวโกะเมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน โดยผู้ใหญ่บ้านเมืองทากะได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ และอยากยืมความรู้ความสามารถของเหล่าคนสูงอายุผู้มากประสบการณ์ไว้ในสังคมเดียวกันและได้สร้างหมู่บ้านขึ้นวันที่ 15 กันยายน ในสมัยปีโชวะที่ 22 (ปี 1947) ซึ่งวันนั้นได้กลายเป็นวันผู้สูงอายุ (年寄りの日 (Toshiyori no Hi)) นอกจากนี้ยังจัดตั้ง “สมาคมเคารพผู้สูงอายุ” ขึ้นอีกด้วยค่ะ
3. วัน Juugoya
十五夜 (Juugoya) หรือวันพระจันทร์เต็มดวงที่เหล่ามนุษย์หมาป่ากลายร่างออกตามล่า…. ไม่ใช่สิ (^ ^”) สำหรับญี่ปุ่นแล้วในวันนี้จะหมายถึงวันชมพระจันทร์ หรือ お月見 (Otsukimi) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “中秋の名月(Chuushuu no meiketsu)” ด้วย ทั้งหมดนี้มีความหมายถึงวันพระจันทร์เต็มดวงของฤดูใบไม้ร่วง ในวันนี้จะมีธรรมเนียมโดยการประดับตกแต่งด้วยหญ้าสุสุกิ การทำขนมดังโงะ และออกมานั่งชมพระจันทร์
การชมจันทร์และดังโงะเป็นสิ่งที่มักเห็นได้บ่อยครั้งจากอนิเมะ ซึ่งก็หมายถึงวัน Juugoya นี้นี่เองล่ะค่ะ โดยมีความหมายถึงพระจันทร์เต็มดวงในคืนเดือนเพ็ญ ในภาษาอังกฤษ คือ “A full moon night” ตามปฏิทินจันทรคติแบบเดิมวันไหว้พระจันทร์เป็นวันที่ 15 สิงหาคมซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วง (เดือนกรกฎาคม – กันยายน)
ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนธันวาคมจะมีคืนเดือนเพ็ญทั้งหมดเลย แต่เหตุผลที่จัดวันไหว้พระจันทร์ขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็เพราะเป็นช่วงที่พระจันทร์สวยที่สุดและมองเห็นได้ชัดที่สุด จึงเหมาะกับการชมพระจันทร์ในช่วงนี้มากที่สุดนั่นเอง และถึงจะบอกว่าคืนเดือนเพ็ญมีทุกเดือน แต่ถ้าพูดถึง Juugoya แล้วโดยทั่วไปจะหมายถึงพระจันทร์ที่สุกสกาวในฤดูใบไม้ร่วงในวันไหว้พระจันทร์ค่ะ
สิ่งที่ต้องเตรียมในวันนี้ ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็คือหญ้าญี่ปุ่นสุสุกิ ที่ต้องใช้หญ้าชนิดนี้เพราะมีความเชื่อในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ หลังจากไหว้พระจันทร์เสร็จแล้วเชื่อว่าจะรอดพ้นจากภัยอันตรายและอาการเจ็บปวดตลอด 1 ปีเลยล่ะค่ะ
ส่วนการทานดังโงะชมพระจันทร์ หรือ 月見団子 (tsukimi dango) นั้นเพราะดังโงะมีรูปร่างทรงกลมคล้ายกับพระจันทร์ ซึ่งรูปร่างกลมนี้เชื่อว่าดีต่อการเสริมดวงชะตา และดังโงะยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย จึงมีความคิดว่าหากทานดังโงะแล้วจะสุขภาพดีทั้งกายและใจ ส่วนวันพระจันทร์เต็มดวงหรือ Juugoya ของปีนี้จะตรงกับวันที่ 21 กันยายนนี้ค่ะ
4. Shuubun no Hi
秋分の日(Shuubun no Hi) เป็นวันหยุดราชการที่วันที่จะเปลี่ยนไปในแต่ละปีเนื่องจากการคำนวณตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดังนั้นทุกๆ ปีวันที่จึงจะไม่ตรงกันเสมอไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักตรงกับวันที่ 23 กันยายน ดังนั้นจึงมีคนญี่ปุ่นไม่น้อยเลยที่เข้าใจกันว่าวัน Shuubun no Hi คือวันที่ 23 ค่ะ และของปีนี้ก็ตรงกับวันที่ 23 กันยายนด้วย (ปี 2012, 2016, 2020 ตรงกับวันที่ 22)
อาหารประจำวัน Shuubun no Hi คือ โอฮางิ (おはぎ) ซึ่งก็คือโมจิคลุกถั่วแดงกวน มีการกล่าวกันว่าสีแดงของถั่วแดงนั้นช่วยปกป้องเราจากภัยอันตรายต่างๆ ได้ จึงมีความเชื่อในการกำจัดสิ่งชั่วร้าย และถูกใช้ในการนำมาไว้อาลัยให้แก่บรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยเอโดะแล้วล่ะค่ะ (วัน 春分の日 (Shunbun no Hi) ในฤดูใบไม้ผลิก็จะทานเหมือนกันแต่เรียกว่า โบตะโมจิ (ぼたもち) โดยทั้ง 2 แบบจะเหมือนกันทุกอย่างเลย ต่างกันเพียงชื่อเรียกตามชื่อดอกไม้ประจำฤดูเท่านั้นค่ะ)
กิจกรรมในวันนี้ คนญี่ปุ่นมักจะไปไหว้สุสานของบรรพบุรุษ บอกเล่าเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตช่วงหลังให้ฟัง ระลึกและซาบซึ่งถึงบุญคุณของเหล่าบรรพบุรุษ และทานโอฮางิร่วมกันค่ะ
5. Aki no Ohaka
วันหยุดราชการของญี่ปุ่นจะมีวันที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล คือ 春分の日(Shunbun no Hi) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิกับ 秋分の日 (Shuubun no Hi) ช่วงฤดูใบไม้ร่วงตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 4 ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีวัน 彼岸の日(Higan no Hi) อยู่ด้วยค่ะ
彼岸の日 (Higan no hi) จะเป็นวันก่อนและหลัง Shunbun และ Shuubun no Hi โดยห่างกันอย่างละ 3 วัน รวมทั้งหมด 7 วัน วันแรกเรียกว่า 彼岸の入り(Higan no Iri) นับจากนั้นอีก 3 วันถึงจะเป็นวัน Shunbun หรือ Shuubun จากนั้นอีก 3 วันเป็นวันสุดท้ายซึ่งเรียกว่า 彼岸の明け(Higan no Ake)
ดังนั้นวัน Higan no Hi ใน 1 ปี จะมี 2 ครั้ง คือในฤดูใบไม้ผลิ (เดือนมีนาคม) และฤดูใบไม้ร่วง (เดือนกันยายน)ค่ะ
นอกเหนือจากการกล่าวถึงฤดูแล้ว Higan ยังมีความหมายอื่นด้วยคือ “อีกฝั่งแม่น้ำ” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “โลกนั้นสำหรับโลกนี้”ในทางพุทธศาสนา “โลกนี้” หมายถึงโลกแห่งกิเลส ส่วน “โลกนั้น” เป็นทางสู่นิพพาน ซึ่งทั้งสองโลกถูกแยกออกจากกันโดยมีแม่น้ำคั่นกลางไว้ กล่าวคือเป็นการแบ่งโลกแห่งชีวิตและโลกแห่งความตายค่ะ
ความจริงแล้ว Higan มีหลายความหมายเลยล่ะค่ะ แม้แต่ดอกฮิกันบานะ (彼岸花) ก็ยังถูกเขียนด้วยคันจิตัวเดียวกันนี้ด้วย
โดยปกติแล้วในวันนี้จะมีธรรมเนียมคือการไปไหว้สุสานบรรพบุรุษและการทานโอฮางิ (โมจิคลุกถั่วแดงกวน)
ส่วนวัน Higan no Hi ในเดือนกันยายนของปีนี้จะตรงกับวันที่ 20 – 26 กันยายนค่ะ
6. Silver Week วันหยุดสุดหายาก (!?)
ใครว่าญี่ปุ่นมีแต่ Golden Week นอกจากวันหยุดยาวช่วง Golden Week แล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมี Silver Week อยู่ด้วยนะคะ ซึ่ง Silver Week เป็นวันหยุดยาวที่มีในช่วงฤดูใบไม้ร่วง พออ่านแล้วก็รู้สึกแปลกๆ ใช่ไหมคะ บางคนอาจสงสัยด้วยว่าไม่เห็นเคยได้ยินเลยนะ แน่นอนค่ะว่าไม่แปลกเลยที่แทบไม่เคยได้ยิน เพราะว่า Silver Week ไม่ได้มีทุกปีหรอกนะคะ (!?)
ความจริงแล้ว Silver Week มีขึ้นเนื่องจากการวางระบบ Happy Monday System เพื่อให้ได้วันหยุดยาวติดต่อกัน ทำให้มีการย้ายวันผู้สูงอายุมาเป็นวันจันทร์ที่ 3 ของเดือน และวันเสาร์กับวันอาทิตย์จะตรงกับวัน Shuubun no Hi พอดิบพอดี ปีใดที่มีวันหยุดยาวติดกัน 5 วันขึ้นไปจะถูกเรียกว่า “Silver Week” ค่ะ กล่าวคือเป็นวันหยุดราชการชนิด Rare Item ที่จะเปลี่ยนไปตามวันของแต่ละปี ในอดีตที่ผ่านมามี Silver Week อยู่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือปี 2009 และปี 2015 ส่วนครั้งที่ 3 นี้จะมีอีกเมื่อไหร่ก็ยังไม่แน่ใจเลยค่ะ เพราะเมื่อลองคำนวนดูล่วงหน้าไปจนถึงปี 2026 แล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่า Silver Week จะแวะเวียนมาหาเลย (TwT)
เดือนกันยายนนี้อาจจะยังสัมผัสกลิ่นอายของฤดูใบไม้ร่วงได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็จะเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนผลัดเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงทีละน้อย แม้จะสัมผัสได้น้อยนิด แต่อีเวนต์ต่างๆ ประจำเดือน เช่น Juugoya และ Higan no Hi ก็ทำให้สัมผัสถึงฤดูใบไม้ร่วงได้ จึงทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกตื่นเต้นจนจะอดใจรอชมใบไม้เปลี่ยนสีแทบไม่ไหวแล้วล่ะค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก : jpnculture.net, ohnoya.co.jp