“จักรพรรดินีฮิมิโกะ” ผู้ปกครองอาณาจักรญี่ปุ่นโบราณ “ยามะไต” (邪馬台国の女王・卑弥呼) เพื่อนๆ บางคนอาจจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อของจักรพรรดินีพระนางนี้มาบ้างใช่ไหมครับ แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ประวัติของพระนางกลับเต็มไปด้วยปริศนาจำนวนมาก แต่ก็มีส่วนที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของจักรพรรดินีพระนางนี้ไปพร้อมกับเรื่องราวของอาณาจักรยามะไตที่สูญหายไปจากประเทศญี่ปุ่น
ประวัติตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของประเทศจีน

ประวัติของจักรพรรดินีฮิมิโกะปรากฏอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า “กิชิวะจินเด็น” (魏志倭人伝 , ぎしわじんでん) ของประเทศกิ (魏, ぎ) หรือก็คือประเทศจีนในปัจจุบัน โดยบันทึกดังกล่าวระบุว่าพระนางเป็นจักรพรรดินีแห่งอาณาจักรยามะไต แต่กลับไม่ปรากฏวันเดือนปีที่ประสูติ และวันที่เสด็จสวรรคต คงมีเพียงข้อสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะเสด็จสวรรคตในช่วง ปี ค.ศ. 247 อีกทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าพระนางประสูติที่อาณาจักรยามะไตหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาณาจักรดังกล่าวเคยตั้งอยู่ส่วนใดของประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้บางทฤษฎียังได้สันนิษฐานว่าจักรพรรดินีฮิมิโกะคือ “เทพอะมะเทระสุ” (天照大神, アマテラスオオミカミ) ซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ตามความเชื่อของศาสนาชินโตที่คนญี่ปุ่นเคารพบูชาเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่พระนางจะเสด็จสวรรคต ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงถึง 2 ครั้ง อีกทั้งชื่อของพระนางยังสามารถเขียนด้วยตัวอักษรคันจิได้อีก 2 แบบ คือ 日御子 หมายถึง บุตรแห่งดวงอาทิตย์ และ 日巫女 หมายถึง หญิงสาวแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกับสมญานามของเทพอะมะเทระสุ นั่นก็คือเทพแห่งดวงอาทิตย์นั่นเอง
การกำเนิดอาณาจักรและการขึ้นสู่ตำแหน่งจักรพรรดินี
ในช่วง ศตวรรษที่ 2 ~ ศตวรรษที่ 3 ประเทศญี่ปุ่นถูกเรียกว่า “วะ” (倭国, わこく) โดยชาววะ ในช่วงเวลานั้นได้รับการถ่ายทอดวิธีการเพาะปลูกข้าวจากชนชาติที่อพยพมาจากดินแดนอื่น และเมื่อชาววะเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้มีเสบียงอาหารที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการบริโภค แต่ทว่า การต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรน้ำและที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเพาะปลูกกลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมู่บ้านที่ได้รับความพ่ายแพ้จะถูกหมู่บ้านที่ได้รับชัยชนะเข้าครอบครอง เมื่อหมู่บ้านที่ได้รับชัยชนะมีจำนวนหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การครอบครองเพิ่มมากขึ้น ก็กลายสภาพเป็นอาณาจักรหรือประเทศที่มีระบบสังคมและระบบวรรณะนั่นเอง
ประเทศวะในขณะนั้นแบ่งเป็นอาณาจักรย่อยอีกประมาณ 100 อาณาจักร แต่ได้เกิดการรวมตัวกันของอาณาจักรต่างๆ ประมาณ 30 อาณาจักร ก่อกำเนิดเป็นอาณาจักรใหม่และได้มีการสถาปนาผู้ปกครองขึ้น นั่นก็คือ “อาณาจักรยามะไต” (邪馬台国) นั่นเอง ในช่วงแรกได้มีการสถาปนาจักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง แต่การปกครองของพระองค์กลับสร้างความขัดแย้งกับอาณาจักรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านเมืองขาดความสงบสุข และตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จึงเกิดการโค่นล้มจักรพรรดิขึ้น และสถาปนาฮิมิโกะเป็นจักรพรรดินีแทน หลังจากนั้น ความขัดกับอาณาจักรต่างๆ จึงเริ่มคลี่คลายลง
การปกครองภายใต้จักรพรรดินีฮิมิโกะ

- พยากรณ์ด้วยมนต์ดำ
หลังจากฮิมิโกะได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินีแล้ว พระนางใช้วิธีการปกครองบ้านเมืองโดยการเก็บตัวอยู่ในพระตำหนักที่มีทหารองครักษ์คอยประจำการอยู่เสมอ และใช้มนต์ดำที่เรียกว่า “คิโด” (鬼道, きどう) เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมือง โดยมีพระอนุชา (น้องชาย) ของพระนางคอยทำหน้าที่นำคำพยากรณ์ไปประกาศให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่ารอบข้างของพระนางมีจำนวนสาวรับใช้มากถึงประมาณ 1,000 คน เลยทีเดียว
- การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน
ราว ปี ค.ศ. 239 พระนางได้ส่งนักการฑูตพร้อมทั้งเครื่องบรรณาการไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน โดยได้รับตราประทับสีทอง “ชิงกิวะโอ” (親魏倭王, しんぎわおう) และกระจกเงินจำนวน 100 แผ่น เป็นสิ่งตอบแทน โดยทั้งสองสิ่งนี้คือสัญลักษณ์ที่แสดงว่าจักรพรรดิแห่งประเทศจีนได้ยอมรับพระนางในฐานะที่เป็นผู้ปกครองประเทศวะ และพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนช่วยเหลืออยู่เสมอ และหลังจากนั้น พระนางก็ได้ส่งนักการฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และราวปี ค.ศ. 247 ยังได้มีการรายงานเรื่องการทำสงครามกับ “อาณาจักรคุนะ” (狗奴国, くなこく) ให้ประเทศจีนได้รับทราบด้วย นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบว่ากระจกเงินที่ได้รับมาจากการผูกมิตรกับประเทศจีนถูกฝังอยู่ในหลุมพระศพของจักพรรดิองค์ก่อนๆ ด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะประสงค์ให้กระจกเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการมีสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน
- สภาพบ้านเมืองของประเทศวะ
ประเทศวะ ที่มีอาณาจักรยามะไตเป็นศูนย์กลางนั้น ได้มีการสร้างระบบวรรณะ ระบบกฎหมาย และระบบการจัดเก็บภาษีขึ้น เริ่มมีการเปิดตลาดค้าขายสินค้าตามพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรอื่นๆ ก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก
- เหตุการณ์หลังจากพระนางเสด็จสวรรคต
มีการสถาปนาจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้น แต่ความขัดแย้งกับอาณาจักรต่างๆ ก็กลับมาปะทุอีกครั้ง จึงมีการสถาปนา “อิโย” (壱与, いよ) ซึ่งเป็นบุคคลในเครืองญาติของของพระนาง ขึ้นเป็นจักรพรรดินี หลังจากนั้นความขัดแย้งกับอาณาจักรต่างๆ จึงเริ่มคลี่คลายลง
อาณาจักรยามะไตที่สูญหายจากประเทศญี่ปุ่น
ณ ปัจจุบันยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าอาณาจักรยามะไตนั้น เดิมตั้งอยู่ส่วนไหนของประเทศญี่ปุ่นกันแน่ แม้บันทึกทางประวัติศาสตร์กิชิวะจินเด็นจะได้มีการบันทึกเส้นทางไปยังอาณาจักรยามะไตไว้ก็ตาม แต่ในทางความเป็นจริง หากเดินทางไปตามเส้นทางนั้นล่ะก็ จะไปโผล่ที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเลยทีเดียว ปัจจุบันนักวิชาการของประเทศญี่ปุ่นเชื่อว่าอาณาจักรยามะไตน่าจะเคยตั้งอยู่ที่ภูมิภาคคิวชู หรือไม่ก็ภูมิภาคคิงคิ (คันไซ) เนื่องจากทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ต่างก็มีการค้นพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรยามะไตมาก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดที่สามารถฟันธงได้ว่าพื้นที่ใดเคยเป็นที่ตั้งที่แท้จริงของอาณาจักรยามะไตกันแน่
บทสรุปที่เต็มไปด้วยปริศนา
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับเรื่องราวของจักรพรรดินีฮิมิโกะ ผู้ปกครองบ้านเมืองโดยการเก็บตัวอยู่ในพระตำหนักและใช้มนต์ดำพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ เรื่องเช่นว่านี้ สำหรับคนยุคปัจจุบันอย่างพวกเราคงจะเป็นเรื่องที่น่าพิศวงเป็นอย่างมากใช่ไหมล่ะครับ ทั้งจักรพรรดินีฮิมิโกะและอาณาจักรยามะไตต่างก็เต็มไปด้วยปริศนาจำนวนมาก และที่สำคัญคือไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงกับราชวงศ์ยามาโตะซึ่งเป็นราชวงศ์ปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่นได้เลย ตัวผมเองก็ได้แต่คาดหวังว่าหลังจากนี้น่าจะมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่สามารถไขปริศหนาต่างๆ ของจักรพรรดินีฮิมิโกะและอาณาจักรยามะไตให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ไม่มากก็น้อยนะ ^_^
สรุปเนื้อหาจาก : colorfl
ผู้เขียน : Aongsama