เป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ มีด้วยเหรอที่ไม่เหมือนกัน? อัตลักษณ์ของคนญี่ปุ่นหากมองผิวเผินก็ดูเหมือนๆ กันหมด แต่ถ้าสังเกตกันจริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นในแต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าในเรื่องวัฒนธรรม แนวความคิด อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งเรื่องการใช้ภาษาเองก็ตาม เรามาดูกันดีกว่าว่า คนญี่ปุ่นที่อยู่ในภูมิภาคใหญ่ๆ อย่าง “คันโต” และ “คันไซ” มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
คันโตและคันไซ
คันโต (関東) คือภูมิภาคที่อยู่ทางภาคกลางของญี่ปุ่น เป็นภูมิภาคที่สำคัญแห่งหนึ่งและเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกรุงโตเกียว ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงโตเกียว จิบะ กุนมะ ไซตามะ คานากาวะ โทจิงิ อิบารากิ และยามานาชิ เป็นจุดมุ่งหมายของใครหลายๆ คน ที่เป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
คันไซ(関西) คือภูมิภาคที่อยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยมีจังหวัดโอซาก้าเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางในภูมิภาค ภูมิภาคนี้ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ โอซาก้า วากายามะ มิเอะ ชิงะ นารา เกียวโต และเฮียวโกะ
ความแตกต่างระหว่างคนคันโตและคนคันไซ
การใช้บันไดเลื่อน
ที่ญี่ปุ่นปกติแล้วคนจะนิยมยืนชิดข้างใดข้างนึงเพื่อเปิดพื้นที่ว่างสำหรับผู้ที่เร่งรีบ โดยฝั่งคันโตจะชิดด้านซ้าย ส่วนฝั่งคันไซจะชิดด้านขวา

การทักทายคนที่ไม่รู้จัก
โดยทั่วไปคนคันไซจะมีอัธยาศัยดี สามารถพูดคุยทักทายคนที่ไม่รู้จักและให้การช่วยเหลือได้ หากคุณถือหนังสือท่องเที่ยวอยู่ละก็ ไม่แน่ว่าอาจจะโดนทักว่า “มาจากที่ไหนหรอ” ก็เป็นได้ นับว่าเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวถ้าเทียบกับคนคันโตที่ออกจะเกรงใจและไม่อยากรบกวนผู้อื่น จึงไม่ได้แสดงออกในลักษณะเดียวกัน
ร้านแมคโดนัลด์เรียกว่ายังไงนะ?
ถึงแม้จะเป็นร้านแมคโดนัลด์เหมือนกัน แต่สองพื้นที่นี้ก็ใช้คำเรียกที่แตกต่างกัน ทางคันไซจะเรียกว่า มาคุโดะ (マクド) ส่วนทางคันโตจะเรียกว่า มักคุ (マック)
แบบสำรวจในร้านค้าต่างๆ
นอกจากความคึกคักของเมืองแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ดูเป็นเอกลักษณ์ของคันไซคือจะมีการแจกแบบสอบถามในร้านรวงต่างๆ เต็มไปหมดจนสังเกตได้ซึ่งผิดกับทางคันโตมากๆ
สีของรถแท็กซี่
สีสันของรถแท็กซี่ในแต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นไม่ได้เหมือนกันนะ ฝั่งคันโตจะใช้สีเขียว สีเหลือง ซึ่งเป็นสีสดใสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนทางแถบคันไซจะเห็นแท็กซี่สีดำเป็นหลักซึ่งมีภาพลักษณ์ของความหรูหรา หรือถ้ามีสีสันหน่อยก็จะมีสีเหลืองบ้างเป็นบางคันเท่านั้น

การขึ้นรถบัส
ฝั่งคันโตจะมีวิธีการขึ้นรถบัสจากประตูหน้า แล้วชำระเงินเมื่อขึ้นรถ และลงทางประตูหลัง ส่วนทางฝั่งคันไซจะขึ้นจากประตูหลัง ชำระเงินเมื่อถึงป้าย และลงทางประตูหน้า
กระดาษทิชชู่ที่ใช้ในห้องน้ำ
กระดาษทิชชู่ที่ใช้ในห้องน้ำฝั่งคันโตจะเป็นแบบดับเบิ้ล คือกระดาษทิชชู่เป็นแบบบางๆ สองชั้นประกบกัน ส่วนฝั่งคันไซจะเป็นแบบซิงเกิ้ล คือกระดาษทิชชู่แบบแผ่นเดียวชั้นเดียวเป็นส่วนใหญ่
ความแตกต่างของอาหารและขนม
เมนูเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะเรียกเหมือนกันเสมอไปนะ! อย่างซาลาเปา ทางฝั่งคันโตจะเรียกว่า นิคุมัง (肉まん) ส่วนทางคันไซจะเรียกว่า บุตะมัง (豚まん) นอกจากนี้อาหารประเภทเดียวกันก็อาจจะมีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ซากุระโมจิ (桜餅) ที่มีวิธีการทำแตกต่าง โดยทางคันโตจะนำแป้งสาลีไปย่างแล้วนำมาห่อถั่วแดง ส่วนทางคันไซจะใช้ผงแป้งโดเมียวจินำมานึ่งแล้วห่อด้วยถั่วแดง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราหยิบยกมาให้เห็นถึงความต่างของคันไซและคันโต ซึ่งมีความแตกต่างมาตั้งแต่สมัยเอโดะและสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวความคิดที่เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ ยิ่งรู้มากขึ้นก็ยิ่งสนุกกับมุมมองที่แตกต่างออกไป หวังว่าทุกคนจะได้สัมผัสความต่างนี้เมื่อมาเยือนญี่ปุ่นกันนะ
สรุปเนื้อหาจาก: otokonakakurega, jpnculture
Photo by Kit Ko, Jezael Melgoza on Unsplash