5 ข้อชวนคิดเรื่องผีที่ญี่ปุ่น ทำไมพูดถึงผีญี่ปุ่นแล้วต้อง…?

ผี 幽霊 (ゆうれい)

วิญญาณคนตายที่ไม่สามารถไปสู่สุขติได้ เนื่องจากมีความอาลัยอาวรณ์ หรือความแค้นที่ยังไม่ได้ชำระ

ถ้าพูดถึงเรื่องผีๆ ชาวยุโรปน่าจะต้องนึกถึงวัน Halloween แล้วชาวญี่ปุ่นล่ะ…นึกถึงอะไร?

ถ้าไปถามคนญี่ปุ่น ก็คงจะได้คำตอบว่า “หน้าร้อน” แทน “ฮาโลวีน” ค่ะ เพราะที่ญี่ปุ่นนั้นมีเทศกาล “โอบ้ง” (お盆) ซึ่งจัดในช่วงหน้าร้อน และว่ากันว่าเป็นวันที่เหล่าบรรพบุรุษ (รวมถึงผี วิญญาณ) จากโลกโน้น จะกลับมายังโลกมนุษย์นั่นเอง และด้วยเหตุนี้เอง จึงมักมีการจับเข่าเล่าเรื่องสยองขวัญกันในหน้าร้อนค่ะ

การเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องผี ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า Kaidan Banashi

怪談話(かいだんばなし)

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่ว่าละครคาบูกิที่แสดงในหน้าร้อนมักเป็นละครที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผี จึงทำให้คนสมัยก่อนมีภาพจำเช่นนั้น และมักชักชวนกันเล่าเรื่องผีในหน้าร้อนด้วยค่ะ

ส่วนวันฮาโลวีนนั้น ชาวญี่ปุ่นผู้รักในการสังสรรค์และรักในการจัดเทศกาลต่างๆ เป็นที่สุดก็ยังขอร่วมด้วย แต่จะเป็นไปเพื่อความสนุกสนาน เฮฮา ปาร์ตี้ และส่งเสริมการขายของร้านค้า สินค้าต่างๆ เสียมากกว่าค่ะ

นอกจากวันฮาโลวีนแล้ว จะว่าไปเรื่องผีๆ ของญี่ปุ่นก็มีเอกลักษณ์ที่ต่างจากผีชาติอื่นๆ อยู่ด้วยเหมือนกัน เรามาดู 5 ข้อชวนคิดเกี่ยวกับผีที่ญี่ปุ่นที่น่าสนใจกันเลยค่ะ

1. ทำไมผีต้องไม่มีขา?

เพื่อนๆ เคยสังเกต หรือสงสัยไหมคะว่าทำไมผีถึงจะต้องไม่มีขา?

นั่นน่ะสิ… ที่จริงคำตอบอาจง่ายกว่าที่เราคิด ว่ากันตามตรง เรื่องผีๆ นั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครเจอจริง-ไม่จริง ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% และเมื่อลองมองย้อนไปในประวัติศาสตร์และวรรณกรรมดูแล้ว เหตุผลง่ายๆ อาจจะเป็นเพราะว่าวรรณกรรม / ละคร หรือ “สื่อ” ในสมัยแรกๆ ที่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องผี ได้สร้างภาพจำแบบนั้นออกมาทำให้คนเชื่อว่า “ผีต้องไม่มีขา” ก็เป็นได้

2. แพทเทิร์นของผีญี่ปุ่นที่แตกต่างจากผียุโรป

พูดถึงผียุโรป เรามักจะนึกภาพของผีที่มักมาในรูปแบบของวิญญาณที่มองไม่เห็น บ้านผีสิงที่สิ่งของขยับได้เอง หรือวิญญาณสีขาวลอยไปลอยมา ผีหัวขาดหรือซอมบี้

ส่วนผีญี่ปุ่นจะมาในอีกรูปแบบ คือมักจะเป็น “ผีสาว” ที่มีใบหน้าขาวซีดและมักจะมีผมยาว พ่วงมาด้วยไม่ใช่ผมสวยแบบโฆษณายาสระผม แต่มักมีผมกระเซิง ยุ่งๆ พร้อมปรากฏตัวในชุดขาว ซึ่งหลักๆ แล้วน่าจะได้รับอิทพลที่แตกต่างกันมาผ่านสื่อหรือวรรณกรรมนั่นเอง

3. ทำไมผีต้องปรากฏตัวใต้ต้นหลิว

ถ้าพูดถึงเรื่องผีและถามถึงต้นไม้ เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นหลายคนจะตอบว่าต้นที่นึกถึงเป็นอันดับแรกคือ “ต้นหลิว” (柳)

อ้าว แล้วเป็นต้นซากุระไม่ได้เหรอคะคุณพี่? ก็นั่นน่ะสิคะคุณน้อง แต่เรื่องนี้น่ะมีเหตุผลอยู่ว่า ชาวญี่ปุ่น (รวมถึงชาวจีนจำนวนไม่น้อย) เชื่อว่าต้นหลิวเป็นต้นไม้อันเป็นที่สถิตของวิญญาณมาตั้งแต่สมัยก่อน หากเทียบกับไทยก็คงคล้ายกับที่คนไทยมีอิมเมจว่าผีต้องคู่กับต้นตะเคียนอย่างไรก็อย่างนั้น

เนื่องจากต้นหลิวมีใบที่พลิ้วไหวตามลมได้ง่าย เวลากลางคืนหากมองไม่ดีก็อาจเห็นภาพหลอนเป็นผู้หญิงผมยาว หรือหากไปยืนใต้ต้นหลิวแล้วลมพัดใบไม้ปลิวมาโดนหัวเบาๆ ก็อาจทำให้หลอนคิดไปว่ามีใครมาลูบหัว ยืนถือร่มใต้ต้นหลิว โดนลมพัดร่มปลิวไปติดกับต้นไม้ก็ทึกทักไปว่าผีแกล้งเอาร่มไปด้วย เป็นต้นค่ะ

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านวรรณกรรมเข้ามาเสริม ทำให้ภาพจำของ “ต้นหลิวกับวิญญาณ” ยิ่งถูกตอกย้ำและฝังอยู่ในใจของชาวญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ

4. เสียงที่คนญี่ปุ่นได้ยินแล้วต้องนึกถึงเรื่องผีเป็นอันดับแรก

ひゅう~どろどろ~~~・・・ (Hyu~ dorodoro~~~)

คือเสียงขลุ่ยและกลองซึ่งหากได้ยินในระหว่างการดูละครคาบูกิ จะทำให้ผู้ชมทราบทันทีเลยว่าฉากต่อจากนี้จะมีผีโผล่มาแน่ หรือแม้ไม่โผล่มาจริง แต่เมื่อได้ยินเสียงนี้แล้วก็จะนึกถึงฉากที่มีผี-วิญญาณโผล่มาก่อนค่ะ และแน่นอนว่าในยุคที่ญี่ปุ่นมีสื่อบันเทิงมากมายนั้น นอกจากคาบูกิแล้ว ก็ยังถูกนำไปใช้ในสื่อบันเทิงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

5. ภูติกับผีเป็นพวกเดียวกันไหม

ภูติ / ปีศาจ 妖怪 (ようかい/Youkai)

ผี 幽霊 (ゆうれい/Yurei)

สำหรับข้อสุดท้าย อยากชวนให้เพื่อนๆ ได้มาลองคิดกันเล่นๆ ดูว่าภูติก็ไม่ใช่คน ผีก็ไม่ใช่คน แล้วทั้งภูติกับผี ที่ไม่ใช่คน เป็นพวกเดียวกันไหม???

ซึ่งในแวดวงนักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปแบบ “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว” ออกมา เพราะมีทั้งกลุ่มที่เชื่อว่าภูติและผีเป็นสิ่งเดียวกัน กับกลุ่มที่แยกภูติและผีออกจากกันอยู่

ฝ่ายที่เชื่อว่าภูติและผีเป็นพวกเดียวกัน

มองว่าทั้งภูติและผีไม่ใช่มนุษย์ และอาศัยอยู่อีกโลกหนึ่งที่ซ้อนทับกันอยู่เหมือนกัน โดย “ภูติ” เป็นดวงวิญญาณที่เกิดขึ้นเฉยๆ ไม่ได้เคยเป็นมนุษย์มาก่อน ส่วน “ผี” ก็คือดวงวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง เพียงแค่ยังคงรูปลักษณ์ของตัวเองในชาติก่อน (มนุษย์) เอาไว้

ฝ่ายที่เชื่อว่าภูติและผีเป็นคนละประเภทกัน

มองว่า “ภูติ” เป็นแนวคิดจากสมัยโจมง (縄文時代) ส่วน “ผี” เป็นแนวคิดที่มาจากความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ซึ่งส่งต่อมาจากสมัยยาโยอิ (弥生時代)

แล้วเพื่อนๆ คิดว่าภูติกับผีเป็นสิ่งเดียวกันไหม? ลองเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้นะ!

สรุปเนื้อหาจาก intojapanwaraku, kokugakuin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save