เมื่อต้องกล่าวบ๊ายบายปี 2021 และเตรียมตัวต้อนรับปี 2022 ก็มีสิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมเนียมดั้งเดิมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่หรือ ส.ค.ส. ผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นหรือทำงานกับคนญี่ปุ่นอยู่อาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนญี่ปุ่นเองก็นิยมการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ด้วยเหมือนกันใช่ไหมคะ
แต่ทราบกันไหมคะว่าการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ของคนญี่ปุ่นนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง? ควรส่งให้เมื่อใด? แล้วทำแบบไหนจึงเรียกว่าเสียมารยาท? บางครั้งก็อาจมีบางจุดที่เราละเลยไปโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อจะได้ปฏิบัติกันได้อย่างถูกต้องและสร้างความประทับใจต่อกันได้ไปอีกนานๆ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ที่นี่แล้ว
ควรส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ให้เมื่อใด?
การ์ดอวยพรปีใหม่ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าเน็งกะโจ (年賀状) สำหรับการส่งการ์ดอวยพรทางไปรษณีย์นั้น เพื่อให้ถึงมือผู้รับวันปีใหม่พอดิบพอดีควรนำการ์ดอวยพรหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ภายในวันที่ 25 ธันวาคมค่ะ หรืออย่างช้าที่สุดไม่ควรเกินวันที่ 7 มกราคม แต่ทางที่ดีควรเตรียมการให้ส่งถึงผู้รับภายในวันที่ 3 มกราคมจะดีที่สุด หากไม่แน่ใจสามารถสอบถามกับทางไปรษณีย์ก่อนได้ค่ะ
ข้อควรระวังคือ บนการ์ดอวยพรปีใหม่จะมีตัวหนังสือ “年賀” เขียนเอาไว้อยู่ หากเราต้องการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่แต่เลือกซื้อผิดไปหยิบโปสการ์ดธรรมดามาแทน ต่อให้หย่อนลงตู้ไวแค่ไหนก็จะถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นรองจากการ์ดอวยพรปีใหม่ กลายเป็นถูกส่งช้ากว่ากำหนด และหากผู้รับได้รับหลังจากช่วงปีใหม่ไปแล้วก็อาจเป็นการเสียมารยาทได้
ควรเขียนอะไรบ้าง?
การเขียนการ์ดปีใหม่จะมีองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้
- กล่าวทักทายและอวยพรปีใหม่ให้กับผู้รับ
- แสดงความรู้สึกขอบคุณสำหรับปีที่ผ่านมา และฝากเนื้อฝากตัวในปีถัดไป
- เขียนข้อความสื่อถึงความรู้สึกโดยเขียนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า
- คำพูดเพื่ออวยพรให้ผู้รับมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความสุข
- ปี (ตามยุคสมัยของญี่ปุ่น), วันที่ เป็นต้น
ประโยคตัวอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่นตามลำดับ
- 謹んで新年のお慶びを申し上げます
- 昨年中は大変お世話になり ありがとうございました
- 家族一同元気に正月を迎えております
- 皆様のご健康とご多幸と心よりお祈り申し上げます
- 令和○年元旦
ประโยคทักทายไม่ต้องเว้นวรรค
เดิมทีคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการเขียนด้วยพู่กัน ลักษณะคือเป็นการตวัดพู่กันขึ้นลงและปลายตัวอักษรแต่ละตัวจะเชื่อมต่อกัน จึงจะไม่มีการเว้นวรรคใดๆ ค่ะ อีกอย่างคือตามหลักภาษาทางการของญี่ปุ่นนั้น ในการเขียนประโยคคำอวยพรต่างๆ จะไม่มีการแบ่งวรรคประโยค ดังนั้นจะไม่ใส่เครื่องหมาย「、」「。」 ซึ่งการเขียนประโยคหนึ่งให้จบแล้วขึ้นบรรทัดใหม่ก็จะทำให้อ่านง่ายด้วย
เลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่เป็นมงคล
การเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่เป็นการส่งต่อความรู้สึกในทางที่ดีให้แก่กัน ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องเขียนแต่สิ่งที่ดีๆ ให้กับผู้รับ และยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอีกด้วย ดังนั้นควรเลี่ยงการใช้คำที่สื่อไปในเชิงลบ หรือคำที่สื่อเป็นลางไม่ดีจะดีที่สุดค่ะ
ตัวอย่างคำที่ควรเลี่ยงสำหรับการเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่มีดังนี้
去年(ปีที่แล้ว), 終わる(สิ้นสุด), 衰える(เสื่อมถอย, สุดโทรม), 切れる(ตัดขาด), 落ちる(การตก, ร่วงหล่น), 離れる(แยกจาก), 病む(การเจ็บป่วย), 消える(หายไป), 枯れる(แห้งเหี่ยว, เฉาตาย), 苦しむ(ความลำบาก), 壊れる(เสียหาย, พัง), 崩れる(สลาย), 倒れる(ล้ม, ล่มสลาย), 失う(สูญเสีย), 滅びる(ล่มสลาย, ย่อยยับ) เป็นต้นค่ะ
*คำว่า 去年(kyonen) หมายถึง “ปีที่แล้ว” บางคนอาจสงสัยใช่ไหมคะว่าทำไมถึงใช้ไม่ได้ ความจริงแล้วปัญหาอยู่ที่คันจิ 「去」ค่ะเพราะมีความหมายจากคำว่า 去る(saru) หมายถึง การจากไป ซึ่งเหมือนเป็นลางบอกเหตุไม่ดีจึงไม่ควรใช้ดีกว่า หากต้องการใช้คำที่สื่อถึง “ปีที่แล้ว” ให้เลือกใช้คำว่า 昨年(sakunen) หรือ 旧年(kyunen) จะดีกว่าค่ะ
การเลือกเขียนคำทักทาย
บนการ์ดอวยพรปีใหม่แบบญี่ปุ่นนั้นมักจะมีคำทักทายนำหน้าเขียนตั้งต้นมาเอาไว้ให้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นในการเลือกการ์ดอวยพรเราควรเลือกคำที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ และควรคำนึงถึงความเหมาะตามอายุของคนที่เราจะส่งให้ด้วย เริ่มจากคำทักทายที่ขึ้นด้วยอักษรคันจิ 1 หรือ 2 ตัว สามารถส่งให้กับคนวัยเดียวกันหรืออ่อนกว่าได้ค่ะ
คันจิ 1 ตัว
・寿:めでたい (น่ายินดี)
・福:幸せ (ความสุข)
・賀:喜び祝う (อวยพรให้ประสบกับความสุข)
・春:新年、年の初め (ปีใหม่, การเริ่มปีใหม่)
คันจิ 2 ตัว
・賀正:正月を祝う (อวยพรปีใหม่)
・賀春:新年を祝う(อวยพรปีใหม่)
・頌春:新年をたたえる(กล่าวทักทายสำหรับปีใหม่)
・春:新年、年の初め (ปีใหม่, การเริ่มปีใหม่)
・慶春:新年をよろこぶたたえる (กล่าวยินดีในวันปีใหม่)
・寿春:新年を祝う (อวยพรปีใหม่)
・初春:新しい年、年の初め (ปีใหม่, การเริ่มปีใหม่)
・新春:新しい年 (ปีใหม่)
การส่งการ์ดอวยพรให้ผู้อาวุโสควรเลือกใช้คำทักทายที่มีอักษรคันจิ 4 ตัวขึ้นไปเพื่อความสุภาพค่ะ
คันจิ 4 ตัว
・謹賀新年:謹んで新年をお祝い申し上げます (สวัสดีปีใหม่)
・恭賀新年:うやうやしく新年をお祝い申し上げます (ขอแสดงความนับถือ และสวัสดีปีใหม่)
ไม่ใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อน
เช่น คำว่า 元旦 (gantan) ที่มีความหมายว่า “วันปีใหม่” นั้น มีความหมายถึงเช้าวันที่ 1 มกราคมอยู่แล้ว หากเขียนวันที่ด้วย 令和4年1月元旦 (reiwa 4 nen 1 gatsu gantan) จึงเป็นวิธีเขียนที่ผิดเพราะมีความหมายที่ซ้ำซ้อน ที่ถูกต้องให้เขียนว่า 令和4年元旦 (reiwa 4 nen gantan) ก็พอค่ะ
และส่วนตัวที่เคยโดนเซนเซเตือนก็คือการใช้คำว่า 新年 (shinnen) กับคำว่า あけまして (akemashite) ไว้ด้วยกัน เช่น 新年あけましておめでとうございます เพราะทั้ง 2 คำมีความหมายว่าปีใหม่เหมือนกัน การใช้ร่วมกันจึงเป็นการใช้คำที่ซ้ำซ้อนเช่นกัน ดังนั้นที่ถูกต้องคือ 新年おめでとうございます หรือ あけましておめでとうございます ค่ะ
กฎการเขียนที่อยู่บนการ์ดอวยพรปีใหม่
การเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่สามารถเขียนได้ทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน กรณีที่จะส่งให้กับหัวหน้าหรือเจ้านาย การเขียนแบบแนวตั้งจะแสดงความเป็นทางการได้ดีกว่าค่ะ ซึ่งด้านที่ต้องเขียนที่อยู่ผู้รับก็ต้องเป็นแนวตั้งด้วยเช่นกัน
