การตั้งชื่อคนมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย ในญี่ปุ่นเอง การตั้งชื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีตโดยเฉพาะชื่อผู้หญิง ใครที่ชื่นชอบละครย้อนยุคหรือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมชื่อหญิงสาวในสมัยเมจิ ไทโช และโชวะ มักจะเป็นชื่อที่มีตัวอักษรคาตาคานะ 2 ตัว เช่น ウメ (ume) タカ (taka) หรือไม่ก็มักลงท้ายด้วยตัว 子 (ko) เช่น 花子 (hanako) 和子 (kazuko) เสมอ ทำไมรูปแบบการตั้งชื่อผู้หญิงลักษณะนี้ถึงได้รับความนิยมมาถึง 3 ยุคสมัย ไปดูประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในเรื่องนี้กันเลย!
การตั้งชื่อที่ใช้ตัวคาตาคานะ 2 ตัว พบมากในสมัยเมจิ (ปี 1868 – 1912) โดยในสมัยนั้น มีหลากหลายเหตุผลในการตั้งชื่อ ตัวอย่างเช่น
- ตั้งเพื่อบอกความแตกต่าง อย่างเช่น หากเป็นลูกคนโต จะตั้งชื่อว่า ハツ (hatsu) หรือ イチ (ichi) หากเป็นลูกคนสุดท้อง จะตั้งชื่อว่า スエ (sue)
- ตั้งเพื่อความเป็นมงคล นำโชค อย่างชื่อ ツル (tsuru) หรือ カメ (kame) เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว チヨ (chiyo) ヒサ (hisa) マツ (matsu) タケ (take) ウメ (ume) เป็นการขอพรให้อายุมั่นขวัญยืน
- ตั้งจากเสียงอ่านที่ไพเราะ อย่างเช่น サキ (saki) ハル (haru) ハナ (hana)
สาเหตุที่ชื่อผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ตัวคาตาคานะ เนื่องจากในสมัยนั้นผู้คนจำนวนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้อักษรจีนหรือตัวคันจิ ทั้งยังมีอิทธิพลจากความเหลื่อมล้ำที่มองว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง พ่อแม่จะยินดีปรีดามากกว่าหากได้ลูกชายเพราะถือว่าเป็นผู้สืบทอดตระกูล บ้านไหนที่มีลูกชาย พ่อแม่ก็จะไปขอให้ผู้ที่มีความรู้ช่วยตั้งชื่อเป็นตัวคันจิสวย ๆ ให้ ในขณะที่ลูกสาวกลับไม่ค่อยได้รับการตั้งชื่อเป็นตัวคันจิเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลว่า “เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อคันจิ” “ชื่อผู้หญิงที่เป็นตัวคันจิมันไม่น่ารัก” “(ถ้าใช้คาตาคานะ)ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็อ่านง่ายเขียนง่าย” ทำให้ชื่อผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้เป็นตัวคาตาคานะแทน
อีกทั้ง ในเวลานั้นจะเริ่มสอนตัวคาตาคานะก่อนตัวฮิรางานะ เพราะเป็นรูปแบบตัวอักษรที่เขียนง่ายและจำง่ายกว่า ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ยังมีบางคนที่ไม่สันทัดในตัวฮิรางานะ ส่วนใหญ่จึงตั้งชื่อด้วยตัวคาตาคานะที่ทุกคนอ่านออกเขียนได้มากกว่า
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ในสมัยเมจิทางรัฐบาลมุ่งเน้นในนโยบาย 富国強兵 (fukoku kyouhei : ประเทศมั่งคั่ง กองทัพเข็มแข็ง) ผู้คนจึงนิยมชมชอบการตั้งชื่อเป็นตัวคาตาคานะเพราะให้อิมเมจที่เข้มแข็งเหมือนผู้ชาย มากกว่าตัวฮิรางานะที่ให้อิมเมจนุ่มนวลเหมือนผู้หญิง
แต่ต่อมา ผู้คนเริ่มใช้ตัวฮิรางานะในชีวิตประจำวันมากกว่าตัวคาตาคานะ ไม่ว่าจะในหนังสือพิมพ์หรือหนังสืออื่น ๆ โรงเรียนจึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการสอนจากตัวฮิรางานะก่อน ทำให้ในช่วงหลังสงครามชื่อของผู้หญิงก็เปลี่ยนมาใช้ตัวฮิรางานะมากขึ้น
และถ้าหากใครที่เคยดูละครพีเรียดหรือละครย้อนยุคของญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่ามีวัฒนธรรมการเรียกชื่อผู้หญิงโดยการเติม お (o) ไว้ข้างหน้าด้วย เช่น おハツ (ohatsu) おマツ (omatsu) ดังนั้น การตั้งชื่อโดยมีแค่ตัวคาตาคานะ 2 ตัวก็จะออกเสียงได้ไพเราะกำลังดี ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป
เราได้เข้าใจความเป็นมาของรูปแบบการตั้งชื่อที่มีตัวคาตาคานะ 2 ตัวแล้ว ตอนต่อไปเราจะพาไปดูความเป็นมาของการตั้งชื่อที่มีตัว 子 (ko) อยู่ข้างหลัง รอติดตามกันได้เลยค่าาา ^^
สรุปเนื้อหาจาก jpnculture