ในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่น นอกจากวิชาภาษาญี่ปุ่นร่วมสมัย หรือ เก็นไดบุน (現代文) แล้ว ยังมีวิชาภาษาญี่ปุ่นโบราณ หรือ โคะบุน (古文) อีกด้วย ถ้าเปรียบเทียบกับไทย คงเหมือนการเรียนเรื่องรามเกียรติ์ หรือกลอนของสุนทรภู่ วิชาโคะบุนนี้ แม้จะมีความยากตรงที่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเก่า การเขียนหรือการผันคำกริยาก็ไม่เหมือนภาษาญี่ปุ่นที่เราเรียน ๆ กันในปัจจุบัน แต่เนื้อเรื่องที่เล่านั้นช่างมีความสละสลวยสวยงาม อีกทั้งยังสะท้อนถึงมุมมองและสังคมของคนในสมัยก่อนด้วย ในวันนี้เราจะแนะนำเพื่อน ๆ ให้รู้จักกับ “เฮียะคุนินอิชชุ” (百人一首) ซึ่งเป็นการรวบรวมบทประพันธ์ชิ้นเอก 100 ชิ้น จากกวียอดฝีมือ 100 คน หากเป็นคนญี่ปุ่นละก็ ไม่มีคนไหนไม่เคยท่องแน่ ๆ เราไปติดตามความสวยงามของภาษาญี่ปุ่นโบราณผ่าน “เฮียะคุนินอิชชุ” กันค่ะ
ภาษาญี่ปุ่นโบราณ หรือ “โคะบุน” (古文)

วิชาโคะบุนในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นจะหยิบยกเอาบทประพันธ์ในสมัยโบราณ เช่น สมัยเฮอัน สมัยคามาคุระ เป็นต้น มาให้นักเรียนเรียนกัน ก่อนอื่นเลยเราจะต้องแปลภาษาญี่ปุ่นโบราณนั้นมาเป็นภาษาญี่ปุ่นร่วมสมัยก่อน จากนั้นจึงเรียนลึกเข้าไปถึงสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ก็จินตนาการหรือจิตใจของผู้ประพันธ์ ณ ตอนนั้น สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแม่ แน่นอนว่าขั้นตอนแรกค่อนข้างลำบากยากเย็น เพราะไวยากรณ์หรือการผันรูปต่าง ๆ แตกต่างจากภาษาญี่ปุ่นร่วมสมัย อีกทั้งยังมีคำศัพท์บอกเวลา บอกปี ศัพท์ที่สื่อถึงฤดูกาลที่ไม่ค่อยพบเห็นในชีวิตประจำวันอีกด้วย ผู้เขียนเองตอนเรียนใหม่ ๆ ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน แต่พอจำหลักไวยากรณ์และคำศัพท์ต่าง ๆ ได้แล้ว ก็พบว่าช่างเป็นภาษาที่สวยงามและบทประพันธ์หลายเรื่องมีเนื้อหาน่าติดตามเลยทีเดียว
เฮียะคุนินอิชชุ (百人一首)

เฮียะคุนินอิชชุเป็นการรวบรวมบทกลอนชิ้นเด่น 100 บทจากกวียอดฝีมือ 100 คนตั้งแต่ช่วงสมัยอะซึกะ (ค.ศ. 592-710) ถึงต้นสมัยคามาคุระ (ค.ศ. 1185-1333) โดยคัดเลือกมาคนละ 1 บท สำหรับคนที่คัดเลือกและรวบรวมบทกลอนเหล่านี้คือ ฟูจิวาระโนะเทกะ (藤原定家) กวีในช่วงปลายสมัยเฮอันถึงต้นสมัยคามาคุระ ในเวลาต่อมา มีกวีหลายคนเลียนแบบฟูจิวาระโนะเทกะโดยการรวบรวมกลอนบ้าง ทำให้เฮียะคุนินอิชชุมีหลายชุดด้วยกัน แต่ชุดที่เก่าแก่ที่สุดก็คือชุดที่ฟูจิวาระโนะเทกะเป็นคนรวบรวม โดยมีชื่อเต็มว่า “โอะงุระ เฮียะคุนินอิชชุ” (小倉百人一首) ซึ่งเป็นเฮียะคุนินอิชชุที่ผู้คนรู้จักกันทั่วไปในปัจจุบัน กลอนหนึ่งบทจะแบ่งออกเป็น 2 วรรค ได้แก่ วรรคบน หรือ คามิโนะคุ (上の句) และวรรคล่าง หรือ ชิโมะโนะคุ (下の句) เขียนอยู่คนละบรรทัด

ในกลอน 100 บทนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก 43 บท ฤดูกาล 32 บท การจากลา 1 บท การเดินทาง 4 บท และอื่น ๆ อีก 20 บท ยกตัวอย่างเช่น
忍ぶれど色に出でにけりわが恋は
ものや思ふと人の問ふまでแม้นปิดบังซ่อนเร้น แต่ทว่าไม่เว้นออกสีหน้า ความรักของข้านั้น
ผู้คนพลันสืบเสาะถามความ ท่านคิดสิ่งใดในหทัย
(คำแปลข้างต้นแปลโดยผู้เขียน ไม่ใช่คำแปลอย่างเป็นทางการ)
แปลเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือ แม้จะพยายามปกปิดว่าแอบชอบเขาคนนั้นสักแค่ไหน แต่อาการก็ออกทางสีหน้าท่าทาง จนกระทั่งคนรอบ ๆ ตัวรู้กันหมดว่าเราแอบชอบคน ๆ นั้นอยู่ กลอนบทนี้ออกมาในภาพยนตร์เรื่อง Conan The Movie 21: The Crimson Love Letter ตอนที่คาซึฮะแข่งคารุตะรอบตัดสิน ตอนนั้นคาซึฮะมุ่งมั่นกับการช่วงชิงไพ่ใบที่มีกลอนบทนี้เขียนอยู่อย่างมาก บทสรุปของการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ไปติดตามดูในภาพยนตร์กันได้ค่ะ
เพื่อน ๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะสงสัยว่า แล้วเฮียะคุนินอิชชุเกี่ยวกับคารุตะยังไง แล้วคารุตะคืออะไร ต้องใช้ไพ่ด้วยหรอ การพนันหรือเปล่า ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ค่ะ คารุตะเป็นการละเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นมีมาแต่สมัยเฮอัน โดยตัดสินแพ้ชนะกันที่ความจำ สมาธิ และความเร็ว ถ้าอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคารุตะเพิ่มเติม อย่าลืมติดตามบทความต่อไปนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก : shikinobi