ที่อยู่
การเขียนในแนวตั้งจะเป็นการอ่านจากขวาไปซ้าย ลำดับแรกเป็นการเขียนที่อยู่ดังนั้นจึงอยู่ทางด้านขวาสุดค่ะ ซึ่งตามมารยาทแล้วจะต้องเริ่มเขียนตั้งแต่จังหวัดเลย และชื่ออพาร์ตเม้นต์ต่างๆ ก็ควรเขียนรูปแบบเต็ม ไม่ควรเขียนย่อ
การเขียนตัวเลข
ควรใช้อักษรคันจิแทนการเขียนตัวเลข
ตำแหน่ง
ตำแหน่งนำหน้าชื่อของผู้รับควรเขียนให้เล็กกว่าชื่อเล็กน้อย แต่ควรเขียนให้ตรงกับชื่อ
การเขียนคำเรียกต่อท้ายชื่อ
ควรเขียนคำลงท้ายชื่อด้วย 様 (sama) ที่แปลว่าคุณ หรือท่าน ต่อท้ายชื่อสำหรับบุคคลทั่วไป
ส่วนผู้ที่เป็น อาจารย์, แพทย์, ทนาย, นักบัญชี ให้เขียนต่อท้ายว่า 先生 (sensei)
ชื่อที่อยู่ผู้ส่ง
สามารถเขียนไว้ท้ายสุด (ซ้ายมือ) โดยระยะในการเขียนให้อยู่ในระยะเดียวกับช่องใส่รหัสไปรษณีย์
ปากกาที่ใช้เขียน
แนะนำว่าควรใช้ปากกาแบบพู่กันหรือปากกาหมึกซึม
สี
โดยทั่วไปควรใช้สีดำ แต่ก็สามารถใช้สีน้ำเงินได้ แต่ไม่ควรใช้หมึกที่มีสีอ่อน (สีเทา, หมึกสีดำจาง) เพราะปกติมักใช้สำหรับการเขียนเพื่อแสดงความเสียใจ เช่น งานศพ เป็นต้น และไม่ควรเขียนขอบสีดำเพื่อเน้นรูปภาพให้เห็นชัดเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้นึกถึงกรอบรูปในงานศพได้ค่ะ
พยายามอย่าเขียนผิด!
การใช้เทปหรือน้ำยาลบคำผิดในการเขียนการ์ดอวยพรหรือจดหมายที่มีความสำคัญถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาท ไม่ว่าการเขียนด้วยลายมือหรือการพิมพ์ก็ตาม หากหมึกพิมพ์มีปัญหาทำให้มีตำหนิก็เป็นการเสียมารยาทได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเขียนผิด ควรเริ่มเขียนบนการ์ดใบใหม่แทนค่ะ
ในกรณีที่เขียนผิด หากเป็นโปสการ์ดที่เราซื้อกับทางที่ทำการไปรษณีย์แล้วได้ชำระค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ จะสามารถขอแลกโปสการ์ดกับสแตมป์ใหม่ได้ แต่ถ้าสแตมป์เสียหาย หรือเป็นโปสการ์ดที่ถูกตีกลับเพราะเขียนชื่อที่อยู่ไม่ชัดเจนจะไม่สามารถขอเปลี่ยนได้ค่ะ
มารยาทในการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่สำหรับธุรกิจ
ในระดับบริษัทหรือการดำเนินธุรกิจร่วมกันนั้น มักเป็นความสัมพันธ์ในระยะยาว ดังนั้นการส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ให้กับบริษัทคู่ค้าถือว่าเป็นมารยาทที่ควรปฏิบัติเพื่อสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งโดยปกติควรส่งให้ถึงในวันปีใหม่ หรือช้าที่สุดควรส่งให้ถึงในวันเริ่มงานหลังปีใหม่เลย ดังนั้นจึงควรเตรียมการล่วงหน้าค่ะ
สิ่งที่ควรระมัดระวังคือความถูกต้องของเนื้อหา, ชื่อและที่อยู่, ตำแหน่งต่างๆ และควรเขียนให้กระชับแต่แสดงความใส่ใจ และควรเขียนด้วยลายมือค่ะ
แม้ในยุคปัจจุบันจะเป็นยุคแห่งโลกดิจิทัล ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามสามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกเมื่อและทุกที่ที่ต้องการ จึงอาจทำให้การส่งข้อความทักทายอวยพรวันปีใหม่แพร่หลายกว่าการส่งการ์ดอวยพรแบบเดิมๆ แต่ความคลาสสิกของโปสการ์ดที่เป็นตัวช่วยส่งต่อความรู้สึกถึงผู้รับนั้นจะมีมากกว่าข้อความทางโซเชียลอย่างแน่นอนค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: nenga.fumiiro.jp, ptl.imagegateway