ใช่ค่ะ พิธีแต่งงานอาจจะไม่ได้เต็มไปด้วยความสนุกสนานเสมอไป อย่างน้อยก็สำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวในโอกินาว่า สมัยก่อนสงครามโลก ส่วนความพีคนี้มีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูประเพณีแต่งงานในอดีตของโอกินาว่ากันค่ะ
“โดโดอิ” ประเพณีแกล้งลูกเขยของเกาะโอกินาวา
แม้ที่มาจะยังเป็นปริศนา แต่ “โดโดอิ (ドウドイ)” หรือประเพณีแกล้งลูกเขย (婿いじめ) ของโอกินาว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีของชนชั้นขุนนางที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบันในเมืองนาโกะ (名護市) ของเกาะโอกินาว่า (沖縄本島)
ขั้นแรกของประเพณีนี้จะเริ่มจากการแห่เจ้าบ่าวไปยังบ้านของเจ้าสาวบนม้าไม้ที่ทำง่าย ๆ จากไม้ไผ่ท่อนเดียว การแกล้งเริ่มจากตรงนี้ค่ะ เพราะในระหว่างที่ผู้ร่วมขบวนจะตะโกนว่า “โดโดอิ” และตีกลอง เจ้าบ่าวจะถูกคนแห่ม้าไม้โยนและโยกให้เจ็บตัว ซึ่งในอดีตมีบ้างที่บันทึกว่ามีการอนุญาตให้ผู้ร่วมงานปาหินใส่เจ้าบ่าวด้วย ยิ่งเป็นในกลุ่มขุนนางและในวังแล้วยิ่งเล่นแรงถึงขั้นมีเจ้าบ่าวเสียชีวิตก็มี เมื่อเดินทางไปถึง เจ้าบ่าวจะถูกต้อนรับด้วยสำรับอาหารอย่างดี (?) ซึ่งประกอบด้วยตะเกียบที่ทำจากฟาง ชามอาหารที่มีตั๊กแตนและกบ และเหล้าที่มีพริกผสมอยู่
แต่ทำไมต้องแกล้งเจ้าบ่าวด้วย? นี่คงเป็นคำถามที่ทุกคนสงสัย นักคติชนวิทยาคาดว่าคำตอบอยู่ที่ความเชื่อในเรื่องเล่าของเทพโอคุนินุชิโนะมิโกโกตะ (大国主命) ซึ่งต้องผ่านความยากลำบากกว่าจะได้เจ้าสาวของตนมา โดยเรื่องเล่านี้ถูกนำมาใช้อ้างอิงในประเพณีแกล้งลูกเขยที่เดิมมีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าบ่าวผ่านการทดสอบนานาประการเพื่อให้มีความอดทนและสามารถมีความสุขในชีวิตแต่งงานได้ยันแก่เฒ่า แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันจุดประสงค์ดังกล่าวจะถูกลืมและเหลือเพียงรูปแบบพิธีเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
เพื่อน ๆ ที่สนใจชมประเพณีโดโดอิก็สามารถชมได้ที่เมืองนาโกะในทุก ๆ เดือนมกราคมของทุกปี โดยปัจจุบันพิธีนี้มีไว้เพื่ออวยพรให้หัวหน้าครอบครัวมีครอบครัวที่สมบูรณ์พูนสุขแทน สำหรับบรรยากาศของงานนั้นลองไปดูภาพของปีก่อน ๆ จากสำนักข่าวริวกิวชิมโปะ (琉球新報) กัน
“นีบิจิ” ประเพณีเจ้าสาววิ่งหนีของเกาะคุดากะจิมะ
“เป็นเจ้าสาวต้องอึดถึกทน วิ่งวนรอบเกาะต้องไม่ตาย” ประโยคนี้คงใช้ได้กับเจ้าสาวของเกาะคุดากะจิมะ (久高島) ที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะโอกินาว่า
บนเกาะนี้มีประเพณีหนึ่งในการแต่งงาน นั่นคือนีบิจิ (ニービチ) ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เนะบิคิ” ซึ่งแปลว่า “ถอนรากถอนโคน (根引き)” ที่มาของชื่อนั้นเพื่อน ๆ ก็คงจะเดาได้ค่ะ เพราะที่เกาะนี้เปรียบการที่เจ้าสาวต้องแต่งออกจากบ้านว่าเป็นการต้องออกจากบ้านที่เป็นรากเหง้าของตนเอง คล้ายกับต้นไม้ที่ถูกถอนรากถอนโคนออกไป ในส่วนของรายละเอียดนั้น ฮิงะ ยาสุโอะ (比嘉康雄, 2000) ได้เขียนไว้ในหนังสือดังนี้
