เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก (Global Gender Gap Report) ประจำปี 2022 ซึ่งได้มีการเปิดเผยดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Gender Gap Index: GGI) ของแต่ละประเทศทั่วโลก รวม 146 ประเทศด้วยกัน และในนั้นก็มีญี่ปุ่นกับไทยด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าใครอยู่อันดับไหนกันบ้าง
ความเท่าเทียมทางเพศญี่ปุ่นได้อันดับ 116 จาก 146 รั้งท้าย G7
ผลการจัดอันดับของปีนี้ ญี่ปุ่นได้อันดับ 116 จาก 146 ประเทศ แม้จะได้อันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วจากอันดับ 120 แต่ก็ถือว่ายังแย่ที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ใน G7 อย่างเช่น เยอรมัน (อันดับ 10) ฝรั่งเศส (อันดับ 15) อังกฤษ (อันดับ 22) แคนาดา (อันดับ 25) อเมริกา (อันดับ 27) อิตาลี (อันดับ 63) ญี่ปุ่นได้อันดับรั้งท้ายห่างจากประเทศอื่น ๆ อีกมาก และเมื่อกลับมาดูประเทศข้างเคียงในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นก็ยังได้อันดับแย่กว่าเพื่อนอย่างเกาหลี (อันดับ 99) และจีน (อันดับ 102) อยู่ดี
ความเท่าเทียมทางเพศไทยได้อันดับ 79 จาก 146 ติด Top 10 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
มาดูที่ประเทศไทยของเราบ้าง ถ้าดูในภาพรวมเราได้อันดับ 79 จาก 146 เรียกได้ว่าอยู่กลาง ๆ ส่วนเมื่อดูเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิครวมทั้งหมด 19 ประเทศ ไทยได้อันดับที่ 8 จาก 19 ถือว่าอยู่ใน Top 10 ส่วนญี่ปุ่นนั้นได้อันดับที่ 19 รั้งท้ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างก็ได้อันดับไล่เลี่ยกันไป สิงคโปร์ (อันดับ 4) สปป. ลาว (อันดับ 5) เวียดนาม (อันดับ 9) กัมพูชา (อันดับ 11) เมียนมาร์ (อันดับ 16)
ความเท่าเทียมทางเพศของญี่ปุ่นจากหลากหลายมิติ
เรามาเจาะลึกความเท่าเทียมทางเพศของญี่ปุ่นกันอีกสักนิด ใช่ว่าจะแย่ไปเสียทุกมิติ อย่างเรื่องการศึกษา การอ่านเขียน และอัตราเด็กเกิดใหม่ ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีโอกาสเท่า ๆ กันหมด ยังคงรักษาความเท่าเทียมทางเพศอันดับต้น ๆ ในสามมิตินี้ไว้ได้ แต่ช่องว่างดันเกิดเมื่อโตขึ้น เพราะถ้าเราดูข้อมูลรายได้จากการทำงาน จำนวนนักการเมือง ผู้บริหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ผู้หญิงยังคงแตกต่างกับผู้ชายมาก สำหรับอันดับของญี่ปุ่นในมิติพวกนี้ต่ำกว่า 100 ทั้งนั้น โดยเฉพาะในมิติจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ญี่ปุ่นได้อันดับ 133 ในมิตินักการเมืองและผู้บริหาร ได้อันดับ 130 และในมิติคณะรัฐมนตรี ได้อันดับ 120 เรียกได้ว่า ยืนอยู่ปากเหวในหลายมิติเลย
ประเทศแนวหน้าอย่างญี่ปุ่นก็ยังคงมีความท้าทายให้หาทางออกกันต่อไป สำหรับไทยเราเองก็ยังคงต้องพัฒนาเพื่อสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมุมมองความเท่าเทียมทางเพศในแต่ละประเทศต่างมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมความเป็นอยู่ตั้งแต่ในอดีต อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ แต่อย่างน้อย การที่เราแต่ละคนเห็นความสำคัญของผู้อื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกันก็อาจจะพอช่วยให้สังคมดีขึ้นได้นะคะ
สรุปเนื้อหาจาก sustainablejapan