ย้อนรอยการเดินทางของขยะในญี่ปุ่น จากภูเขากองขยะสู่การร่วมมือเพื่อสังคมยั่งยืน ตอนที่ 2

ในบทความย้อนรอยการเดินทางของขยะในญี่ปุ่น จากภูเขากองขยะสู่การร่วมมือเพื่อสังคมยั่งยืน ตอนที่ 1 เราได้เล่าไปแล้วว่ากว่าบ้านเมืองญี่ปุ่นจะสวยสะอาดตาไร้ขยะตามท้องถนนได้อย่างปัจจุบันนี้ ต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคมามากมาย โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาการเดินทางของขยะในญี่ปุ่นออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 การสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ช่วงที่ 2 การจัดการปัญหามลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วงที่ 3 การสร้างสังคมแบบหมุนเวียน ตอนจบของช่วงที่ 1 เหมือนจะ happy ending ตรงที่สามารถจัดการกับขยะจากครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาต่อมาก็คือขยะจากภาคอุตสาหกรรม ในบทความตอนที่ 2 นี้ เราจะมาดูกันว่าญี่ปุ่นแก้ปัญหานี้อย่างไรในช่วงที่ 2 การจัดการปัญหามลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม

ช่วงทศวรรษ 1960 – 1970

ในช่วงนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายซื้อของมากขึ้นไปด้วย ประชาชนทั่วไปแห่กันซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซุปเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อก็ผุดขึ้นใหม่เป็นดอกเห็ด เกิดเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการผลิตและบริโภคสูง แน่นอนว่าส่งผลให้ปริมาณและประเภทของขยะสูงขึ้นไปด้วย นอกจากขยะตามบ้านแล้ว ยังมีขยะปนเปื้อนอันตรายและเศษพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้จากโรงงานอีก สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนจนทำให้เกิดโรคชื่อดังของญี่ปุ่นที่ใคร ๆ ก็รู้จักอย่างโรคมินามาตะและโรคอิไตอิไต

ญี่ปุ่นไม่ได้วางใจกับเรื่องนี้ รีบทำการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับขยะเสียใหม่ โดยกำหนดแบ่งประเภทของขยะและผู้รับผิดชอบจัดการให้ชัดเจน หากเป็นขยะจากครัวเรือนทั่วไปให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบเหมือนเดิม ส่วนขยะจากภาคอุตสาหกรรมให้บริษัทผู้ปล่อยขยะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังออกกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำ เพื่อกำหนดมาตรฐานของขยะมีพิษและวิธีการจัดการที่ปลอดภัย จุดเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกจุดหนึ่งคือการก่อตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษร่วมด้วย

จุดเริ่มต้นของการแยกขยะ

นอกจากจะออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมแล้ว ยังมีการกำหนดมาตรฐานของโรงงานกำจัดขยะให้ชัดเจน และยกระดับมาตรฐานของโรงงาน โดยโรงงานใดที่ผ่านมาตรฐานที่กำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือการประกอบธุรกิจจากรัฐบาลญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีโรงงานกำจัดขยะที่ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเสริมบุคลากรโดยจัดให้มีการสอบใบประกาศผู้ควบคุมเทคโนโลยีกำจัดขยะและผู้ควบคุมป้องกันมลภาวะ เรียกได้ว่าโรงงานต้องดี และคนก็ต้องพร้อม ในช่วงนี้เองที่ญี่ปุ่นได้เริ่มจำแนกประเภทขยะในขั้นตอนของการเก็บขยะ โดยแบ่งออกเป็นขยะเผาได้ เผาไม่ได้ พลาสติกและยาง เป็นต้น

สงครามขยะ

แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรฐานของโรงงานกำจัดขยะ แต่แน่นอนว่าประชาชนใกล้เคียงกับโรงงานหรือพื้นที่ที่กำลังจะสร้างโรงงานก็เกิดความกังวลขึ้นเป็นธรรมดา ในช่วงนี้ ประชาชนในกรุงโตเกียวผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานกำจัดขยะต่างออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะประชาชนในเขตโคโตซึ่งเป็นศูนย์รับขยะส่วนใหญ่จากทั้ง 23 เขตในกรุงโตเกียว กองขยะในเขตโคโตไม่ได้ถูกเผาแต่กลับทับถมอยู่อย่างนั้นจนเกิดกลิ่นเหม็น มีแมลงวันและยุงจำนวนมาก อีกทั้งถนนก็เลอะเปรอะเปื้อนจากรถขยะ ประชาชนในพื้นที่ไม่อาจทนต่อไปได้ต่างพากันออกมาเรียกร้อง จนเทศบาลเขตโคโตต้องประกาศหยุดรับขยะจากภายนอก นอกจากนี้ประชาชนในเขตสุกินามิก็ได้ออกมาประท้วงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะอีกด้วย การประท้วงเริ่มหนักข้อขึ้นจนเมื่อปี 1971 ผู้ว่าการกรุงโตเกียวได้ออกมาประกาศ “สงครามขยะ” กล่าวถึงวิกฤตของขยะที่กำลังสร้างความตื่นกลัวให้ประชาชน และเน้นย้ำการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สุดท้ายการประท้วงของประชาชนจึงได้สงบลง

แม้ว่าปัญหาจากขยะภาคอุตสาหกรรมจะจบลงได้ด้วยดี มีโรงงานกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน แต่อย่าลืมว่าในช่วงนี้ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจยุคฟองสบู่ เจ้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้คนแห่กันไปซื้อในตอนต้นของบทความนี้ เมื่อเสียหายผุพังแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป การปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอย่างไรเมื่อขยะจากครัวเรือนไม่ใช่แค่ขยะเปียกหรือเศษกระดาษอีกต่อไปแล้ว มาติดตามกันในตอนต่อไปค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : env.go.jp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save