เมื่อพลิกดูหนังสือรวมนิทานพื้นบ้านของเกาะมิยาโกะ (宮古島) จังหวัดโอกินาวา (沖縄県) และพบเรื่องเล่าที่คล้ายกันกับนิทานตะวันตกที่เรารู้จักดีแล้ว เป็นใครก็คงสงสัยว่านิทานที่เรารู้จักดีมาลงเอยในเกาะที่สันโดษแบบนี้ได้อย่างไร ซึ่งวันนี้ ANNGLE มีเกมเล็กๆ น้อยๆ มาให้เพื่อนได้ลองทายกันว่านิทานสองเรื่องต่อไปนี้มีต้นแบบมาจากนิทานเรื่องใด แน่นอนค่ะว่าคำใบ้อยู่ในหัวข้อคอลัมน์นี้ค่ะ
ยักษ์ยายเฒ่ากามาคุ (ガマク婆さんは鬼)
นานมาแล้วมีเด็กชายคนหนึ่งกำลังเดินทางข้ามเขาเพื่อนำหัวไชเท้าไปขาย ระหว่างทางมีหญิงชราร่างยักษ์มาขวางทางไว้ หญิงชรานั่นคือยักษ์ยายเฒ่ากามาคุที่เป็นที่หวาดกลัวของชาวเกาะ ยายเฒ่าแสยะยิ้มเมื่อเห็นเด็กชาย นางสั่งให้เด็กชายส่งหัวไชเท้าทั้งหมดมาให้นางกิน เด็กชายทำตามด้วยความหวาดกลัว ยายเฒ่าเขมือบหัวไชเท้าหมดอย่างรวดเร็วแต่นางยังไม่อิ่ม นางจึงจับม้าของเด็กชายมากินต่อแต่นั่นก็ยังไม่พอ นางจึงหันมาจะกินเด็กชายแต่เด็กชายหนีไปก่อนแล้วด้วยความกลัว
เด็กชายวิ่งหนีลึกเข้าไปในภูเขาจนพบกับบ้านหลังใหญ่สองชั้น เขาเข้าไปซ่อนในห้องชั้นสองโดยไม่รู้เลยว่าที่จริงแล้วบ้านหลังนั้นเป็นของยายเฒ่ากามาคุ เมื่อยายเฒ่าตามหาเด็กชายไม่เจอนางจึงกลับมาที่บ้านด้วยความเหนื่อย เด็กชายแอบอยู่ด้วยความกลัวและไม่กล้าส่งเสียง เขาได้ยินเสียงยายเฒ่าพึมพำกับตัวเองว่าคืนนี้จะนอนที่ห้องนอนหรือจะนอนในหม้อดี สุดท้ายนางตัดสินใจลงไปนอนในหม้อ เมื่อมั่นใจว่ายายเฒ่าหลับไปแล้ว เด็กชายจึงย่องออกมาจากที่ซ่อน นำหินมาทับฝาหม้อไว้แล้วจุดไฟเผาให้ยายเฒ่าในหม้อถึงแก่ความตาย
หงส์ 13 ตัว (十三羽の白鳥)
เด็กหญิงนึกสงสัยมาตลอดว่าทำไมในบ้านของตนจึงมีกิโมโนตั้ง 12 ชุด เมื่อถามแม่ของตนดู แม่จึงเล่าความจริงว่าเด็กหญิงมีพี่ชายถึง 12 คน แต่พ่อกลับอยากได้ลูกสาวจนถึงขั้นเอ่ยปากว่าหากครั้งนี้ได้ลูกสาว จะจับลูกชายทั้ง 12 คนถ่วงทะเล เมื่อเด็กหญิงเกิดมา พี่ชายทั้งหมดจึงหนีเข้าไปในป่าและทุกวันนี้คงอาศัยอยู่ที่ไหนสักแห่งในภูเขานั่น เด็กหญิงที่ได้ยินเรื่องทั้งหมดจึงเดินทางเข้าป่าเพื่อตามหาพี่ชาย จนสุดท้ายจึงพบกับหงส์ 12 ตัว เด็กหญิงรู้ในทันทีว่าหงส์พวกนี้คือพี่ชายของตนและขอร้องให้พี่ชายยอมให้ตนอาศัยอยู่ด้วยเพราะตนไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ที่พร้อมจะทอดทิ้งลูกของตัวเอง ได้ยินดังนั้นพวกหงส์จึงให้เงื่อนไขว่าหากเด็กหญิงไม่ปริปากเอ่ยอะไรทั้งสิ้นเป็นเวลา 12 ปี เด็กหญิงจะสามารถกลายเป็นหงส์ได้ ได้ยินดังนั้นเด็กหญิงจึงตกลงและพักอยู่กับพี่ชายในภูเขา อย่างไรก็ตาม หัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ยินเรื่องของเด็กหญิงผู้เป็นใบ้จึงสั่งให้คนใช้นำตัวเด็กหญิงมา เด็กหญิงเดินตามคนใช้มาเงียบ ๆ โดยมีหงส์บินตามเฝ้าดูอยู่ไม่ห่าง แต่นอกจากหงส์ก็มีนกกระทาตัวหนึ่งบินอยู่ด้วย นกตัวนั้นส่งเสียงหนวกหูจนคนใช้ยิงมันตกลงมา