ฮาจิโก หรือ จูเค็น ฮาจิโก (忠犬ハチ公) รูปปั้นสุนัขที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสถานีชิยูย่า นอกจากจะเป็นจุดนัดพบที่สะดุดตาแล้ว ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องมาเช็กอินให้ได้สักครั้ง เรื่องราวของฮาจิโกถูกนำมาเล่าหลายครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Hachiko Monogatari (1987), Hachi A Dog’s Tale (2009) ฯลฯ แต่เพื่อน ๆ ทราบกันหรือไม่ว่า? รูปปั้นฮาจิโก แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกสร้างไว้เพื่อให้ระลึกถึงการจากไปของเจ้าสุนัขแสนรู้ตัวนี้ ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปหาคำตอบกันเลย
เรื่องราวของเจ้าฮาจิโก
ฮาจิโกเป็นสุนัขญี่ปุ่นสายพันธุ์อากิตะ เกิดที่จังหวัดอากิตะเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1923 หลังจากฮาจิโกเกิดได้อายุ 50 วันก็ถูกส่งตัวโดยรถไฟมายังโตเกียว เพื่อนำไปส่งให้ “ศาสตราจารย์อูเอโนะ ฮิเดซาบูโร ” อาจารย์ประจำวิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 1924 ศาสตราจารย์อูเอโนะรักและเอ็นดูฮาจิโกมาก ทุกครั้งที่เขาจะเดินทางไปทำงานที่มหาวิทยาลัยก็มักจะมีฮาจิโกเดินมาส่งที่หน้าประตูทางเข้าสถานีรถไฟเสมอ ฮาจิโกจะกระดิกหางส่งเจ้านายไปทำงานทุกเช้า และแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ฮาจิโกก็จะมานั่งคอยศาสตราจารย์อูเอโนะกลับบ้านที่จุดเดิมเป็นประจำ
แต่ทว่า หลังจากนั้นเพียง 1 ปีกับอีก 4 เดือน ทุกอย่างที่เคยทำเป็นกิจวัตรประจำวันของเจ้าฮาจิโกก็เปลี่ยนไป ในวันที่ 21 พฤษภาคม 1925 ฮาจิโกและศาสตราจารย์อูเอโนะเดินทางไปที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวด้วยกัน เจ้าฮาจิโกนั่งรอเจ้านายอยู่ที่หน้าคณะจนถึงตอนเย็น แต่ไม่ว่าจะรอเท่าไหร่ ศาสตราจารย์อูเอโนะก็ไม่กลับออกมาเสียที
เจ้าฮาจิโกคงคิดว่า หากกลับไปรอเจ้านายที่หน้าสถานีชิบูย่าคงได้เจอกันอีก มันจึงเดินกลับไปที่สถานี และเฝ้ารออยู่ตรงนั้น แต่ผู้โดยสารคนแล้วคนเล่าที่เดินออกจากสถานีก็ไม่ใช่เจ้านายที่มันกำลังรออยู่เลย ซึ่งในวันนั้น ศาสตราจารย์อูเอโนะเสียชีวิตไปด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ด้วยวัย 53 ปี
เจ้าฮาจิโกที่ไม่รู้เรื่องอะไรก็ได้แต่นั่งรอเจ้านายของมันต่อไป เจ้าหน้าที่รถไฟพยายามทำให้มันกลับบ้านและบอกให้มันรู้ว่า “เจ้านายของแกเขาไม่กลับมาแล้วนะ แกคงไม่ได้เจอเขาอีกแล้วล่ะ” แต่ไม่ว่าจะอธิบายให้ฟังยังไงฮาจิโกก็ไม่เข้าใจ และยังคงนั่งรอการกลับมาของเจ้านายอยู่ที่หน้าสถานีชิบูย่าเป็นเวลานานถึง 10 ปี
เรื่องราวนี้ถูกนำเสนอขึ้นผ่านสื่อในญี่ปุ่น และถูกเล่าขานไปทั่วทุกสารทิศในเวลาแค่ชั่วพริบตา จนมีการเสนอให้สร้างรูปหล่อทองแดงฮาจิโกขึ้นในปี 1933 ซึ่งมีการสร้างจนแล้วเสร็จในปีถัดมา และจัดพิธีเปิดตัวรูปปั้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1934 ซึ่งในปีนั้นเอง เจ้าฮาจิโกก็ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดตัวรูปหล่อทองแดงของตัวเองด้วย แต่น่าเสียดายที่รูปหล่อทองแดงฮาจิโกต้องถูกนำไปเป็นทรัพยากรโลหะสำหรับการทำสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ปี 1947 ก็มีการสร้างรูปปั้นฮาจิโกขึ้นใหม่อีกครั้ง และเป็นรูปปั้นฮาจิโกที่ตั้งอยู่บริเวณสถานีชิบูย่ามาจนถึงปัจจุบัน
忠犬ハチ公の死後直後に亡骸を囲んで悼む人たちの写真がSNSでTom Jones から送られた数百枚の写真の中で発見。貴重な写真と思います。銅像よりも一回り大きい。 pic.twitter.com/zHHA9xS6dS
— マニラの龍馬 (@mmaruya) March 2, 2014
ในวาระสุดท้ายของชีวิตเจ้าฮาจิโก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี 1935 ช่วง 6 โมงเช้า หลังจากที่นั่งรอเจ้านายกลับมานานร่วม 10 ปี ฮาจิโกก็เจอกับพื้นเย็นสบายที่บริเวณสะพานอินาริบาชิ ใกล้กับแม่น้ำชิบูย่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปกติมันจะไม่เดินทางผ่าน ก่อนที่ฮาจิโกจะจากไปด้วยวัย 11 ปี ในเวลา 13:00 น. หากถามว่าทำไมฮาจิโกจึงเดินทางไปในสถานที่ที่ปกติจะไม่เดินทางผ่านในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต? ก็มีทฤษฎีที่ได้เล่าเอาไว้ว่า ฮาจิโกอาจอยากเดินทางไปอำลาผู้คนที่เคยดูแลมันมาตลอดเวลาที่นั่งรอเจ้านายกลับมาเป็นครั้งสุดท้าย โดยกระดูกของฮาจิโกถูกฝั่งไว้ข้าง ๆ หลุมศพศาสตราจารย์อูเอโนะ เพื่อให้ทั้งคู่ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
รูปปั้นฮาจิโกกลายเป็น “สถานที่นัดพบ” ในปัจจุบัน และฮาจิโกเองก็ยังคงเป็นที่รักของผู้คนเสมอมา แม้รูปปั้นฮาจิโกจะไม่ได้สร้างไว้เพื่อระลึกถึงการจากไปของเจ้าสุนัขสายพันธุ์อากิตะแสนซื่อสัตย์ตัวนี้ แต่ก็เชื่อว่า “หากมาที่นี่ คงได้เจอกับคนที่คุณรักสักวัน” เหมือนกับที่ฮาจิโกนั่งรอศาสตราจารย์อูเอโนะ เพื่อเจอกับเจ้านายอันเป็นที่รักตลอด 10 ปี
สรุปเนื้อหาจาก : dime.jp