ถ้าพูดถึงปัญหาฐานทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวาแล้ว โครงการฐานทัพเฮโนโกะ (辺野古基地) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงและเป็นประเด็นที่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างจังหวัดโอกินาวาและรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้มากว่า 23 ปีค่ะ
ที่มาของฐานทัพสหรัฐฯ ที่เฮโนโกะ
รายงานกองทัพสหรัฐฯ ที่ถูกเปิดเผยในภายหลังระบุว่าในช่วงปีค.ศ. 1960 ไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กองทัพสหรัฐฯ มีโครงการสร้างทางรันเวย์สำหรับเครื่องบินรบที่เฮโนโกะ (辺野古) เมืองนาโกะ (名護市) รวมถึงโครงการถมทะเลเพื่อสร้างฐานทัพสำหรับจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อขยายอำนาจที่มีอยู่เหนือญี่ปุ่น แต่โครงการนี้ถูกทิ้งไปด้วยปัญหาความขัดแย้งกับคนท้องถิ่นและสงครามเวียดนาม
ต่อมา การเคลื่อนย้ายฐานทัพจากฟุเท็นมะ (普天間) มายังเฮโนโกะก็ถูกตกลงอย่างเป็นทางการโดยฮาชิโมโตะ ริวทาโร (橋本龍太郎) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและบิล คลินตัน (Bill Clinton) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีค.ศ. 1996 แต่ถูกระงับไว้ในปีค.ศ. 1997 เนื่องจากนายกเทศมนตรีประจำเมืองนาโกะคัดค้านโครงการดังกล่าว ด้วยความกังวลว่าการมีอยู่ของฐานทัพจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประมงในพื้นที่
โครงการก่อสร้างถูกนำมาดำเนินการอีกครั้งในปีค.ศ. 2013 เมื่อนากาอิมะ ฮิโรคาสุ (仲井眞 弘多) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดโอกินาวาอนุมัติโครงการฐานทัพเฮโนโกะ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะสนับสนุนเงิน 3 แสน 4 หมื่นล้านเยนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดโอกินาวา และยังขัดต่อนโยบายหาเสียงของนากาอิมะที่จะถอนฐานทัพออกจากจังหวัด ทำให้ประชาชนจังหวัดโอกินาวาประท้วงต่อต้านและโครงการฐานทัพเฮโนโกะยังถูกคัดค้านจนถึงปัจจุบัน
ฐานทัพเฮโนโกะจะเป็นฐานทัพแบบไหน?
เดิมทีฐานทัพเฮโนโกะจะเป็นฐานทัพที่ตั้งบนที่ดินที่ถมทะเลไว้ทั้งหมด แต่เนื่องจากอุปสรรคในการก่อสร้างและงบที่ต้องใช้ จึงมีการปรับเปลี่ยนแผนเป็นการต่อเติมค่ายชวับ (Camp Schwab) ที่อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งเฮโนโกะนัก โดยค่ายชวับมีพื้นที่ 20.63 ตร.กม. และจะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างฐานทัพเพิ่มอีก 1.57 ตร.กม. รวมเป็น 22.2 ตร.กม. เมื่อรวมกับขนาดพื้นที่ที่จะมีการถมทะเลเพื่อต่อเติมต่อไปอีก 5.25 ตร.กม. จึงมีพื้นที่รวม 27.45 ตร.กม. มีลักษณะเป็นค่ายที่ถมยื่นออกไปนอกชายฝั่งค่ะ
จุดยืนของโอกินาวาและรัฐบาล
โดยหลัก ๆ แล้วประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างจังหวัดโอกินาวาและรัฐบาลมีสามประเด็น ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่ต่างกันดังนี้
ผลกระทบต่อแนวปะการังและถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน
ทางจังหวัดโอกินาวามีความกังวลว่าการถมทะเล 5.25 ตร.กม.เพื่อสร้างฐานทัพจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวปะการังที่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ของที่เคยมีอยู่ในจังหวัด รวมถึงเป็นแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อม (環境省) ของญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่าพะยูนยังมีถิ่นอาศัยอื่นนอกเหนือจากเฮโนโกะ
ผลกระทบจากน้ำเสียและมลภาวะจากฐานทัพ
เนื่องจากฐานทัพเฮโนโกะเป็นฐานทัพที่อยู่ติดกับทะเล จึงมีความกังวลว่าน้ำเสียและมลภาวะจากฐานทัพจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพทะเลในเฮโนโกะ โดยกระทรวงการป้องกันประเทศ (防衛省) ยืนยันว่าจะมีมาตรการบำบัดของเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล
ผลกระทบต่อการประมง
เนื่องจากปะการังเป็นทรัพยากรสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของทะเล การถมปะการัง เสียงดังรบกวน และมลภาวะจากฐานทัพจึงอาจส่งผลต่อประชากรปลาในพื้นที่และส่งผลต่อการประมงได้ ซึ่งทางรัฐบาลระบุว่าจะมีการชำระเงินค่าเสียหายให้แก่การประมงในพื้นที่เป็นจำนวน 3,600 ล้านเยนแทน
จากทั้งสามประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าจากเดิมที่โครงการนี้มีขึ้นเพื่อลดอันตรายของฐานทัพที่มีต่อประชาชน แต่ปัจจุบันโครงการดังกล่าวสร้างความกังวลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ทางจังหวัดต่อต้านโครงการฐานทัพเฮโนโกะ และต้องการให้ทั้งโครงการฐานทัพเฮโนโกะและฐานทัพฟุเท็นมะถูกยุบออกไปจากจังหวัด แต่เนื่องจากการหายไปของฐานทัพจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวและฐานทัพของสหรัฐฯ จึงมีผู้ที่ไม่อยากให้ฐานทัพหายไป และกลายเป็นความขัดแย้งที่ยังหาข้อสรุปได้ยากค่ะ
นอกจากเฮโนโกะแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นไหม?
ที่ผ่านมาสมาชิกฝ่ายค้านในสภาของญี่ปุ่นได้เคยเสนอการย้ายฐานทัพฟุเท็นมะไปยังคิวชูและฮอกไกโดแทนเฮโนโกะ และล่าสุดในปี 2015 มีข้อเสนอจากกลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านฐานทัพในคันไซให้ย้ายฐานทัพจากฟุเท็นมะมายังโอซากาที่มีเกาะเทียมเป็นของตัวเองอยู่แล้วด้วยหวังว่าจะแบ่งเบาภาระจากจังหวัดโอกินาวา
ถึงอย่างนั้นโครงการก่อสร้างก็ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบันตามที่กำลังเป็นข่าวในตอนนี้ค่ะ โดยปลายปี 2018 ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้เริ่มการถมทะเล ซึ่งทางจังหวัดกำลังพยายามเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไปค่ะ โดยเราก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหาที่ดำเนินมายาวนานกว่า 23 ปีจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้หรือไม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก bilingual-news, The Asia-Pacific Journal Japan Focus, Japantimes