เดือนแห่งสายฝนทั้งที แต่ชื่อเดือนมิถุนายนแบบญี่ปุ่นโบราณกลับแปลว่า “ไม่มีน้ำ” ?

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ ๆ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ในอดีต ชื่อเดือนมิถุนายนถูกเรียกว่า 水無月 (Minazuki) ซึ่งแปลว่าเดือนที่ไม่มีน้ำ แต่ฝนก็ตกเยอะ ทำไมถึงได้ชื่อว่าไม่มีน้ำ ? นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ ของเดือนมิถุนายนอีกมากมายเลยนะคะ เราลองไปดูกัน!

ทั้ง ๆ ที่ในเดือนมิถุนายนที่ญี่ปุ่นมีฝนตกชุกมาก แต่กลับมีชื่อเดือนว่า 水無月 (Minazuki) หากดูจากคันจิจะแปลได้ว่าเดือนที่ไม่มีน้ำ ในปัจจุบันตัว 無 มีความหมายว่า “ไม่มี” แต่จริง ๆ แล้วในอดีต ตัว 無 มีความหมายว่า “ของ” ดังนั้นชื่อเดือนนี้จึงแปลว่า เดือนของน้ำ กรณีเดียวกันนี้กับเดือนตุลาคมที่มีชื่อเดือนว่า 神無月 (Kannazuki) ก็ไม่ได้มีความหมายว่าเดือนที่ไม่มีเทพเจ้า แต่หมายความว่าเป็นเดือนของเทพเจ้า เพราะเชื่อกันว่าในเดือนนี้เหล่าเทพจะลงมารวมตัวกันที่อิซุโมะ

ยังมีเรื่องเล่าอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชื่อเดือนมิถุนายนนั่นคือ เดือนมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติจะตรงกับช่วงเดือนกรกฎาคมในยุคปัจจุบัน เป็นช่วงที่ใกล้จะหมดหน้าฝน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเดือนที่ไม่มีน้ำ หรือก็คือไม่มีฝนนั่นเอง และอีกเรื่องเล่าหนึ่งคือ ด้วยความที่เป็นช่วงใกล้หมดหน้าฝน เมื่อชาวไร่ชาวนาเสร็จงานจากการทำนาก็จะเรียกว่า 皆仕尽 (Mina Shitsuki : ทุกคนเสร็จงาน) ซึ่งพ้องเสียงกับชื่อเดือน 水無月

นอกจาก 水無月 แล้วเราลองไปดูชื่อเรียกอื่น ๆ ของเดือนมิถุนายนกันค่ะ ว่าจะมีชื่อไหนน่าสนในบ้าง

弥涼暮月 (Isuzukureduki)

ชื่อเดือนนี้หมายถึง “เดือนแห่งพลบค่ำที่อากาศเย็นมาก” เพราะเป็นเดือนที่อาจจะรู้สึกเย็นมากแม้ว่าอุณหภูมิจะลดลงเพียงเล็กน้อย แถมยังอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมที่อากาศอุ่นขึ้น กับเดือนกรกฎาคมที่เป็นฤดูร้อน จึงกลายเป็นเดือนเดียวที่อากาศเย็นอยู่ตรงกลาง บางครั้งก็เรียกแค่เพียง 涼暮月 (Suzukureduki)

風待月 (Kazemachiduki)

松かけ(松陰)に 床居(とこゐ)をしつつ けふ(今日)ははや 風待月の夏のうとさよ

นี่เป็นหนึ่งในบทกลอนจาก 蔵玉和歌集 (Zougyokuwakashu) หนังสือรวมบทกลอนจากสมัยมุโรมาจิ กล่าวถึงการเฝ้ารอสายลมอันแสนสดชื่นหลังจากหมดหน้าฝน เพราะรู้สึกไม่ชอบความชื้นแฉะเหนอะหนะยามฝนตก อีกชื่อหนึ่งคือ 松風月 (Matsukazeduki) พ้องเสียงกับคำว่า 待つ風月 ซึ่งหมายถึง “เดือนที่เฝ้ารอสายลม” เช่นกัน

季夏 (Kika)

ชื่อเดือนนี้มีความหมายว่า “สิ้นสุดฤดูร้อน” ตามปฏิทินจันทรคติจะกำหนดฤดูร้อนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ทำให้เดือนมิถุนายนถูกเรียกว่าสิ้นสุดฤดูร้อน แต่ในปัจจุบัน เดือนมิถุนายนให้อิมเมจที่ยังไม่เริ่มต้นฤดูร้อนด้วยซ้ำไป หากอิงตามปฏิทินปัจจุบัน กว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อนก็ปาเข้าไปเดือนสิงหาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนจะมีชื่อเรียกว่า 孟夏 (もうか) และเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูร้อนจะเรียกว่า 仲夏 (ちゅうか)

建未月 (Kenbiduki)

เป็นชื่อเดือนที่ 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ได้ชื่อนี้เพราะเป็นเดือนที่ส่วนปลายของกลุ่มดาวจระเข้จะชี้ไปทางจักรราศีแกะ

涸月 (Kogetsu)

ชื่อเดือนนี้มีความหมายว่า “เดือนที่แห้งเหือด” เนื่องมาจากว่าในช่วงที่หน้าฝนสิ้นสุดลง อากาศจะร้อนขึ้น น้ำในนาก็ระเหยออกได้ง่าย แต่เนื่องจากนาข้าวยังต้องการน้ำ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำระเหยออกไปจนแห้ง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า 水張月 (Mizuhariduki)

蝉羽月 (Seminohaduki)

ชื่อเดือนนี้แปลว่า “เดือนแห่งปีกจั๊กจั่น” เมื่อหมดหน้าฝนก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน เหล่าจั๊กจั่นเริ่มร้องระงม ชื่อนี้จึงให้ความหมายว่าเป็นเดือนที่จะเริ่มใส่เสื้อผ้าบาง ๆ เหมือนกับปีกของจั๊กจั่น

田無月 (Tanashiduki)

ชื่อเดือนนี้ก็กรณีเดียวกับชื่อ 水無月 คือไม่ได้หมายความว่าเป็นเดือนที่ไม่มีนา แต่หมายถึง “เดือนแห่งการทำนา” หรือก็คือเดือนที่ชาวนาจะปลูกข้าว เมื่ออากาศเริ่มร้อน ก็ต้องใส่ใจกับปริมาณน้ำในนาข้าวและดึงวัชพืชออกให้หมด

旦月(たんげつ)

ชื่อเดือนนี้เพี้ยนมาจากคำว่า 田の月 (Tanogetsu) แปลว่า “เดือนแห่งนาข้าว” ตัวคันจิ 旦 หมายถึงรุ่งสาง สื่อถึงสภาพที่ความมืดครึ้มและเฉอะแฉะในหน้าฝนได้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ หากสังเกตลักษณะของตัว 旦 จะเห็นว่าคล้ายกับตัว 田 แต่ดึงเส้นแนวตั้งตรงกลางออกและมีเส้นแนวนอนวางด้านล่าง จึงอาจเป็นไปได้ว่าสื่อถึงการดึงตัวกั้นของนาข้าวออกไปเพื่อให้น้ำไหลเข้านาให้ทั่ว

鳴神月、鳴雷月 (Narukamiduki)

ว่ากันว่าชื่อเดือนนี้ได้มาจากการที่เทพเจ้าทำให้เกิดฟ้าร้องหลังจากหน้าฝนสิ้นสุดลง เรียกอีกอย่างว่า 神鳴月 (Kaminariduki) และหลังจากพายุฝนฟ้าคะนองผ่านไป ก็จะเข้าสู่ฤดูร้อนที่คนญี่ปุ่นรอคอยอย่างเต็มตัว

葉月 (Yougetsu)

แม้ว่าตัวคันจิของชื่อเดือนนี้จะเป็นชื่อของเดือนสิงหาคม แต่ในพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น Ekirinhon Setsuyoshu ในช่วงปลายยุคสงคราม คันจิคำนี้จะอ่านว่า Yougetsu คันจิตัว 葉 แปลว่าใบไม้ การใช้ชื่อนี้อาจจะหมายถึงการที่ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มงอกขึ้นมาหลังจากหมดหน้าฝน

นอกจากชื่อที่ยกตัวอย่างมา ยังมีชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละชื่อก็สามารถสัมผัสความรู้สึกตามฤดูกาลของคนญี่ปุ่นได้อย่างละเอียดอ่อน สมกับเป็นญี่ปุ่นจริง ๆ ^^

สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save