ตอนเด็ก ๆ ทุกคนน่าจะเคยเห็นการละเล่นสมัยเก่า ๆ ผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหมากเก็บ รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า และอีกมากมาย เด็ก ๆ ญี่ปุ่นเขาก็มีการละเล่นเหมือนกันค่ะ ซึ่งอันที่หลาย ๆ คนรู้จักดีก็จะเป็นการละเล่นที่ชื่อว่า “Kagome” แม้จะเป็นการละเล่นน่ารักใส ๆ สำหรับเด็ก ๆ แต่ความจริงแล้วกลับแฝงทฤษฎีที่น่าสนใจไว้มากมายว่าความหมายที่แท้จริงของเนื้อเพลงนั้นคืออะไร ลองไปหาคำตอบกันค่ะ
สำหรับวิธีการเล่น Kagome จะให้เด็ก 1 คนนั่งปิดตาอยู่กลางวง แล้วให้เด็กคนอื่น ๆ จับมือกันเดินเป็นวงกลมล้อมรอบเด็กที่ปิดตา พร้อมกับร้องเพลงไปด้วย เมื่อเพลงจบ คนที่ปิดตาอยู่ตรงกลางจะต้องทายว่าคนที่อยู่ข้างหลังตนเองคือใคร ทีนี้เราไปดูเนื้อเพลงกับคำแปลกันค่ะ
かごめ かごめ
Kagome Kagome
คาโกเมะ คาโกเมะ籠の中の鳥は いついつ出やる
Kago no Naka no Tori ha Itsu itsu Deyaru
เจ้านกในตะกร้า เมื่อไหร่จะได้ออกมา夜明けの晩に 鶴と亀が滑った
Yoake no Ban ni Tsuru to Kame ga Subetta
ในคืนของรุ่งสาง นกกระเรียนกับเต่าลื่นล้ม後ろの正面だあれ?
Ushiro no Shoumen Daare ?
คนที่อยู่ข้างหลังคือใครกัน ?
ที่ยังไม่สามารถแปลคำว่า Kagome ได้เนื่องจากมีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับคำนี้ค่ะ ทฤษฎีแรกคือ หากเขียนด้วยคันจิ 籠目 จะหมายถึงตะกร้าที่ใช้ไม้ไผ่สานเป็นตา 6 เหลี่ยม เป็นวิธีการสานตะกร้าแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นคำนี้ ก็จะคล้องถึงท่อนต่อไปที่กล่าวถึงนกในตะกร้า ทฤษฎีต่อมาคือ หากเขียนด้วยคันจิ 囲め จะหมายถึงการล้อม ซึ่งก็ตรงกับวิธีการเล่นก็คือต้องล้อมยักษ์หรือล้อมคนตรงกลางเอาไว้ และทฤษฎีสุดท้ายคือ หากเขียนด้วยคันจิ 籠女 จะหมายถึงผู้หญิงถือตะกร้า ซึ่งมีความหมายแฝงว่าเป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์

ท่อนต่อมา
籠の中の鳥は いついつ出やる
Kago no Naka no Tori ha Itsu itsu Deyaru
เจ้านกในตะกร้า เมื่อไหร่จะได้ออกมา
ตรงนี้ก็เป็นการตีความตามตัวเลยค่ะ คือบ่งบอกถึงการรอคอยว่าเมื่อไหร่เจ้านกจะได้ออกมาจากตะกร้า
ท่อนต่อมา
夜明けの晩に
Yoake no Ban ni
ในคืนของรุ่งสาง
หมายถึงคืนก่อนที่จะเช้า ซึ่งก็คือช่วงเวลาประมาณตี 3 – ตี 5 แต่ถ้าหากบทเพลงนี้หมายถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ ท่อนนี้อาจจะหมายถึงการคลอดก่อนกำหนดในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
วรรคต่อมา
鶴と亀が滑った
Tsuru to Kame ga Subetta
นกกระเรียนกับเต่าลื่นล้ม
เนื่องจากคนญี่ปุ่นเชื่อว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นตัวแทนของการมีอายุยืนยาว โดยนกกระเรียนสื่อถึงการมีอายุ 1,000 ปี และเต่า 10,000 ปี ทำให้ในวรรคนี้สื่อถึงความตายของสัตว์ทั้งสองชนิด หรือในอีกแง่หนึ่ง วรรคนี้ออกเสียงเหมือนกับ つるっと亀が滑った Tsurutto Kame ga Subetta แปลว่าเต่าลื่นล้ม ตีความถึงหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งมีลักษณะเหมือนอุ้มกระดองเต่า) ลื่นตกจากบันได
ท่อนสุดท้าย
後ろの正面だあれ?
Ushiro no Shoumen Daare ?
คนที่อยู่ข้างหลังคือใครกัน ?
ตีความได้ว่าอาจมีใครสักคนที่ผลักหญิงตั้งครรภ์คนนั้นให้ตกบันได
นอกจากนี้เนื้อเพลงของการละเล่นนี้ยังได้รับการตีความในรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น
- Tsuru (นกกระเรียน) คือเมืองทสึรุกะ (ปัจจุบันคือเมืองทสึรุกะ จังหวัดฟุคุอิ) และ Kame (เต่า) คือเมืองคาเมโอกะ (ปัจจุบันคือเมืองคาเมโอกะ จังหวัดเกียวโต) บางทฤษฎีบอกว่าเพลงนี้เล่าเกี่ยวกับ อาเคจิ มิทสึฮิเดะ โชกุนสมัยเซนโกคุที่ควบคุมดูแลทั้ง 2 เมือง แต่สุดท้ายก็ต้องสูญเสียทั้ง 2 เมืองไป
- Kagome เพี้ยนมาจากคำว่า Kagume หมายถึง หญิงสาวในศาลเจ้า การละเล่นล้อมยักษ์นี้เป็นการเลียนแบบพิธีกรรมบางอย่าง รวมถึงเป็นโค้ดลับที่ใช้บอกกล่าวศิลปะอันลึกลับนี้แก่ผู้สืบทอด ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงเด็กที่ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจความหมาย
- เป็นเพลงที่เปรียบเทียบกับบรรดาหญิงสาวในย่านโสเภณีที่โศกเศร้าเนื่องจากไม่สามารถเป็นอิสระได้ เหมือนกับนกที่อยู่ในตะกร้า
- ดังที่กล่าวไป Kagome เป็นวิธีการสานตะกร้าในรูป 6 เหลี่ยม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวยิว
- ในท่อน “คนที่อยู่ข้างหลังคือใครกัน ?” กล่าวถึงสภาพของคนที่ถูกตัดศีรษะและกลิ้งตกลงไป ทำให้ได้แต่สงสัยว่าคนที่ตัดศรีษะเราคือใครกัน ?
ดูเหมือนจะมีทฤษฎีที่น่าสนใจมากมายเลยนะคะเกี่ยวกับเพลงนี้ ที่สังเกตได้คือส่วนมากจะเป็นการตีความไปในธีมที่ให้ความรู้สึกมืดมนและค่อนข้างสอดคล้องกัน แม้ว่าจะไม่มีใครทราบความหมายที่แท้จริง แต่ก็เป็นการละเล่นที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วเพลงในการละเล่นของไทยเรา ทุกคนทราบความหมายที่แท้จริงกันบ้างไหมคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan