โอนิ ยาฉะ เคียวจิน กับเรื่องยักษ์ๆ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

โอนิ (鬼) ยาฉะ (夜叉) และเคียวจิน (巨人) ทั้งสามคำในภาษาญี่ปุ่นล้วนแปลเป็นภาษาไทยได้ว่ายักษ์จนบางครั้งก็ชวนสับสน แต่ยักษ์ในความหมายของแต่ละคำต่างกันอย่างไร? วันนี้เราไปทำความเข้าใจยักษ์ในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นกันค่ะ

โอนิ ยักษ์ร้ายประจำตำนาน

โอนิ ยักษ์ร้ายประจำตำนาน

มาเริ่มกันที่โอนิซึ่งน่าจะเป็นคำเรียกยักษ์ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดกัน ถ้าเป็นเพื่อนๆ ที่ชอบนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นหรือตำนานวัฒนธรรม หรือชอบผลงานป๊อบคัลเจอร์เกี่ยวกับภูติผีปีศาจแล้ว เดาว่าทุกคนคงเคยเจอคำว่าโอนิกันมาไม่มากก็น้อย ยักษ์ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่าโอนินี้ โดยทั่วไปมักหมายถึงสิ่งมีชิวิตในจินตนาการที่ชั่วร้าย มีรูปร่างน่ากลัว และมีพลังเหนือธรรมชาติที่สามารถใช้ทำร้ายคนและสัตว์อื่นได้ดั่งใจนึก กล่าวง่ายๆ คือเป็นตัวร้ายขาประจำในตำนานและนิทานญี่ปุ่นนั่นเอง

ที่มาของแนวคิดเรื่องโอนินั้นถูกสันนิษฐานว่าเป็นการผนวกแนวคิดเรื่องเทพเจ้ายักษ์ (鬼神夜叉) เปรต (餓鬼) และยักษ์บริวารของราชาเอ็นมะ (閻魔王) ผู้ปกครองนรกตามความเชื่อของญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน โดยยักษ์แรกๆ ที่ปรากฏในวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้แก่โยมตสึชิโคเมะ (黄泉醜女) ยักษ์ที่มีร่างกายล่องหนในโคะจิกิ (古事記) และตั้งแต่นั้นมาทั้งแนวคิดและภาพลักษณ์ของยักษ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม ลักษณะหนึ่งที่คงอยู่คือความเชื่อเรื่องการใช้วิธีการปราบแบบอนเมียวโด (陰陽道) หรือพุทธในการปราบยักษ์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดอีกกระแสเกี่ยวกับยักษ์ที่ต่างออกไปคือความเชื่อเรื่องยักษ์ที่คล้ายกับมนุษย์ภูเขา (山人) ที่พบได้ตามภูมิภาคโทโฮคุ (東北地方) คิวชู (九州) และภูมิภาคอื่นที่มีภูเขา โอนิในแนวความเชื่อนี้จะอาศัยอยู่ตามภูเขา มีใบหน้าแดง และมีภูมิความรู้ ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงมนุษย์ที่พบโอนิในภูเขาและได้รับความรู้ให้เห็นอยู่ ซึ่งแนวคิดนี้จะเป็นการมองโอนิในฐานะเทพเจ้าตามภูเขาที่มีคุณต่อมนุษย์ แทนที่จะเป็นศัตรูของมนุษย์อย่างโอนิทั่วไป

ยาฉะ เทพยักษ์ผู้รักษาศาสนสถาน

ยาฉะ เทพยักษ์ผู้รักษาศาสนสถาน
รูปปั้นบิชามอนเท็น

ยาฉะเป็นวิธีการออกเสียงคำว่า “ยักษา” ของญี่ปุ่น มักหมายถึงเทพยักษ์ในศาสนาพุทธที่เผยแพร่มาจากอินเดีย นอกจากที่อยู่ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์แล้ว ลักษณะอื่นๆ ของยาฉะจะยังคล้ายกับโอนิตรงที่มีหน้าตาน่ากลัวและมีนิสัยดุร้าย อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธทำให้ญี่ปุ่นรับยักษ์ยาฉะเข้ามาในฐานะเทพยักษ์ผู้ปกป้องรักษาศาสนาพุทธ ตัวอย่างหนึ่งของการนับถือยาฉะของญี่ปุ่นจะเห็นได้จากศาลเจ้าและวัดของบิชามอนเท็น (毘沙門天) หรือท้าวเวสวัณที่นับเป็นหนึ่งในยักษ์ยาฉะของญี่ปุ่น

เคียวจิน มนุษย์ร่างยักษ์

เคียวจิน มนุษย์ร่างยักษ์

ต้องขอบคุณกระแส Attack on Titan (進撃の巨人 / Shingeki no Kyojin) ที่ทำให้คำว่าเคียวจินเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในป๊อบคัลเจอร์ และสำหรับเพื่อนๆ ที่เคยผ่านหูผ่านตากับอนิเมะเรื่องนี้มาแล้วอาจจะเข้าใจลักษณะของเคียวจินได้ไม่ยาก เพราะเคียวจินโดยทั่วไปหมายถึงมนุษย์ที่มีรูปร่างใหญ่โตเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเทียบกับวัฒนธรรมอื่นแล้วก็จะตรงกับเทพไททันในเทพปกรณัมกรีกหรือยักษ์ในเทพปกรณัมนอร์สของสแกนดิเนเวีย ทำให้ในฉบับแปลอังกฤษใช้คำว่าไททันแปลคำว่าเคียวจินนั่นเอง ทั้งนี้ นอกจากเคียวจินที่แปลตรงตัวว่ายักษ์แล้ว ในบางครั้งคำว่าเคียวจินยังเป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกคนคนหนึ่งที่มีความสามารถเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้คำว่าเคียวจินมีความหมายแฝงในด้านบวกอยู่

ตัวอย่างหนึ่งของยักษ์เคียวจินที่ปรากฏในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่ในนิทานพื้นบ้านจังหวัดโอกินาวา (沖縄県) เรื่องหนึ่งซึ่งเล่าถึงยักษ์เคียวจินที่อยากจะข้ามทะเลไปยังเกาะแห่งหนึ่งจึงขนหินมาถมทะเลจนกลายเป็นเกาะต่างๆ ในจังหวัดอย่างที่เห็นทุกวันนี้ โดยลักษณะของเคียวจินที่ถูกพูดถึงในนี้ไม่ได้มีการเล่าถึงความดุร้ายหรือพลังวิเศษใดๆ แต่เป็นการเล่าถึงเคียวจินตัวดังกล่าวในฐานะมนุษย์ร่างยักษ์ที่เป็นผู้สร้างเสียมากกว่า ดังนั้น จึงอาจมองได้ว่าเคียวจินในความหมายของญี่ปุ่นจะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุดในบรรดายักษ์ทั้งสามชนิด

จากที่เราได้ทำความรู้จักกันไปเพื่อนๆ อาจจะเห็นได้ว่าแม้ยักษ์แต่ละชนิดจะมีความต่างกันทั้งในลักษณะและภาพลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นรับรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยักษ์ทั้งหมดมีร่วมกันคือบทบาทในการประกอบสร้างและเพิ่มสีสันให้กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในฐานะตัวร้าย เทพผู้พิทักษ์ หรือผู้สร้างก็ตาม จากจุดนี้ก็อาจมองได้ว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ยืนบนไหล่ยักษ์ก็ว่าได้

สรุปเนื้อหาจาก: 日本語と日本文化

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save