“ไซโต้” (Saitou) เป็นนามสกุลยอดฮิตที่มีชาวญี่ปุ่นใช้มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งนามสกุล “ไซโต้” สามารถเขียนเป็นอักษรคันจิได้ไม่ต่ำกว่า 31 แบบ โดยอักษรคันจิที่พบเห็นได้บ่อย ๆ จะมี 4 แบบ ได้แก่ “斎藤”, “斉藤”, “齋藤” และ “齊藤” เมื่อ “ไซโต้” เป็นนามสกุลที่มีคนใช้เยอะและสามารถเขียนได้หลายแบบ ทำให้คนญี่ปุ่นต้องเจอกับคำถามเวลาไปติดต่อธุระต่าง ๆ ว่า “คุณไซโต้ไหนคะ?”, “คุณไซโต้ที่นามสกุลสะกดแบบไหนคะ?” ฯลฯ อยู่เสมอ
ที่มาของนามสกุล “ไซโต้”
ที่มาของ “ไซโต้” มาจากขุนนางตระกูลฟุจิวะระ (藤原氏) ชื่อ โนบุโมจิ (藤原叙用) เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยราชการผู้ดูแลระบบกฎหมายโบราณของญี่ปุ่น “ไซกูเรียว” (斎宮寮)ในเขตพื้นที่ใกล้ ๆ กับศาลเจ้าอิเซะช่วงยุคเฮอัน ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกตำแหน่งนี้ว่า “ไซกูเรียว โนะ ฟูจิวาระ” (斎宮寮の藤原) โดยขุนนางผู้นี้ก็ได้แต่งตั้งนามสกุลของตนขึ้นใหม่ว่า “斎藤” อ่านว่า ไซโต้ โดยการนำเอาอักษรต้นของทั้งสองคำมารวมกัน
หลังเข้าสู่ยุคเมจิ ประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคนจะต้องแจ้งนามสกุลโดยยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ราชการตามกฎหมาย ซึ่งประชาชนต้องแจ้งนามสกุลด้วยปากเปล่า และไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ราชการในยุคนั้นจะอ่านออกเขียนได้กันทุกคน ทำให้การแจ้งนามสกุล “ไซโต้” ที่อาจเขียนด้วยคันจิ “斎藤” กลายเป็น “斉藤” และเกิดการเขียนอักษรผิดเพี้ยนเป็น “齋藤”, “齊藤” ฯลฯ ตั้งแต่นั้นมา
อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นก็มีประชาชนชาวญี่ปุ่นที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่จำนวนมากเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าอักษรคันจินามสกุลของตนนั้นเขียนถูกต้องหรือไม่ และถูกลงทะเบียนนามสกุลโดยอาจเขียนผิดทั้งแบบนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
สรุปเนื้อหาจาก : gaku-sha