“ในเย็นวันงาน ทางเจ้าบ่าวจะเดินทางมายังบ้านของเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวที่พักอยู่ที่บ้านเพื่อนตั้งแต่เมื่อสามวันก่อนวันงานก็จะเดินทางกลับมาที่บ้านตัวเอง โดยมีเพื่อนเจ้าสาวกว่าสิบคนล้อมไว้เพื่อร่วมพิธีมงคลสมรส ในพิธีจะมีการแลกจอกน้ำและเจ้าบ่าวจะหยิบก้อนข้าวโอนิกิริแล้วตะโกนเสียงดังว่า “อะเนเฮีย (アネーヒャー)” ที่แปลได้ทำนองว่าขอบคุณสวรรค์ก่อนจะกินข้าวก้อนนั้นเป็นอันจบพิธีงาน หลังจากนั้นเจ้าสาวพร้อมเพื่อนจะไปอยู่ที่บ้านของเพื่อนบ้านและจะอยู่อย่างนั้น
วันต่อมาเจ้าสาวจะต้องรีบตื่นก่อนที่คนในบ้านเจ้าบ่าวจะตื่น โดยเจ้าสาวจะทำความสะอาดบ้านของเพื่อนบ้านที่ตนอาศัยแล้วจึงกลับมารับประทานอาหารเช้าที่บ้านตัวเอง ซึ่งจะประจวบเหมาะกับเวลาที่คนในบ้านเจ้าบ่าวจะตื่นพอดี แต่หลังจากนั้นเจ้าสาวจะไม่ได้รับอนุญาตให้พักที่บ้านเพื่อนบ้านหรือแม้กระทั่งบ้านของตัวเอง และต้องคอยวิ่งหนีพลางหาที่พักไปพลาง
ในตอนกลางวันเจ้าสาวจะมาช่วยงานที่ไร่ของบ้านเจ้าบ่าว รวมถึงมาช่วยบ้านเจ้าบ่าวเตรียมอาหารเย็น แต่เจ้าสาวจะต้องแอบหลบออกจากบ้านเจ้าบ่าวไปโดยไม่แตะอาหารเย็นและหนีไปแอบตามบ้านเพื่อนที่เจ้าบ่าวน่าจะตามหาไม่เจอหรือเข้าไปแอบในอุตาคิ (御嶽) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความชื่อของโอกินาว่าที่ผู้ชายไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ ซึ่งเจ้าบ่าวจะต้องออกวิ่งหาเจ้าสาวพร้อมเพื่อนของตน
ช่วงต้นสมัยโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) นั้น โดยปกติจะกำหนดให้เจ้าสาวต้องวิ่งหนีเป็นเวลา 5 วัน แต่มีบางครั้งที่มีคนวิ่งหนีเป็นเวลาหลายเดือน นานหน่อยก็หนึ่งปี หรือวิ่งหนีจนฝ่ายเจ้าบ่าวขอยกเลิกการหมั้นหมายก็มี
เมื่อทางเจ้าบ่าวหาเจ้าสาวเจอ จะได้รับอนุญาตให้ใช้กำลังพาเจ้าสาวกลับบ้านได้โดยไม่เกี่ยงว่าอีกฝ่ายจะตกลงหรือไม่ บางครั้งถ้าลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถพากลับไปได้ก็จะต้องให้เพื่อนเจ้าบ่าวที่มาด้วยช่วยพากลับบ้านเป็นอันจบ ซึ่งประเพณีแต่งงานเช่นนี้มีให้เห็นจนก่อนสงครามโลก”
สำหรับที่มาของประเพณีนี้ มีการตั้งข้อสันนิษฐานในกลุ่มนักคติชนวิทยาที่ศึกษาวัฒนธรรมของโอกินาว่าไว้ว่า เนื่องจากการแต่งงานโดยส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานที่พ่อแม่เป็นผู้จัดให้ จึงต้องมีประเพณีนี้เพื่อเป็นการแสดงออกว่าเจ้าสาวไม่อยากออกจากบ้านและไม่ได้สนิทสนมกับเจ้าบ่าว ทั้งที่เบื้องหลังแล้วทั้งสองฝ่ายอาจจะรู้จักกันมาก่อนก็เป็นได้
ไม่ว่ายังไงก็ตาม แม้ประเพณีนีบิจิจะหายไปและโดโดอิจะแทบไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน แต่อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองประเพณีต่างเคยเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีความเฉพาะตัวของโอกินาว่าเช่นกัน