ประวัติศาสตร์การตั้งชื่อผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ไทโชและโชวะ (ตอนที่ 2 ชื่อที่ลงท้ายด้วยตัว 子)

มาต่อกันเลยค่ะกับประวัติศาสตร์การตั้งชื่อผู้หญิงเกี่ยวกับชื่อที่มีตัว 子 (ko) ลงท้าย หากใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก อ่านได้ที่ ตอนที่ 1

สำหรับชื่อที่ลงท้ายด้วยตัว 子 มักใช้กันตั้งแต่สมัยไทโช (ปี 1912 – 1926) จนถึงปีโชวะที่ 45 (ปี 1970) โดยเป็นรูปแบบชื่อที่ครองตำแหน่งชื่อผู้หญิงอันดับหนึ่งจนถึงปีโชวะที่ 30 (ปี 1950) และในราวปีโชวะที่ 45 ก็กลายเป็นชื่อที่มีคนใช้เป็นจำนวนมากในยุคนั้น แต่เดิมทีแล้วตัว 子 ก็เคยใช้ในชื่อของผู้ชายมาก่อน! อย่างเช่น 小野妹子 (ono no imoko) ข้าราชการในสมัยอาสุกะ (ปี 592 – 710) และ 蘇我馬子 (soga no umako) นักการเมืองและขุนนางผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หากเห็นแค่ชื่อหลายคนก็อาจจะนึกว่าเป็นผู้หญิงแน่นอน

小野妹子 (ono no imoko) ข้าราชการในสมัยอาสุกะ

ความจริงแล้วนี่เป็นการเรียกแบบให้เกียรติและแฝงความเคารพตามแบบจีน โดยตัว 子 จะหมายถึงอาจารย์ เหมือนกับนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยก่อนคริสตศักราชที่มีชื่อว่า 孔子 (koushi) กับ 孟子 (moushi) ที่มีตัว 子 อยู่ข้างหลัง เมื่อญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลนี้มา ทำให้เหล่าชายหนุ่มที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงก็จะมีตัว 子 ต่อท้ายเพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติเช่นกัน

เมื่อมาถึงในสมัยเฮอัน (ปี 794 – 1185) ตัว 子 ถูกจำกัดให้ใช้เฉพาะในชื่อของบรรดาหญิงสาวที่มีตำแหน่งสูงทางสังคมเท่านั้น และว่ากันว่าในสมัยของจักรพรรดิซากะ จักรพรรดิองค์ที่ 52 ของญี่ปุ่น (ปี 786 – 842) เหล่าหญิงสาวในราชวงศ์ก็ใช้ตัว 子 ในชื่อจนกลายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน บรรดาสตรีชั้นสูงและหญิงสาวตระกูลขุนนางก็ใช้ตัว 子 ในชื่อต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานเลียนแบบตามพระบรมวงศานุวงศ์

จักรพรรดิซากะ จักรพรรดิองค์ที่ 52 ของญี่ปุ่น

แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม แต่หากใครที่ติดตามข่าวสารของราชวงศ์ญี่ปุ่นก็คงจะสังเกตได้ว่า แม้กระทั่งในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นผู้หญิงก็มักมีตัว 子 ลงท้ายในชื่อเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงไอโกะ เจ้าหญิงคาโกะ อดีตเจ้าหญิงซายาโกะ อดีตเจ้าหญิงมาโกะ เป็นต้น

แต่ในครึ่งหลังของสมัยเมจิ การแบ่งแยกสถานะทางสังคมก็เบาบางลงทำให้เริ่มมีการใช้ตัว 子 ในชื่อของประชาชนทั่วไป อีกทั้งผู้คนยังมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น เมื่อมาถึงสมัยไทโช ผู้คนก็เริ่มใช้ตัวคันจิในชื่อแทนตัวคาตาคานะมากขึ้นเรื่อย ๆ นับว่าตั้งแต่สมัยไทโชจนถึงราวปีโชวะที่ 30 ชื่อผู้หญิงที่มีตัว 子 ก็ฮอตฮิตติดกระแสจนเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก

ด้วยความที่ในอดีตชื่อที่มีตัว 子 ลงท้ายจะใช้แค่ในหมู่สตรีชั้นสูง คนทั่วไปจึงรู้สึกว่าการใช้ชื่อรูปแบบนี้จะให้ความรู้สึกหรูหรา ดูน่าหลงใหลราวกับเป็นผู้ลากมากดี คล้ายกับคนไทยที่ปัจจุบันเริ่มตั้งชื่อที่อ่านยาก มีหลายพยางค์ หรือใช้ตัวอักษรที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะให้ความรู้สึกไฮคลาส ดูเป็นผู้ดีนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมที่ว่า หากเป็นชื่อที่มีคันจิตัวเดียวหรือสองตัว การเรียกด้วยการเติม 子 ไปด้วยจะสุภาพกว่า เช่น หากชื่ออุเมะก็จะเรียกว่าอุเมะโกะซัง หรือชื่อจิโยะก็จะเรียกว่าจิโยโกะซัง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้คนจำนวนมากจึงเพิ่มตัว 子 เข้าไปด้วยเมื่อต้องขึ้นทะเบียนครอบครัว

แต่มาถึงราวปีโชวะที่ 50 (ปี 1975) ครัวเรือนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มมีโทรทัศน์จอสีกันกว่า 90% ทำให้ได้รับอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ การตั้งชื่อก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น จนช่วงกลางของสมัยเฮเซย์ ยุคสมัยแห่งอินเทอร์เน็ต รูปแบบการตั้งชื่อก็เปลี่ยนไปมาก มีทั้งแบบที่ใช้ตัวคันจิยาก ๆ การใช้อาเทจิ (ใช้แค่เสียงอ่านของคันจิโดยไม่ได้คำนึงถึงความหมาย) หรือคิระคิระเนมที่พ่อแม่ชอบตั้งให้ลูก ๆ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ด้วยอิทธิพลชายเป็นใหญ่ในอดีต จึงค่อนข้างน่าเสียดายที่ผู้หญิงมีทางเลือกในการตั้งชื่อน้อยกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ได้แค่เพียงตัวคาตาคานะ หรือถูกกีดกันไม่ให้ใช้ตัวคันจิก็ตาม แต่อิทธิพลเหล่านั้นก็ไม่ได้มีผลต่อการตั้งชื่อในปัจจุบัน บรรดาพ่อแม่ต่างก็พยายามคิดชื่อที่ดีที่สุดให้กับลูก ไม่แน่ว่าหลังจากนี้อาจจะมีรูปแบบการตั้งชื่อที่หลากหลายและแฟนซีไปตามยุคสมัยยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้ ^^

สรุปเนื้อหาจาก jpnculture

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save