มารู้จักกับ “คิวบะจุตสึ” การขี่ม้ายิงธนูที่มีอิทธิพลต่อมารยาททางสังคมของคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

คิวบะจุตสึ (弓馬術) ประกอบด้วยตัวคันจิสามตัว ได้แก่ ยูมิ (弓) ที่แปลว่าธนู อุมะ (馬) ที่แปลว่าม้า และ วาซะ (術) ที่แปลว่าศาสตร์ พอเอามารวมกันแล้วจะแปลได้ว่าศาสตร์การขี่ม้ายิงธนูนั่นเอง คิวบะจุตสึนี้เป็นศาสตร์การต่อสู้โบราณของญี่ปุ่นที่ผู้ฝึกจะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก และมีไม่กี่ที่เท่านั้นที่สามารถฝึกสอนได้ วันนี้เราจะพาไปรู้จักศาสตร์การขี่ม้ายิงธนูแขนงโอกะซะวาระริว หรือ โอกะซะวาระริว คิวบะจุตสึ (小笠原流弓馬術) ซึ่งถือเป็นแขนงหลักอันสำคัญของคิวบะจุตสึ นอกจากนี้ วิถีการฝึกฝนของโอกะซะวาระริว คิวบะจุตสึยังส่งผลถึงท่าทางและมารยาททางสังคมของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันอีกด้วย ศาสตร์การต่อสู้จะเกี่ยวกับมารยาททางสังคมได้อย่างไร เราไปดูกันค่ะ

ประวัติความเป็นมา

โอกะซะวาระริว คิวบะจุตสึ คิดค้นขึ้นในสมัยคามาคุระ โดยโอกะซะวาระ นางะคิโยะ ต้นตระกูลนามสกุลโอกะซะวาระ เมื่ออายุได้ 26 ปี โอกะซะวาระ นางะคิโยะ ได้เป็นอาจารย์ผู้สอนคิวโฮ (糾方) หรือวิธีการเคารพและทักษะในการฝึกคิวบะจุตสึ และลูกหลานของเขาก็ได้สืบทอดศาสตร์แขนงนี้มารุ่นต่อรุ่น จนมีการจดบันทึกและรวบรวมศาสตร์ดังกล่าวออกมาเป็นหนังสือชื่อชูชินรง (修身論) และไทโยรง (体用論) ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานการฝึกฝนที่ใช้กันในปัจจุบัน ในสมัยเมจิ มีการก่อตั้งโรงฝึกวิธีการเคารพของคิวบะจุตสึ และมีการเพิ่มวิธีการเคารพเหล่านี้ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสตรีในญี่ปุ่น จนกลายมาเป็นมารยาททางสังคมที่พึงปฏิบัติในปัจจุบัน

การฝึกฝน

การฝึกฝนโอกะซะวาระริว คิวบะจุตสึนั้น ขอบอกว่าไม่ง่ายเลย เพราะผู้ฝึกต้องขัดเกลาทักษะด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ วิธีการเคารพ การใช้ธนู และการขี่ม้า ซึ่งคนที่จะสอนได้ต้องเป็นคนของตระกูลโอกะซะวาระเท่านั้น สถานที่ฝึกฝนก็ไม่ได้มีมากนัก อย่างการฝึกยิงธนูบนม้าจะมีสถานที่ฝึกในศาลเจ้าไม่กี่ที่เท่านั้น ส่วนการฝึกยิงธนูแบบยืนนิ่ง ๆ บนพื้นจะมีการฝึกตามสมาคมโอกะซะวาระริวในญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องเข้าร่วมและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของศาลเจ้าที่ตัวเองฝึกฝนอยู่ด้วย ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ผู้ฝึกฝนโอกะซะวาระริว คิวบะจุตสึทั่วทั้งญี่ปุ่นจะมารวมตัวเพื่อพบปะกันที่ศาลเจ้านะชิโนะคิในเมืองเกียวโต ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ของปี

มารยาททางสังคมแบบโอกะซะวาระริว

อย่างที่เล่าไปว่าวิธีการเคารพของคิวบะจุตสึ ได้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสตรีในญี่ปุ่น จนกลายมาเป็นมารยาททางสังคมที่พึงปฏิบัติในปัจจุบัน ถึงขนาดว่ามีหนังสือเกี่ยวกับมารยาททางสังคมแบบโอกะซะวาระริวออกมามากมาย และยังมีโรงเรียนฝึกสอนมารยาทตามแบบฉบับโอกะซะวาระริวอีกด้วย สรุปหลักการง่าย ๆ คือมารยาทในการยืน นั่ง เดิน หมุนตัว โค้งเคารพ และถือของ โดยร่างกายจะต้องสง่าผ่าเผย ตัวตรงตลอดเวลา เวลาหมุนตัวต้องค่อย ๆ หมุนจากเอวและขยับขาตามองศาที่กำหนด เวลาโค้งเคารพต้องโค้งให้ถูกองศา อย่างเช่น ถ้าโค้งเคารพผู้ใหญ่จะต้องโค้งให้ได้ 90 องศา เป็นต้น ส่วนเวลาโค้งคำนับขณะนั่งก็มีวิธีการวางมือที่แตกต่างกันไปแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการคำนับ สุดท้ายการถือของต้องถือด้วยสองมือและห้ามงอแขน มารยาททางสังคมเหล่านี้ยังคงใช้กันในการติดต่อธุรกิจหรือการทำงานในปัจจุบัน เด็กจบใหม่หลาย ๆ คนถึงกับลงคอร์สเรียนมารยาทเพื่อไปสมัครงานกันเลยทีเดียว

สรุปเนื้อหาจาก : nihonkobudo, ogasawara-ryu, president

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save