อนิเมะเรื่อง Hanyou no Yasha Hime เป็นเรื่องราวภาคต่อของการ์ตูนสุดคลาสสิคอย่าง Inuyasha หรือ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน โดยเล่าเรื่องการผจญภัยและเติบโตไปด้วยกันของ โมโรฮะ ลูกสาวของอินุยาฉะ โทวะและเซ็ตสึนะ ลูกสาวฝาแฝดของเซ็ตโชมารุ อนิเมะเรื่องนี้เริ่มฉายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2563 และเพิ่งจบซีซั่น 1 ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งก็มีข่าวดีออกมาพร้อม ๆ กันว่าจะสร้างซีซั่น 2 ต่อ เด็กสาวทั้ง 3 คนในเรื่องต่างมีอาวุธคู่กายไว้ใช้ปราบอสูร โดยในส่วนของเซ็ตสึนะเป็น “นางินาตะ” (薙刀) หรืออาวุธด้ามยาวมีใบมีดตรงปลาย คล้ายหอกของไทย วันนี้เราไปรู้จักประวัติความเป็นมาของนางินาตะกันค่ะ
นางินาตะในประวัติศาสตร์

ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของนางินาตะมาจากอาวุธโบราณสมัยนาราที่เรียกว่า เทะโบะโกะ (手鉾) ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่โชโซอิน (正倉院) สถานที่เก็บสมบัติโบราณล้ำค่าในวัดโทไดจิ เมืองนารา ต่อมาในสมัยเฮอันและคามาคุระ ได้มีการพัฒนาอาวุธจนรูปร่างกลายเป็นนางินาตะในปัจจุบัน ในสมัยนี้การต่อสู้เป็นแบบตัวต่อตัว ซึ่งเหมาะกับการใช้นางินาตะที่สามารถทำร้ายคู่ต่อสู้ได้ในระยะที่ไกลกว่าดาบ สามารถฟัน กระทุ้ง และตีด้วยด้ามได้
View this post on Instagram
ในเวลาต่อมา ยุทธวิธีการต่อสู้เปลี่ยนไปเป็นแบบหมู่ ทำให้นางินาตะหมดความสำคัญไป โดยมียาริ (槍) หรือหอกเข้ามาแทนที่ เพราะว่าการฟันด้วยนางินาตะนั้นต้องมีการวาดแขนจึงใช้พื้นที่มาก ผิดกับยาริที่เพียงแทงไปข้างหน้าก็ทำร้ายคู่ต่อสู้ได้แล้ว นักรบจึงสามารถเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนได้โดยไม่มีช่องโหว่ นอกจากนี้ การใช้ยาริไม่ต้องใช้ทักษะและการฝึกฝนเยอะเหมือนกับนางินาตะอีกด้วย จนยุคสมัยแห่งสงครามได้จบลง ในสมัยเมจินางินาตะได้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณชนิดหนึ่ง โดยเรียกว่า นางินาตะจุตสึ (薙刀術) และแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
นางินาตะ อาวุธที่เหมาะสำหรับผู้หญิง
View this post on Instagram
ตั้งแต่สมัยเอโดะเป็นต้นมา นางินาตะกลายเป็นอาวุธยอดนิยมที่ผู้หญิงมักฝึกกัน เพราะว่าเป็นอาวุธที่สามารถทำร้ายคู่ต่อสู้ได้แม้จะใช้แรงไม่มากนั่นเอง เพียงแค่วาดนางินาตะขึ้นแล้วฟันลงมาก็จะมีแรงจากการเหวี่ยงและแรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วยเพิ่มแรงปะทะเข้าไปอีก ถึงแม้จะเป็นผู้หญิง แต่ถ้าฝึกฝนอย่างช่ำชองละก็ สามารถใช้ออกรบได้ไม่แพ้ผู้ชายเลยล่ะค่ะ
นางินาตะในปัจจุบัน
View this post on Instagram
ในปัจจุบันนางินาตะเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีการแข่งขัน เหมือนกับเคนโด โดยจะมีการแข่งขัน 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ การแข่งด้านต่อสู้ และการแข่งด้านแสดงทักษะ การแข่งด้านต่อสู้นั้น ผู้แข่งขันทั้งสองคนจะต้องพยายามตีหน้า ข้อมือ ลำตัว หน้าแข้ง หรือลำคอ ให้ได้ภายใน 3 นาที ใครตีได้สามจุดหรือสองจุดติดกันก่อนถือว่าชนะ การแข่งด้านต่อสู้นี้มีทั้งการแข่งแบบตัวต่อตัว และการแข่งแบบทีม สำหรับการแข่งด้านแสดงทักษะ จะให้แต่ละทีมส่งผู้เข้าแข่งขัน 2 คนมาแสดงทักษะท่าทาง การฟันแบบรับส่งกันตามที่กติกากำหนด แล้วดูว่าทีมไหนมีท่าทาง การออกเสียงที่ดี และการหายใจที่สอดคล้องมากกว่ากัน
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจอยากจะฝึกนางินาตะตามลูกสาวของเซ็ตโชมารุกันดูบ้าง ในประเทศไทยก็มีศูนย์ฝึกสอนด้วยนะคะ ลองหาข้อมูลและเลือกที่สะดวกได้เลยค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก : rinto
ผู้เขียน : monaka