“ตราประจำตระกูล” สิ่งเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น

เมื่อเรานึกถึงงานดีไซน์สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เรามักจะมองเห็นความเรียบง่าย สะอาดสะอ้าน ไม่ซับซ้อน แต่แอบแฝงไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง จนอดชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ และการเป็นเจ้าแห่งรายละเอียดของชนชาตินี้ไม่ได้

โลโก้หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ในรูปแบบของตราประจำตระกูล หรือ “คะมน” (家紋) นับย้อนไปได้ตั้งแต่ก่อนสมัยเฮอัน (เกียวโต) หรือก่อนสมัยสุโขทัยของเรากันเลยทีเดียว มาทำความรู้จักที่มาที่ไป ความคิด และความหมายที่แอบแฝงอยู่ในการออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้กันครับ

คะมน 「家紋」หรือตราประจำตระกูล คืออะไร?

ตราประจำตระกูล ถูกใช้เพื่อการอ้างอิงถึงครอบครัว บ่งบอกความเป็นพวกเดียวกัน การสืบสายเลือด การแสดงอำนาจ ระบุชนชั้น กำหนดหน้าที่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับตราประจำตระกูลในสังคมยุโรปในอดีต ที่เหมือนกันในแง่การนำมาใช้ แต่ต่างกันที่สังคมญี่ปุ่นมีความแพร่หลายในวงกว้างมากกว่ายุโรป

จุดเริ่มต้นของการแพร่หลาย

แรกเริ่มเดิมที ยังไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นตราประจำตระกูล ในสมัยนะระ ถูกใช้ในการตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ของชนชั้นสูง ต่อมาถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ประดับไว้บนรถลากของเหล่าขุนนาง เพื่อความเป็นศิริมงคล อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ นิยมใช้กันแต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครอง ก่อนที่จะเริ่มมีการสร้างสรรค์แบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคนอื่น ๆ จนเริ่มเกิดความนิยม และใช้เป็นตราประจำตระกูลในที่สุด

ตราที่ถูกประดับไว้บนรถลาก

สู่สัญลักษณ์ของซามุไร

กระทั่งในปลายสมัยเฮอัน การออกแบบเริ่มมีความหลากหลายอย่างมาก เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงความขัดแย้งระหว่าง 2 ตระกูลใหญ่ในสมัยนั้น ได้แก่ ตระกูลเฮจิ และ ตระกูลเกนจิ นำไปสู่การใช้ตราประจำตระกูลในหมู่ซามุไร เพื่อบ่งบอกความเป็นกลุ่ม สร้างความแตกต่างระหว่างพวกพ้องและศัตรู แม้กระทั่งในตระกูลเดียวกัน ก็ปรากฏตราที่แตกต่างกันมากมาย การเลือกใช้ตราจึงมีความอิสระอย่างมาก และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสายเลือด

ภาพวาดจำลองสงครามรวมชาติครั้งยิ่งใหญ่ ณ ทุ่ง Sekigahara ที่เต็มไปด้วยธงและตราประจำตระกูลต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ ยังถูกใช้ประดับบนเสื้อนอก Kataginu ของชุด Hakama เป็นชุดทางการของซามุไร เมื่อต้องเข้าร่วมงานพิธี หรือการเข้าพบโชกุนนั่นเอง

จากซามุไร สู่การเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางสังคม

ในสมัยเอโดะ (โตเกียว) ซึ่งเป็นสมัยที่สงครามสงบลง ภายใต้การปกครองที่มีเสถียรภาพของตระกูลโตกุงะวะ ตราประจำตระกูลจึงเปลี่ยนสถานะไปมีบทบาทในเชิงอำนาจ ใช้ในการบ่งบอกสถานะทางชนชั้นทั้ง 4 ได้แก่ ซามุไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า จากสำคัญมากไปน้อยตามลำดับ

ลักษณะโดยทั่วไปของตราประจำตระกูล

  • อิงจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้
  • อิงจากสัตว์ เช่น แมลง
  • มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน
  • ใช้หลักความสมมาตรในการออกแบบ

ความหมายอันลึกซึ้งที่แอบแฝงไว้

ตราประจำตระกูลโดยพื้นฐานมักถูกคิดขึ้น และอ้างอิงมาจากสิ่งรอบตัวอย่างมีเหตุมีผล มักจะสะท้อนความคิดใน 3 สิ่งของผู้ใช้ หรือ ตระกูลที่ยึดถือตรานั้น ๆ และส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ “ความหวัง ความฝัน และความต้องการ”

“อะเงะฮะ” ตราประจำตระกูลไทระ และ ตระกูลโอดะ :เป็นผีเสื้อชนิดหนึ่งที่กำลังลอกคราบ ให้ความหมายของการ เริ่มต้นใหม่ การเกิดใหม่
ใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นใบไม้ที่โตไว ขึ้นเยอะ สะท้อนความหมายการมีลูกมีหลาน มากมาย
ซากุระ : สัญลักษณ์จากพระเจ้า บ่งบอกการมาถึงของฤดูเพาะปลูก
ให้ความหวัง การเริ่มต้น ชาวนานิยม

ดังนั้นแล้ว การออกแบบ หรือเลือกตราใดมาใช้ในกลุ่ม หรือครอบครัวของตนเอง จึงต้องมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องแน่ใจว่าความหมายในตรานั้น ๆ เป็นที่เข้าใจร่วมกัน ยึดถือเป็นเป้าหมาย ความหวัง และความฝันต่าง ๆ ร่วมกันกับสมาชิกในกลุ่มอย่างหนักแน่น ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับสำคัญอย่างมาก ในฐานะที่สังคมญี่ปุ่นโบราณ เป็นสังคมแบบกลุ่ม ที่มีความยึดเหนี่ยวระหว่างกัน มีความรับผิดชอบร่วมกันภายในกลุ่มพวกพ้องเป็นอย่างสูง

มองไปทางไหนก็เจอ

แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ความสำคัญของตราเหล่านี้ และองค์ความรู้ในการออกแบบยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าเราจะเดิน จะมองไปทางไหน เป็นต้องมีตราที่แสนเรียบง่ายแต่งดงามผ่านเข้ามาในสายตาบ้างไม่มากก็น้อยแน่ ๆ…คราวนี้คงจะไม่ได้เข้าตาอย่างเดียว แต่หวังว่าเพื่อน ๆ จะเข้าใจตราเหล่านี้กันมากขึ้นด้วยนะครับ

ผู้เขียน: mamonn

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save