เด็กหญิงเห็นดังนั้นจึงหลุดปากพูดว่า “เจ้านกโง่เอ๊ย ถ้าอยู่เงียบ ๆ ก็คงไม่ถูกยิงตกลงมาแบบนี้หรอก” คนใช้จึงรู้ว่าเด็กหญิงที่จริงแล้วไม่ได้เป็นใบ้แต่อย่างใดและนำตัวไปหาหัวหน้าหมู่บ้าน หลังจากที่หัวหน้าหมู่บ้านถามไถ่เรื่องราวทั้งหมดจากเด็กหญิงจึงตัดสินใจปล่อยเด็กหญิงให้กลับไปอาศัยอยู่กับหงส์ และ 12 ปีต่อมา ก็มีหงส์เพิ่มมาอีกตัวหนึ่งในฝูงหงส์ที่บินอยู่บนฟ้า กลายเป็นฝูงหงส์ 13 ตัว
เฉลย
และแล้วก็ถึงเวลาเฉลยกันค่ะ จากเนื้อเรื่องที่เด็กเผายักษ์ตายในหม้อของนิทานยักษ์ยายเฒ่ากามาคุเพื่อน ๆ ก็คงจะเดาได้ว่าเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากฮันเซลและเกรเทล (Hansel and Gretel) ของพี่น้องกริมม์ที่เป็นชาวเยอรมัน และพี่ชายที่กลายเป็นหงส์กับน้องสาวในเรื่องหงส์ 13 ตัวก็มีเค้าโครงมาจากเรื่องหงส์ 6 ตัว (The Six Swans) ของพี่น้องกริมม์ค่ะ ซึ่งเรื่องหงส์นี้ก็ยังเป็นที่รู้จักในนามเรื่องหงส์ป่า (The Wild Swans) ในหนังสือของแอนเดอร์เซนที่เป็นชาวเดนมาร์กอีกด้วยค่ะ แม้เนื้อเรื่องและรายละเอียดจะถูกดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของเกาะมิยาโกะบ้าง เช่นจากแม่มดในฮันเซลและเกรเทลเป็นยักษ์ยายเฒ่าเนื่องจากวัฒนธรรมมิยาโกะไม่มีแนวคิดเรื่องแม่มด เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาจุดสำคัญในเนื้อเรื่องแล้ว ก็สามารถเห็นเค้าโครงเดียวกันของเรื่องได้ค่ะ
นิทานเยอรมันที่มาพร้อมกับเรือและไต้ฝุ่น
เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมมิยาโกะที่อยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรริวกิว (琉球王国) บนเกาะโอกินาวาจึงมีนิทานเยอรมันอยู่ในขณะที่เกาะโอกินาวาไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งคำตอบนั้นอยู่ที่เหตุการณ์เรืออาร์ เจ โรเบิร์ตสัน (R.J. Robertson) มาล่มที่นอกชายฝั่งเกาะมิยาโกะในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1873 ค่ะ โดยเรือเยอรมันที่กำลังจะมุ่งหน้าไปออสเตรเลียถูกพายุไต้ฝุ่นพัดให้ล่มลง อย่างไรก็ตาม ลูกเรือทั้งหมดถูกชาวเกาะมิยาโกะช่วยไว้และกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาะมิยาโกะและเยอรมณี ซึ่งนอกจากปราสาทเยอรมันและอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว อีกหนึ่งหลักฐานความสัมพันธ์ก็ยังปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องเล่าที่ชาวเกาะมิยาโกะได้รับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าของตัวเองอีกด้วย นับเป็นเรื่องเล่าที่เล่าเรื่องของเกาะเล็ก ๆ ในทะเลตะวันออกกับชาติตะวันตกที่ซ่อนอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
佐渡山安公 (1994) 『みやこのみんわ』かたりべ出版
Carpenter, H., Prichard, M. (1984). The Oxford companion to children’s literature. Oxford: Oxford University Press.
miyako.ryukyu