ชื่อเดือนกุมภาพันธ์ กับความรักธรรมชาติของคนญี่ปุ่น

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ แต่อากาศที่ญี่ปุ่นก็ยังคงหนาวเย็นมาก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ไหมคะว่าสมัยญี่ปุ่นโบราณมีชื่อเรียกเดือนกุมภาพันธ์ว่า きさらぎ (衣更着月 : Kisaragi) หรือเดือนแห่งการสวมเสื้อผ้าทับอีกชั้น เนื่องจากอากาศที่หนาวมากจนต้องสวมเสื้อผ้าเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง ปกติจะเขียนด้วยคันจิว่า 如月 ซึ่งเป็นการยกคำจากปฏิทินตามจัทรคติของจีนมาใช้ จึงไม่มีความหมายในภาษาญี่ปุ่น แต่นอกจาก きさらぎ แล้ว เดือนกุมภาพันธ์ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกมากมายเลย ลองไปดูกันค่ะ

梅見月 (うめみづき : Umemitsuki)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงเดือนแห่งการชมดอกบ๊วย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดอกบ๊วยจะเริ่มเบ่งบานดูสวยงามน่าชื่นชม นอกจากนี้ยังเรียกได้อีกว่า 梅花見月 (うめはなみづき : Umehanamitsuki) หรือ 梅津月 (うめつづき : Umetsutsuki)

花朝 (かちょう : Kachou)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงดอกไม้ยามเช้า เมื่อพูดถึงดอกไม้ของญี่ปุ่น ในยุคสมัยนี้ก็ต้องนึกถึงดอกซากุระ แต่ในสมัยโบราณผู้คนจะนึกถึงดอกบ๊วย เป็นการเปรียบเทียบช่วงเวลาที่ดอกบ๊วยเบ่งบานเหมือนกับการลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า บางครั้งก็มีการใช้อักษรจีนเขียนว่า 華朝 แต่มีความหมายเหมือนกัน

雁帰月 (かりかえりづき : Karikaeritsuki)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงเดือนที่ห่านกลับ ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศหนาวมาก ห่านจะบินมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อหลบหนาว และเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ใกล้สิ้นสุดฤดูหนาว ฝูงห่านจึงจะเริ่มบินกลับขึ้นสู่ทางเหนือตามเดิม

恵風 (けいふう : Keifuu)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงสายลมจากฟ้าประทาน โอ้โหหห ชื่อฟังดูหรูหราไฮโซมาก ๆ เนื่องจากในเดือนนี้ บางพื้นที่หิมะจะเริ่มละลาย ต้นไม้ใบหญ้าจะเริ่มแตกหน่อ รวมทั้งมีลมฤดูใบไม้ผลิพัดมา เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังจะเข้าสู่ฤดูใหม่

仲春 (ちゅうしゅん : Chuushun)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงกลางฤดูใบไม้ผลิ ตามปฏิทินจันทรคติ ฤดูใบไม้ผลิจะหมายถึงเดือน 1 ถึงเดือน 3 สำหรับเดือน 1 จะเรียกว่า 孟春 (もうしゅん : Moushun) หมายถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ เดือน 3 จะเรียกว่า 季春 (きしゅん : Kishun) หมายถึงปลายฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้นเดือน 2 จึงเป็นกลางฤดูใบไม้ผลิ

卯月 (ぼうげつ : Bougetsu, うのつき : Unotsuki)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงเดือนกระต่าย จริง ๆ แล้วคำนี้เป็นคำที่หมายถึงเดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งในสมัยจีนโบราณ เดือน 1 ถือเป็นเดือนเสือ ดังนั้น เดือน 2 จึงเป็นเดือนกระต่าย แต่เพื่อไม่ให้สับสนกับเดือน 4 จึงควรใช้คำว่า 建卯月 (けんぼうげつ : Kenbougetsu) จะดีกว่า

雪消月 (ゆききえづき : Yukikietsuki, ゆきけしづき : Yukikeshitsuki)

ความหมายตามตัวคันจิหมายถึงเดือนหิมะละลาย อย่างที่กล่าวไป บางพื้นที่ของญี่ปุ่นในเดือนนี้เป็นเดือนที่หิมะจะเริ่มละลาย อากาศเริ่มอุ่นขึ้นเพื่อเตรียมตัวเข้าฤดูใบไม้ผลิ

令月 (れいげつ : Reigetsu) 麗月

令 หมายถึง ดี และ 麗 แปลว่า ความงดงาม, ผุดผ่อง ซึ่งถูกใช้เป็นคำชื่นชมความงดงามในเดือน 2 มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความงดงามของดอกบ๊วยที่เริ่มเบ่งบานในเดือนนี้

February

แถมให้อีกนิดนะคะสำหรับชื่อเดือนในภาษาอังกฤษ รากศัพท์ของคำว่า February ว่ากันว่ามาจากคำว่า Februalia เป็นพิธีกรรมของโรมันโบราณที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยจะมีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณเพื่อชำระล้างวิญญาณของผู้ที่ตายในสงคราม รวมทั้งบวงสรวงต่อเทพ Februus เทพเจ้าแห่งความตายและความบริสุทธิ์

สังเกตได้ว่าแต่ละชื่อล้วนมีความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติรอบตัวทั้งนั้นเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นดอกบ๊วย หิมะ หรือห่าน บ่งบอกได้ว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับธรรมชาติมาก ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้กระทั่งการเรียกชื่อเดือนที่คล้องกับสภาพแวดล้อมว่ากำลังผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่แสนอบอุ่น ลึกซึ้งจริง ๆ ^^

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save