เมื่อไปเที่ยวตามศาลเจ้าใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่น ทุกคนอาจจะสังเกตเห็นศาลเจ้าเล็กศาลเจ้าน้อยมากมายอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าหลักอีกทีนึง เคยสงสัยกันไหมคะว่าศาลเจ้าเล็ก ๆ เหล่านั้นมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร บูชาเทพองค์ไหน เราไปหาคำตอบกันค่ะ
ศาลเจ้าเล็ก ๆ เหล่านั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 摂社 (せっしゃ : Sessha) และ 末社 (まっしゃ : Massha) เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นศาลเจ้ารอง มีไว้เพื่อบูชาเทพคนละองค์กับศาลเจ้าหลัก ทั้ง 2 ประเภทนี้จะแบ่งตามความสัมพันธ์ของเทพทั้ง 2 องค์ โดย Sessha จะเป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐานเทพที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเทพของศาลเจ้าหลัก อย่างเช่นเป็นครอบครัว หรือเจ้านายกับบ่าว ฯลฯ ส่วน Massha เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐานเทพองค์อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของ Sessha ในบางครั้งมีการเรียกทั้ง Sessha กับ Massha รวมกันว่า 摂末社 (せつまっしゃ : Setsumassha) หรือ 枝社 (えだやしろ : Edayashiro)
View this post on Instagram
จากภาพด้านบน ทางขวาสุดคือ Sessha ของเทพีอามาเทราสุโอมิคามิ อยู่ในบริเวณศาลเจ้าโคโนะจินจะ ในจังหวัดเกียวโต มีเทพหลักคือ 彦火明命 (ひこほあかりのみこと : Hikohoakari Nomikoto) ซึ่งเป็นหลานของเทพีอามาเทราสุโอมิคามิ
View this post on Instagram
ด้านบนนี้คือ Sessha ของศาลเจ้ามิทสึมิเนะจินจะ จังหวัดไซตามะ
โดยพื้นฐานแล้ว Sessha ถือว่ามีระดับอยู่เหนือกว่า Massha แต่เนื่องจากเงื่อนไขที่ว่าต้องขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเทพเป็นหลัก ทำให้ถึงแม้ว่าศาลเจ้ารองนั้นจะเป็นศาลของเทพีอามาเทราสุโอมิคามิ ผู้ครองตำแหน่งสูงสุดของเทพเจ้าทั้งหมดในญี่ปุ่น แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับเทพในศาลเจ้าหลัก ก็จะถือว่าเป็นเพียง Massha
อีกทั้ง ยังมีวิธีการแบ่งประเภทของศาลเจ้ารองตามพื้นที่ที่สร้างขึ้น หาก Sessha หรือ Massha นั้นถูกสร้างขึ้นในบริเวณศาลเจ้าหลัก จะเรียกว่า 境内社 (けいだいしゃ : Keidaisha) แต่หากสร้างขึ้นนอกบริเวณศาลเจ้าหลัก จะเรียกว่า 境外社 (けいがいしゃ : Keigaisha)
View this post on Instagram
ด้านบนนี้คือ Massha ของศาลเจ้าทะโดไทฉะ จังหวัดมิเอะ
View this post on Instagram
ด้านบนนี้คือ Massha ของศาลเจ้าอิวาโดะจินจะ จังหวัดมิยาซากิ
นอกจากนี้ ยังมีศาลเจ้ารองที่บูชาเทพองค์เดียวกันกับเทพของศาลเจ้าหลัก ซึ่งศาลเจ้าลักษณะนี้ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าเรียกว่า Massha แต่จริง ๆ แล้วจะเรียกว่า 分社 (ぶんしゃ : Bunsha)
อย่างไรก็ตาม ขนาดของศาลเจ้าไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูงส่งขององค์เทพ แต่ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือความสะดวกของผู้ที่สร้างศาล อาจจะด้วยด้านเศรษฐกิจหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจ และอื่น ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลเจ้าจะอยู่ในรูปแบบใด ความล้ำค่าสูงส่งของเทพเจ้าก็ยังคงเหมือนเดิม แม้ว่าศาลเจ้าจะได้รับการจัดอันดับ แต่นั่นก็เป็นเพียงการกำหนดไปตามความสะดวกของผู้คนเองเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น เทพีอามาเทราสุโอมิคามิที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าอิเสะกับเทพีอามาเทราสุโอมิคามิที่อยู่บนหิ้งในบ้านของคนญี่ปุ่นก็เป็นเทพเจ้าองค์เดียวกัน ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงไม่ลบหลู่หรือทำอะไรหยาบคายต่อองค์เทพ เปรียบเทียบง่าย ๆ กับบ้านเรานะคะ องค์พระที่ประดิษฐานในวัดกับองค์พระที่อยู่บนหิ้งพระ ยังไงคนไทยเราก็ยังให้ความเคารพความศรัทธาไม่ต่างกัน
ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่านอกจากศาลเจ้าหลักแล้ว ศาลเจ้ารองที่อยู่ในนั้นก็มีองค์เทพสถิตอยู่ มีหลายชื่อเรียกแถมยังแบ่งได้เป็นหลายแบบ หวังว่าทุกคนจะสนุกสนานกับการไปเที่ยวศาลเจ้ามากขึ้นนะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan