ต่อจากบทความที่แล้ว ที่เราได้แนะนำเกี่ยวกับ “ฤดูใบไม้ร่วงที่เจริญอาหาร” (食欲の秋) (คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่นี่) ถึงเหตุผลว่า เพราะอะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกเจริญอาหารเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งนอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่คนญี่ปุ่นจะนึกถึงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาเยือน จนเกิดเป็นสำนวนที่ว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่ง..” (〇〇の秋) เช่น ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่าน (読書の秋), ฤดูใบไม้ร่วงแห่งกีฬา (スポーツの秋)และ ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ (芸術の秋) ฯลฯ
โดยในบทความนี้ เราจะรวบรวม “กิจกรรมแห่งฤดูใบไม้ร่วง” ที่น่าสนใจของชาวญี่ปุ่น พร้อมอธิบายความหมายและที่มาว่าทำไมจึงควรทำกิจกรรมนี้ในฤดูใบไม้ร่วง ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างแล้ว ก็ตามไปดูกันเลยค่ะ!
ฤดูใบไม้ร่วงแห่งกีฬา (スポーツの秋)
เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่า งานแข่งขันกีฬาสีตามโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มักจัดการแข่งขันขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง เพราะเป็นฤดูที่มีอากาศไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไป จึงเหมาะแก่การเล่นกีฬาหรือจัดการแข่งขันกีฬา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสภาพอากาศที่เอื้อต่อการออกกำลังกายเท่านั้นนะ ยังมีเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสำนวน “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งกีฬา” (スポーツの秋, Sport no Aki) อีกอยู่
นั่นก็คือ การจัดการแข่งขัน “Tokyo Olympic 1964” ในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง “วันกีฬา” (体育の日, Taiiku no hi) ขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 1966 เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบการจัดการแข่งขันโอลิมปิก แต่ในปี 2000 ก็มีการเปลี่ยนกำหนดวันกีฬาเป็น “ทุกวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม” เนื่องจากมีกฎหมายจัดวัน “Happy Monday System” (ハッピーマンデー制度, Happy Monday Seido) เพื่อเพิ่มจำนวนวันหยุดราชการนั่นเอง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงวันกีฬาไปก็ตาม แต่เมื่อใดที่ฤดูใบไม้ร่วงมาเยือน ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพและการออกกำลังกายเสมอ
ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่าน (読書の秋)
สำนวน “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่าน” (読書の秋, Dokusho no Aki) มีที่มาจากโคลงกลอนที่เขียนโดยนักเขียนชาวจีน “ฮัน ยู” ที่ว่า “燈火 稍く親しむ可く” (Touka Youyaku Shitamubeku) ซึ่งมีความหมายว่า ค่ำคืนแห่งฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศเย็นสบายนั้นช่างเหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือใต้แสงเทียน
แรกเริ่มเดิมทีบทกลอนดังกล่าวเขียนโดยมีจุดประสงค์เพื่อสอนให้ลูกชายเห็นถึงความสำคัญของการเล่าเรียนอ่านหนังสือ แต่บทกลอนนี้กลายเป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่น และทำให้หลาย ๆ คนมองเห็นถึงความสำคัญของการอ่านมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นนั้น ช่วงกลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวันเพราะดวงอาทิตย์ตกเร็ว แถมยังมีอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป การใช้เวลาว่างโดยการนั่งอ่านหนังสือในฤดูใบไม้ร่วงจึงเป็นกิจกรรมยอดนิยมที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนึกถึง อีกทั้ง ในฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นจะมีอุณหภูมิราว 14-16 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ “สมองทำงานได้ดีที่สุด” จึงทำให้มีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย
ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ (芸術の秋)
“ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” (芸術の秋, Geijutsu no Aki) มีที่มาจาก “สภาพอากาศ” เช่นเดียวกับ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งกีฬา” และ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่าน” โดยมีการอธิบายเพิ่มเติมว่า ในฤดูใบไม้ร่วงที่สภาพอากาศเย็นสบาย ผู้คนจะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าอากาศจะร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดน้อยลง ทำให้สมองและหัวใจไม่ต้องแบกรับเรื่องเครียด ๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การชื่นชมผลงานศิลปะ
โดยสำนวน “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” ( 芸術の秋) มีที่มาจากนิตยสารรายสัปดาห์ “Shincho” (新潮) ที่ตีพิมพ์หัวข้อเกี่ยวกับ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1918 ทำให้สำนวนนี้เป็นที่พูดถึงและถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็แทบจะกลายเป็นศิลปะ เช่น ศิลปะจากการเปลี่ยนสีของต้นไม้ต่าง ๆ ศิลปะจากการตกแต่งเมนูอาหารตามฤดูกาล ไปจนถึงการตกแต่งเมืองด้วยไฟประดับเพื่อต้อนรับเทศกาลรื่นเริงในช่วงสิ้นปี โดยนอกจาก “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” (芸術の秋) ก็ยังมีสำนวนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะความบันเทิงอีก เช่น “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” (美術の秋, Bijutsu no Aki) และ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งดนตรี” (音楽の秋, Ongaku no Aki)
ในปัจจุบัน มีสำนวน “ฤดูใบไม้ร่วงแห่ง…” (〇〇の秋) เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการนอนหลับ” (睡眠の秋, Suimin no Aki), “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งต้นไม้ผลัดใบ” (紅葉の秋 Kouyou no Aki), “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการทำงานอดิเรก” (趣味の秋 Shumi no Aki), “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการท่องเที่ยว” (行楽の秋 Kouraku no Aki) และ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการแต่งตัวตามแฟชั่น” (ファッションの秋, Fashion no Aki) ฯลฯ โดยกิจกรรมแทบทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับ “สภาพอากาศ” ในฤดูใบไม้ร่วงทั้งสิ้น และเป็นฤดูกาลที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองไปเที่ยวดื่มด่ำบรรยากาศชิล ๆ ในญี่ปุ่นดูสักครั้งด้วย!
สรุปเนื้อหาจาก: i879