คาบาตะ เมื่อชีวิตและสายน้ำมาบรรจบกันที่ฮาริเอะ

เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะรู้จักชุมชนฮาริเอะ (針江区) ในฐานะเมืองที่มีน้ำสะอาดจนสามารถเลี้ยงปลาคาร์พไว้ในทางระบายของเมืองได้ ซึ่งภาพความสะอาดของน้ำที่นี่สร้างความประทับใจให้กับคนไทยและชาวต่างชาติที่ได้เห็นจนเคยเกิดเป็นกระแสมาแล้ว แต่ทำไมน้ำที่นี่ถึงได้สะอาดอย่างที่เห็น? เรามารู้จักวัฒนธรรมคาบาตะ (カバタ) ที่เป็นหัวใจของชุมชนนี้กันค่ะ

คาบาตะ วัฒนธรรมสายน้ำ

คาบาตะ เป็นรูปแบบวิถีชีวิตของชุมชนฮาริเอะ เมืองทากาชิมะ (高島市) จังหวัดชิกะ (滋賀県) โดยคำว่าคาบาตะเป็นวิธีการออกเสียงคำว่า “คาวาบาตะ (川端) ” ที่แปลว่าตลิ่งน้ำของคนท้องถิ่น คาบาตะนับเป็นวัฒนธรรมสายน้ำ (水文化) ที่หาชมได้ยากในญี่ปุ่นและมีจุดเด่นที่ไม่สร้างมลภาวะทางน้ำหลังการใช้งาน ทำให้น้ำในทางระบายน้ำของที่นี่สะอาดจนปลาคาร์พอาศัยอยู่ได้อย่างที่เห็นค่ะ

ภูเขาและสายน้ำที่หล่อเลี้ยงฮาริเอะ

แต่วิถีชีวิตแบบคาบาตะจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าชุมชนฮาริเอะไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขาฮิระ (比良山脈) ที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำในหมู่บ้านค่ะ โดยน้ำจากหิมะที่ละลายและน้ำฝนจะซึมลงสู่ดินกลายเป็นน้ำบาดาลที่อยู่ลึกลงไป 10-20 เมตรใต้พื้นของชุมชน ทำให้น้ำมีอุณหภูมิคงที่ที่ 13 องศาเซลเซียสทั้งปี นอกจากนี้ เพราะฮาริเอะตั้งอยู่บนพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมของปากแม่น้ำอาโดกาวะ (安曇川) จึงทำให้น้ำในชุมชนอุดมไปด้วยแร่ธาตุค่ะ

ระบบน้ำของคาบาตะ

คาบาตะเป็นระบบการใช้น้ำที่เรียบง่ายมากค่ะ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของคาบาตะ ชาวบ้านจะใช้ลำไผ่ที่หนาปักลงไปในดินที่ความลึก 10-20 เมตร เมื่อปักลงไปถึงทางที่น้ำบาดาลไหลผ่านจะมีน้ำผุดขึ้นมาตามปล้องไผ่ ซึ่งน้ำบาดาลนี้จะถูกเรียกว่าโชวสุ (生水) น้ำบาดาลจะถูกต่อท่อลงไปยังบ่อโอ่ง (壺池) น้ำในบ่อนี้จะถูกใช้อุปโภคบริโภค เช่น ดื่มกินและล้างผักผลไม้เหมือนน้ำประปาทั่วไป จากนั้นน้ำที่เอ่อล้นจากโอ่งก็จะไหลลงไปยังบ่อนอก (端池) ที่มีปลาคาร์พอยู่ค่ะ บ่อนอกจะเป็นบ่อที่ใช้ล้างเศษข้าวและเศษอาหารอื่น ๆ โดยอาศัยประโยชน์จากธรรมชาติของปลาคาร์พที่หากินตามพื้นท้องน้ำในการกำจัดเศษอาหารและทำให้น้ำสะอาดก่อนที่จะปล่อยน้ำออกสู่ทางระบายน้ำและลงไปตามท้องนาในภายหลังค่ะ

ลองมาดูการใช้นำแบบคาบาตะของจริงจากรายการด้านล่างกันค่ะ

สำหรับคำถามว่าน้องปลาคาร์พในบ่อกินเกลี้ยงขนาดไหน ลองมาดูตัวอย่างในนี้กันค่ะ

ชุมชนอาริเอะใช้น้ำประปาหรือไม่?

ใช้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ในบทความของโคอิเดะ โกโร่ (小出五郎) อดีตนักข่าว NHK ที่ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ไว้ ชุมชนฮาริเอะใช้น้ำประปาแค่สำหรับล้างรถ อาบน้ำ และใช้ในห้องน้ำเท่านั้นค่ะ ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว สัดส่วนการใช้น้ำแบบคาบาตะในชุมชนจึงยังมีเยอะกว่าค่ะ และเพราะน้ำจากชุมชนฮาริเอะไหลเชื่อมไปยังทะเลสาบบิวะ (琵琶湖) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น การใช้น้ำแบบคาบาตะจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพน้ำของทะเลสาบบิวะให้ยังสะอาดสวยงามอย่างที่เห็นค่ะ

สัมผัสวิถีชีวิตแบบชุมชนฮาริเอะ

ปัจจุบันมีที่พักในชุมชนและคอร์สทัวร์ชมคาบาตะของชุมชนค่ะ โดยรายละเอียดคอร์สดูได้ที่นี่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฮาริเอะยังเป็นชุมชนและไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว จึงไม่มีร้านค้ามากนักในชุมชน แต่สำหรับใครที่สนใจวิถีชีวิตเรียบง่าย ภูมิปัญญา และธรรมชาติของญี่ปุ่น ฮาริเอะก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าไปเยี่ยมชมค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก news.yahooshigabunkaharieharie-syozu

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save