มารู้จัก “เคนโด” ศิลปะการใช้ดาบที่กลายเป็นที่นิยมจากการ์ตูนเรื่อง KIMETSU NO YAIBA

ชุดเครื่องป้องกันของเคนโด
ชุดเครื่องป้องกันของเคนโด

ณ ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักการ์ตูนเรื่อง KIMETSU NO YAIBA หรือดาบพิฆาตอสูร ที่ออกมาทั้งในรูปแบบหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชันทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่” ซึ่งเข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 และทำรายได้ทั่วประเทศญี่ปุ่นไปกว่า 32,400 ล้านเยน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2563) สินค้าที่ออกแบบในธีมการ์ตูนเรื่องนี้ก็มีออกมาวางขายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของเล่น เรียกได้ว่ากระแสกำลังมาแรงสุด ๆ

และสิ่งที่กลายเป็นที่สนใจไปด้วยก็คือ เคนโด (剣道) หรือศิลปะการใช้ดาบของญี่ปุ่น ว่ากันว่าเด็ก ๆ หลายคนเริ่มเรียนเคนโดเพราะการ์ตูนเรื่องนี้ ถึงขนาดที่มีโรงเรียนสอนเคนโดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นนำรูปจากดาบพิฆาตอสูรไปใช้ในโปสเตอร์รับสมัครนักเรียนกันเลยทีเดียว วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ “เคนโด” ที่คามาโดะ ทันจิโร และผองเพื่อนใช้ปราบอสูรกันค่ะ

จุดเริ่มต้นของดาบญี่ปุ่น

ดาบญี่ปุ่น หรือนิฮงโต (日本刀)
ดาบญี่ปุ่น หรือนิฮงโต (日本刀)

ถ้าจะพูดถึงศิลปะการใช้ดาบ ไม่มีดาบก็คงไม่ได้ ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของเคนโดก็คือการถือกำเนิดขึ้นของดาบญี่ปุ่นนั่นเอง เจ้า “ดาบญี่ปุ่น” นี้เริ่มมีตัวตนตอนช่วงกลางของสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185) ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากดาบทั่วไปในสมัยนั้น เพราะมีปลายดาบที่เชิดงอนขึ้นและมีรอยนูนระหว่างสันดาบกับคมดาบ ซึ่งทั้งคู่เป็นลักษณะเฉพาะของดาบญี่ปุ่น ว่ากันว่าแต่เดิม ชนเผ่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นใช้ดาบลักษณะนี้มาตั้งแต่ตอนต้นของสมัยเฮอันแล้ว และต่อมาก็เริ่มใช้กันในหมู่ซามุไร จนกระทั่งตอนปลายของสมัยคามาคุระที่เหล่าซามุไรได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมากำอำนาจการปกครองแทนเหล่าผู้สูงศักดิ์เป็นครั้งแรก ทำให้ทักษะการตีดาบญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด

จากยุทธวิธีสู่ศิลปะ

เคนโด การโจมตึและตั้งรับ
เคนโด การโจมตึและตั้งรับ

สมัยมุโรมาชิ (ค.ศ. 1392 – 1573) ช่วงครึ่งหลังของยุค ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความวุ่นวายเป็นเวลา 100 ปีหลังจากสงครามกลางเมือง วิถีแห่งการใช้ดาบเพื่อต่อสู่แบ่งออกเป็นหลายแขนงหลากอาจารย์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1543 ปืนยาวได้เข้ามาในญี่ปุ่นทำให้วิธีการรบของญี่ปุ่นเปลี่ยนไป โดยเน้นการรบระยะประชิดที่ใช้อาวุธจำพวกดาบ ทวน และปืน การฝึกดาบจึงถูกขัดเกลาจนมีความสมบูรณ์มากขึ้น และศาสตร์การฝึกแขนงน้อยใหญ่ก็มารวมกันเกิดเป็นแขนงหลัก ๆ ขึ้นมา และยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ชุดเครื่องป้องกันของเคนโด และดาบไม้ไผ่
ชุดเครื่องป้องกันของเคนโด และดาบไม้ไผ่

สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1867) เป็นยุคสมัยแห่งความสงบสุข ไร้สงคราม วัตถุประสงค์ของการฝึกดาบจึงเปลี่ยนจากวิถีการรบเป็นศิลปะ ที่ไม่ได้ฝึกฝนเพียงทักษะการใช้ดาบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฝึกฝนจิตใจด้วย ในช่วงกลางและช่วงปลายของยุคนี้ ทฤษฎีและตำราเกี่ยวกับการฝึกดาบแขนงต่าง ๆ เริ่มออกมาให้เห็น และยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกเคนโดในปัจจุบันยึดปฏิบัติกัน ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือการคิดค้นเครื่องป้องกันสำหรับผู้ฝึก และการใช้ดาบไม้ไผ่ในการฝึก เรียกได้ว่าศิลปะการใช้ดาบในยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงมาถึงเคนโดในปัจจุบันโดยตรง

หลังจากนั้น เคนโดก็เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมญี่ปุ่นและแผ่ขยายไปทั่วโลก มีการจัดตั้งสมาคมเคนโดอย่างเป็นทางการ และจัดให้เคนโดเป็นหัวข้อหนึ่งในวิชาพละศึกษา การฝึกเคนโดจึงแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง อีกทั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ได้มีการจัดการแข่งขันเคนโดระดับนานาชาติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หัวใจของเคนโด

การเคารพอาจารย์และคู่ฝึกก่อนเริ่ม
การเคารพอาจารย์และคู่ฝึกก่อนเริ่ม

การฝึกเคนโดไม่ได้จบอยู่แค่ในสนามฝึกหรือสนามแข่งขันเท่านั้น แต่เป็นการขัดเกลาทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเอง เรียนรู้การเคารพและโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น เรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้

อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ บางคนอาจจะอยากลองฝึกลมปราณ ฟันดาบไม้ไผ่กันบ้างแล้ว ในประเทศไทยเราก็มีสนามฝึกเคนโดอยู่หลายแห่ง เช่น ชมรมเคนโดของศูนย์เยาวชนต่าง ๆ ลองตามไปสัมผัสแนวคิดและวิถีแห่งการใช้ชีวิตของซามุไรญี่ปุ่นจากการฝึกเคนโดกันได้ค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก: kendo, gamewatch
ผู้เขียน: monaka

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save