สำหรับคนโอกินาว่า วันที่ 23 มิถุนายนหรือวันรำลึก (慰霊の日) ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของจังหวัดทีเดียว วันนี้มีความหมายอะไร? เพราะอะไร? ในวันนั้นจะมีอะไรบ้าง? และคนต่างชาติอย่างเรามีส่วนร่วมได้อย่างไร? ในฐานะที่คนไทยเริ่มไปเที่ยวโอกินาว่าเยอะขึ้นทุกปี วันนี้ก็เป็นอีกวันสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจโอกินาว่าได้มากขึ้น
วันรำลึกคือ?
วันรำลึก หรือถ้าแปลตรงตัวคือวันเซ่นไหว้ดวงวิญญาณคือวันหยุดที่มีเพียงเฉพาะจังหวัดโอกินาว่าเท่านั้นซึ่งตรงกับวันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี ที่ทางจังหวัดประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการนั้นเพื่อให้ประชาชนในโอกินาว่าทุกคนสามารถเข้าร่วมพิธีไว้อาลัยแด่ผู้ล่วงลับในยุทธการโอกินาวา (沖縄全戦没者追悼式) ที่จะจัดขึ้นทุกปีได้ค่ะ
ทำไมต้องวันที่ 23 มิถุนายน?
เนื่องจากวันที่ 23 มิถุนายนนั้นตรงกับวันที่ยุทธการโอกินาว่า (沖縄戦) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1945 หลังอุชิจิมา มิตสึรุ (牛島 満) นายพลผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในโอกินาวากระทำอัตนิวิบาตกรรม เป็นอันสิ้นสุดการรบในโอกินาว่าด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นและชัยชนะของกองทัพอเมริกา อย่างไรก็ตาม มีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมากในยุทธการโอกินาว่า โดยเฉพาะประชาชนคนทั่วไป เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นและตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพ วันที่ 23 มิถุนายนจึงถูกกำหนดให้เป็นวันรำลึกนั่นเอง
ในวันที่ 23 มิถุนายนจะมีอะไรบ้าง?
หัวใจหลักของวันนี้อยู่ที่พิธีไว้อาลัยแด่ผู้ล่วงลับในสงครามโอกินาวาประจำปี ซึ่งจะถูกจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถานสันติภาพ (平和祈念公園) เมืองอิโตมัง (糸満市) จังหวัดโอกินาว่า โดยภายในงานจะมีการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้ว่าราชการจังหวัดโอกินาว่า และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์โดยเยาวชนจังหวัดโอกินาว่าที่บทประพันธ์เพลงในหัวข้อสันติภาพได้รับเลือก
และในเวลาเที่ยงตรง ทุกคนในจังหวัด แม้แต่คนโอกินาว่าที่อยู่จังหวัดอื่นๆ จะหันหน้าไปทิศใต้และสงบนิ่งไว้อาลัยแด่ผู้ล่วงลับเป็นเวลาสั้นๆ เนื่องจากทิศใต้คือทิศของสนามรบแห่งสุดท้ายของยุทธการโอกินาว่า ซึ่งมาสิ้นสุด ณ ที่ตั้งของอนุสรณ์สถานฯ เมืองอิโตมัง เมืองใต้สุดของเกาะโอกินาว่า
ชาวต่างชาติอย่างเรามีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง?
เนื่องจากในวันงานทางอนุสรณ์สถานฯ จะเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมฟรีเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นนอกจากเข้าร่วมพิธีและร่วมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแล้ว ชาวต่างชาติอย่างเรายังมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม พิพิธภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 6 ส่วน
1.เส้นทางสู่สงคราม (戦争への展開)
จะเป็นการเกริ่นให้เรารู้จักอาณาจักรริวกิว (琉球王国) และความเป็นมาจนตกเป็นของญี่ปุ่น ไปจนถึงการถูกใช้เตรียมทำสงคราม
2.การก่อตัวของสงคราม (戦闘の進展)
ในส่วนนี่จะเป็นการเล่าให้เรารู้สถานการณ์การรบทั้งในจังหวัดโอกินาว่าและรอบโลก รวมถึงมีสารคดีและแผนที่ประกอบให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนด้วย
3.ทุ่งนรกสงคราม (戦野の地獄)
ในส่วนนี้จะมีการจำลองความเป็นอยู่ในถ้ำหินให้เราได้ลองเข้าไปดู รวมถึงมีรูปของประชาชนในตอนนั้นและเสื้อผ้าในสมัยสงครามด้วย
4.เสียงจากผู้ให้การ (証言者の声)
ห้องนี้จะเป็นห้องเงียบๆ มีแฟ้มสมุดบันทึกคำให้การของผู้อยู่รอดจากสงครามให้เราได้พลิกอ่าน รวมถึงมีคลิปวิดีโอที่บันทึกคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตให้ได้ฟังกัน
5.เมืองหลังสงคราม (戦後の町)
ส่วนนี้จะแสดงบรรยากาศความเป็นอยู่หลังสงครามจบลงและเข้าสู่ช่วงที่โอกินาว่าถูกปกครองโดยอเมริกา
6.พื้นที่ของเด็กๆ “อนาคต” (未来)
โซนนี้จะเป็นโซนที่จัดขึ้นเพื่อเด็กๆ ที่มาเข้าชมโดยเฉพาะ ในนี้จะมีของเล่นและภาพวัฒนธรรมแปลกตาจากทุกมุมโลกให้เด็กๆ ได้รู้จักและทำความเข้าใจ โดยจุดประสงค์หลักของส่วนนี้คือเพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและมองข้ามความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติศาสนา และเห็นทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งทางอนุสรณ์สถานฯ หวังว่าความเข้าใจนี้จะนำไปสู่อนาคตที่มีแต่สันติภาพ
แม้ว่าวันที่ 23 มิถุนายนจะเป็นวันรำลึกถึงเรื่องราวน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในโอกินาว่า แต่เมื่อหันกลับมามองโอกินาว่าในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาแล้ว เพื่อนๆ อาจจะรู้สึกได้ถึงปาฏิหาริย์เล็กๆ ที่เรียกว่า “ชีวิต” ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ก็ได้