ทำไมสาวญี่ปุ่นถึงใส่ชุดฮากามะในพิธีจบการศึกษากัน?

เมื่อพูดถึงพิธีรับปริญญาแล้ว หลาย ๆ คนก็จะนึกถึงชุดครุยแบบต่าง ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยกันใช่ไหมคะ แต่ถ้าพูดถึงงานรับปริญญาหรืองานจบการศึกษาที่ญี่ปุ่นแล้วละก็ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงชุดฮากามะกัน จริง ๆ แล้วที่ญี่ปุ่นไม่มีรูปแบบชุดรับปริญญาที่ตายตัวค่ะ แต่ที่เรามักจะเห็นสาวญี่ปุ่นใส่ชุดฮากามะเป็นเพราะอะไรกัน ไปดูที่มาที่ไปกันค่ะ

ชุดฮากามะกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?

ชุดฮากามะที่เราจะเห็นตัวชุดแบ่งเป็น 2 ท่อน ด้านบนเป็นกิโมโนแขนยาว และด้านล่างเป็นกระโปรงนั้น คนส่วนใหญ่จะมีภาพจำว่าเป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงในพิธีจบการศึกษาซะเป็นส่วนใหญ่ แต่อันที่จริงแล้ว แรกเริ่มเดิมทีชุดฮากามะเป็นชุดทางการของผู้ชายค่ะ

ว่ากันว่าชุดฮากามะเริ่มใส่ตั้งแต่ยุคโคะฟุง ซึ่งย้อนเวลากลับไปนานมากในช่วง ค.ศ. 250-538 เริ่มจากการเป็นเครื่องแต่งกายของผู้ชายก่อน โดยในยุคนาราและเฮอันใช้เป็นชุดพิธีการสำหรับชนชั้นสูงเรื่อยมาจนถึงสมัยเอโดะ

จุดเริ่มต้นจากเครื่องแบบนักเรียนหญิง

เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นสมัยเมจิ นักเรียนหญิงที่อยู่ในวังจึงเริ่มใส่ชุดฮากามะเป็นเครื่องแบบนักเรียนค่ะ ในช่วงนั้นนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนยังใส่ชุดฮากามะสำหรับผู้ชายไปเรียนอยู่ แต่แล้วการใส่ชุดฮากามะสำหรับผู้ชายนี้ก็ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากความไม่เหมาะสม ในที่สุดทางกระทรวงจึงออกประกาศห้ามผู้หญิงแต่งชุดฮากามะแบบนั้นอีก

จนเมื่อประมาณ 130 ปีที่แล้ว ชิโมดะ อุตะโกะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสตรีชั้นสูง (มหาวิทยาลัยสตรีกักคุชูอินในปัจจุบัน) ก็ได้คิดค้นชุดฮากามะแบบใหม่ขึ้น โดยปรับเปลี่ยนชุดฮากามะจากกางเกงให้เป็นกระโปรงยาวตรง กลายเป็นชุดฮากามะแบบผู้หญิง และจากเครื่องแบบของโรงเรียนสำหรับเด็กสาวชนชั้นสูงที่อยู่ภายในวังนี้เอง ต่อมาก็ได้ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนหญิงทั่วไปค่ะ

มีความหรูหรา แต่ใช้งานได้จริง

เนื่องจากในช่วงแรกจะมีเฉพาะหญิงชั้นสูงในวังเท่านั้นที่จะใส่ชุดฮากามะได้ ชุดนี้จึงค่อนข้างมีอิมเมจของความเป็นชนชั้นสูง ถึงจะดูหรูหราแบบนี้ แต่เมื่อเทียบกับชุดกิโมโนที่เลื่อนหลุดได้ง่าย ขยับตัวยาก เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการเคลื่อนไหวแล้ว ชุดฮากามะเนี่ยเคลื่อนตัวสะดวกกว่ามาก

ถึงจะดูหรูหรา แต่ก็ใช้งานได้จริง จึงกลายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

“โบว์อันใหญ่กับชุดฮากามะสีน้ำตาลแดง” สัญลักษณ์ของยุคใหม่

ในช่วงยุคเมจิ ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงปรับตามวัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่าง แน่นอนว่าการแต่งกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ในช่วงปี 1897 นักเรียนหญิงจะฮิตใส่ชุดฮากามะสีน้ำตาลแดง สวมรองเท้าหนัง ทำผมทรงม้วนตรงขึ้นจากหน้าผาก และประดับผมด้วยโบว์อันใหญ่หรือดอกไม้ อีกทั้งยังยกแถบผ้ารัดตัวขึ้นมาไว้ระดับอก ทำให้กระโปรงยกขึ้น เพื่อให้เห็นรองเท้าที่กำลังนิยมในสมัยนั้น

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคไทโชและโชวะ เครื่องแบบของนักเรียนก็ได้เปลี่ยนเป็นชุดกะลาสีแบบที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน ทำให้ชุดฮากามะเริ่มหายไป จนเรามักเห็นแค่หญิงสาวใส่ในพิธีการสำคัญ ๆ ของโรงเรียนอย่างพิธีจบการศึกษาอย่างในปัจจุบัน

อิทธิพลจากอนิเมและมังงะ?

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Alberto 🧜🏻‍♂️ (@krits_away) on

ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุดฮากามะฮอตฮิตใส่กันทั่วประเทศมาจากมังงะเรื่อง はいからさんが通る(Haikarasan ga touru) ค่ะ มังงะเรื่องนี้โด่งดังเป็นอย่างมาก จนได้ทำเป็นหนังออกฉายในปี 1987 นำแสดงโดยมินามิโนะ โยโกะ ไม่เพียงแค่หนังเท่านั้น แต่เพลงประกอบของเรื่องก็โด่งดังด้วยเช่นกัน เมื่อมินามิโนะ โยโกะ ผู้ร้องเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ไปออกรายการเพลงต่าง ๆ เธอก็มักจะใส่ชุดฮากามะไปออกค่ะ

จนในปีถัดมามีเด็กมหาวิทยาลัย 3-4 คน ใส่ชุดฮากามะแบบในเรื่องไปเข้าร่วมพิธีจบ ปีถัดไปจากนั้นก็มีคนใส่เพิ่มขึ้นประมาณ 200 คน จนสุดท้ายก็ได้กระจายไปทั่วประเทศ และเริ่มมีร้านเปิดให้เช่าชุดฮากามะอย่างจริงจัง ปัจจุบันนี้ชุดฮากามะก็เป็นที่แพร่หลายอย่างที่เราเห็น มีนักเรียนหญิงกว่า 70% เลือกใส่ชุดฮากามะในพิธีจบการศึกษา

และนี่ก็เป็นที่มาของชุดฮากามะที่ใส่ในพิธีจบการศึกษาค่ะ ชุดฮากามะทั้งสวยและน่ารักแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าโอกาสที่จะได้ใส่กลับน้อยลง ไม่แปลกใจเลยค่ะที่สาว ๆ ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะต้องขอใส่สักครั้งในพิธีจบการศึกษา

สรุปเนื้อหาจาก kindaipicks, cancam, intojapanwaraku

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save